คำว่า “ปฏิรูป” ชักมีปัญหา จะใช้ “คำใหม่” อย่างไรดี?

เมื่อตอนที่ผมได้รับมอบหมายจากกองบรรณาธิการไทยรัฐให้เขียนคอลัมน์นี้เมื่อต้นปี 2516 นั้น ท่านหัวหน้ากองบรรณาธิการใน พ.ศ.ดังกล่าว คุณสมิต มานัสฤดี มอบนโยบายในการเขียนมาให้ผมปฏิบัติ สรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า

อยากให้คอลัมน์ “เหะหะพาที” เป็นคอลัมน์เบาๆ แหวกออกมาจากคอลัมน์อื่น โดยขอให้เขียนแบบทีเล่นทีจริงในเชิง “หยอกล้อ” สังคมไทย

อย่าไปด่าใคร อย่าไปวิจารณ์ใครแรงๆ…ขอให้ใช้วิธีล้อเลียน หรือหยิกแกมหยอกเท่านั้น…ให้สมกับชื่อคอลัมน์ “เหะหะพาที” ซึ่งแปลว่า พูดจาพาทีแบบคนเมาเหะๆ หะๆ ไปในแต่ละวัน หากลงท้ายด้วยการเรียกเสียงฮาจากผู้อ่านได้บ้าง ก็ถือว่า คอลัมน์นี้ประสบความสำเร็จ

ดังนั้น ในช่วง 3-4 เดือนแรก ข้อเขียนของผมจึงออกมาในแนว “ล้อเลียน” ทั้งสิ้น ตั้งแต่ล้อสังคมไทย การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย ล้อการเมือง (ยกเว้นทหาร) ล้อการพัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ

แล้ววันหนึ่งผมก็เขียนล้อคำว่า “ปฏิรูป” ซึ่งเริ่มเป็นคำฮิตที่มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางหลัง 14 ตุลา 2516 เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบที่เมืองไทยต้องการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ อย่างเพราะอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมานาน

ทำให้เกิดการ “ปฏิรูปการเมือง” “ปฏิรูปการศึกษา” “ปฏิรูปที่ดิน” “ปฏิรูประบบราชการ” ฯลฯ เยอะแยะไปหมด รวมทั้ง “ปฏิรูปตำรวจ” ที่ผมเขียนเล่าไว้เมื่อวันก่อน

แต่ยิ่งปฏิรูปเท่าไร…ก็ดูเหมือนจะมีปัญหามากขึ้นเท่านั้น ทุกอย่างที่มีการ “ปฏิรูป” แทบไม่มีอะไรบังเกิดผลสำเร็จที่น่าพอใจเลย

ผมก็เลยหยิบมาเป็นประเด็นล้อสังคมไทยโดยลงไปเจาะลึกว่า เหตุใดคำว่า “ปฏิรูป” จึงมีปัญหาและมีอาถรรพณ์อย่างยิ่งในการที่จะนำไปใช้แก้ไขปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น

แล้วผมก็พบความจริงจากการไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่ตีพิมพ์ในยุคนั้นประมาณ พ.ศ.2520 กว่าๆ ก็พบสาเหตุดังนี้

ในหน้า 494 ของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้คำจำกัดความหรือความหมายของคำว่า “ปฏิรูป” ไว้ว่า

“ปฏิรูป (-รูป-รูปะ) สมควร, เหมาะสม, เช่น ปฏิรูปเทส คือถิ่นที่สมควร หรือถิ่นที่เหมาะสม, เทียม, ไม่แท้, เช่น มิตรปฏิรูป. ก.ปรับปรุงให้สมควร เช่นปฏิรูปบ้านเมือง. (ป.)”

ท่านเขียนเอาไว้อย่างกะทัดรัดเพียงเท่านี้ ผมเผอิญเก็บเล่มนี้ไว้ด้วย เปิดดูเมื่อวานนี้ พบว่าท่านเขียนเพียงเท่านี้จริงๆ

จากคำอธิบายดังกล่าว ผมก็เลยหยิบมาเล่นเป็น “มุก” ว่า เพราะมันมีคำแปลแปลกๆแทรกอยู่ด้วยคือ “เทียม” กับ “ไม่แท้” นั่นเอง มิได้แปลว่าปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือเหมาะสมจริงไปเสียทั้งหมดอย่างที่เข้าใจ พอไปลงมือ “ปฏิรูป” เข้า จึงมีปัญหาไปหมด

ว่าแล้วผมก็เสนอให้ใช้คำไทย ซึ่งก็เป็นคำเก่าแก่ได้ยินมาตั้งแต่ผมเป็นเด็กๆ แล้ว อยู่ในหน้าถัดไปของพจนานุกรมเล่มเดียวกันคือหน้า 495

ได้แก่คำว่า “ปฏิสังขรณ์” ซึ่งมีคำอธิบายว่า ก.การซ่อมแซมทำให้กลับคืนเหมือนเดิม (มักใช้เฉพาะวัดวาอาราม) เช่น ปฏิสังขรณ์วัด

จากคำจำกัดความเช่นนี้ ผมจึงเสนอว่า แม้จะเป็นถ้อยคำที่ใช้กับวัด แต่ความหมายดีมาก แปลว่า การซ่อมแซมทำให้กลับคืนเหมือนเดิม ไม่มีคำแปลหรือคำอธิบายอย่างอื่นไปในเชิงลบแทรกอยู่แม้แต่น้อย

น่าจะเป็นสิริมงคลและเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จมากขึ้น ดังนั้น ตั้งแต่นี้ต่อไป ขอให้ใช้คำว่า “ปฏิสังขรณ์” แทนคำว่า “ปฏิรูป” ในทุกกรณี

เช่น ปฏิสังขรณ์การเมือง, ปฏิสังขรณ์ระบบราชการ, ปฏิสังขรณ์การศึกษา ฯลฯ ไปจนถึง “ปฏิสังขรณ์ตำรวจ”

ผมไม่แน่ใจว่าข้อเขียนชิ้นนี้ของผมจะเรียกเสียงฮาได้บ้างหรือไม่ ใน พ.ศ.ดังกล่าว แต่แน่ใจอย่างหนึ่งว่าไม่มีใครเชื่อหรือเห็นด้วยกับข้อเสนอของผมสักคนเดียว ยังคงใช้คำว่า “ปฏิรูป” มาโดยตลอด

ก็เลยไม่มีอะไรก้าวหน้า ไม่มีอะไรพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น รวมทั้ง “การปฏิรูปตำรวจ” ที่กลับมาเป็นข่าวหน้า 1 ทุกฉบับอีกครั้ง เพราะ อาถรรพณ์จากคำจำกัดความเรื่องเทียมๆ หรือ ไม่แท้ดังที่ระบุไว้

ครับ! ก็เป็นสไตล์การเขียนล้อเลียนในยุคก่อน ซึ่งมาถึงยุคนี้เหตุการณ์เดียวกันนี้ก็ยังน่าล้อเลียนอยู่…จึงขออนุญาตนำมาลงอีกครั้ง

นี่ถ้าเปลี่ยนไปใช้ “ปฏิสังขรณ์ตำรวจ” เสียแต่ตอนโน้น…ตำรวจไทยอาจพัฒนาดีขึ้น และไม่มีกรณี “โปลิศจับตำรวจ” เหมือนที่เป็นข่าวหน้า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา.

“ซูม”

คำว่า “ปฏิรูป” ชักมีปัญหา จะใช้ “คำใหม่” อย่างไรดี?, ปฏิสังขรณ์, ตำรวจ, พัฒนา, ประชาธิปไตย, ความหมาย, ข่าว, ซูมซอกแซก