จาก “ชฎาทิพ” ถึงพนักงาน “สยามพารากอน” ไม่เคยแพ้

เมื่อวานนี้ผมเรียนแล้วว่าจะนำคำ “ถอดเทป” บางส่วนบางตอน ของคุณชฎาทิพ จูตระกูล ผู้บริหารสูงสุดของสยามพารากอนในงานเลี้ยงขอบคุณและเติมพลังใจให้พนักงานหลังเกิดเหตุการณ์ “3 ตุลาคม” เด็กวัย 14 ยิงกราดจนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

เป็นการกล่าวปลุกขวัญและให้กำลังใจแก่ผู้ร่วมงานในยามวิกฤติที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แต่เสียดายที่เนื้อที่ของผมค่อนข้างจำกัด ขออนุญาตคัดลอกมาลงเฉพาะบางส่วนที่เป็น “ไฮไลต์” เท่านั้น

คุณชฎาทิพเริ่มต้นด้วย “ตำนาน” และที่มาที่ไปของ สยามพารากอน ดังนี้ครับ

“จากที่ดินที่สร้างตำนานจากรุ่นสู่รุ่น ณ บริเวณซึ่งเคยเป็น โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล โรงแรม 5 ดาว ระดับนานาชาติของไทย คณะผู้บริหารของเราได้ตัดสินใจที่จะสร้างศูนย์การค้า สยามพารากอน ขึ้นแทนโรงแรมเดิม”

“ด้วยเป้าหมายที่ไกลเกินกว่าการสร้างกำไรให้กับธุรกิจ โดยจะมองไปถึงบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวไทยควบคู่ไปด้วย ด้วยการสร้างสรรค์ให้ศูนย์การค้าแห่งใหม่นี้เป็น Global Destination และเป็น Landmark ใจกลางกรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ยอมรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติทุกมุมโลก”

“ตลอด 18 ปี มาจนถึงวันนี้สยามพารากอนประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดไม่เคยมีโครงการใดในประเทศไทยทำได้มาก่อน สยามพารากอนได้บรรลุปณิธานที่จะเป็นโครงการที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

“ในปี 2016 สยามพารากอนได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์กลางแห่งการช็อปปิ้งระดับโลกติดอันดับ 6 สถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเช็กอินสูงสุดในโลก และเป็นสถานที่เดียวในเอเชียที่ติดอันดับ 1 ใน 10 จากการจัดอันดับของ Facebook Review (ปี 2558)”

“สยามพารากอนชนะสถานที่สำคัญทั่วโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังแวร์ซายส์ หรือแม้แต่ไทม์สสแควร์ของนิวยอร์กและสถานที่ประวัติศาสตร์อื่นๆ”

“สยามพารากอนยังเป็น 1 ใน Global Instragram ในปี 2015 ซึ่งมีความหมายว่ามีคนมาถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงอินสตาแกรมมากที่สุดของโลกในปีนั้น”

“สยามพารากอนเป็นศูนย์การค้าเดียวที่สามารถดึงดูดจำนวนลูกค้าได้โดยเฉลี่ยวันละ 250,000 คน และใน 250,000 คนนั้นเป็นนักท่องเที่ยวถึง 30 เปอร์เซ็นต์”

“นั่นหมายถึงว่าตลอดทั้งปีสยามพารากอนมีลูกค้ามาเยี่ยมชมไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน และเป็นนักท่องเที่ยวถึง 30 ล้านคน นับว่าเราได้บรรลุปณิธานของการเป็นโครงการที่ดีที่สุดโครงการหนึ่งของโลก สามารถดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้มาประเทศไทยได้ดังที่เคยตั้งความหวังไว้ ไม่น่าเชื่อเลยว่าเราสามารถทำได้ถึงขนาดนี้”

“ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องปกติที่สยามพารากอนซึ่งอยู่คู่กรุงเทพฯ มา 18 ปี (ครบ 18 ปีเต็ม 9 ธันวาคม 2566) ย่อมต้องผ่านร้อนผ่านหนาวร่วมกับประเทศไทย สยามพารากอนผ่านทุกวิกฤติ ไม่ว่าจะเกิดอะไรจะต้องเกิดที่นี่ ถ้านำไปทำละคร ทำหนัง ต้องได้ตุ๊กตาทองระดับโลก เพราะทุกอย่างที่เกิดที่นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย”

“ตลอด 18 ปี เราผ่านมาทุกอย่าง เรายังยืนอยู่ที่นี่ได้ ต้องถือว่าเรา ได้รับเกียรติที่จะได้พิสูจน์ความสามารถของพวกเราทุกคน”

“เราคงเป็นสถานที่เดียวในประเทศที่สามารถเอาชนะทุกวิกฤตการณ์ได้ และก้าวออกมาได้อย่างสง่างาม”

“ทำเลทองของ กทม. แห่งนี้ในบางครั้งก็กลายเป็นสมรภูมิที่ดุเดือดที่สุด แต่เราก็ผ่านมาได้ เพราะเราสู้ทั้งที่ไม่มีอาวุธ สู้ด้วยใจ ทำให้ผู้บุกรุกเหล่านั้นถอนตัวออกไปได้”

“พนักงาน 300 กว่าคน บอกว่าไม่กลับบ้าน พนักงานออฟฟิศยุคนั้นกว่า 600 คน ก็ไม่หยุดทำงาน ผู้บริหารก็ผลัดกันมานอนเป็นเพื่อนพนักงาน เพราะทุกคืนมีเรื่องเกิดขึ้นได้ตลอด เราถึงสามารถรอดปลอดภัยยืนอยู่มาได้จนถึงวันนี้ พนักงานยังมีอาชีพ บริษัทก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ทุกวันนี้เพราะความเสียสละของพวกเราทุกคน”

เสียดายเนื้อที่หมดเสียก่อน ยังมีคำพูดเปิดใจอีกหลายๆ ประการของคุณชฎาทิพ โดยเฉพาะกับเหตุการณ์ “3 ตุลาคม” ซึ่งเป็นอีกวิกฤติหนึ่งของสยามพารากอน

อ่านต่อพรุ่งนี้อีกวันก็แล้วกันนะครับ.

“ซูม”

จาก "ชฎาทิพ" ถึงพนักงาน "สยามพารากอน" ไม่เคยแพ้, ชฎาทิพ จูตระกูล, เด็ก 14 ปี, ปืน, กราดยิง, ความสำเร็จ, การท่องเที่ยว, ข่าว, ซูมซอกแซก