เหตุที่ “ชอบ” ประวัติศาสตร์ เหลียวหลัง “แล” ตัวเอง

ผมเองก็เหมือนกับเด็กไทยทั่วๆไปแหละครับที่ไม่ชอบและเบื่อวิชาประวัติศาสตร์เอามากๆ สมัยเรียนชั้นประถมและมัธยมต้น เหตุสำคัญก็มาจากตัวละครและเรื่องราวตลอดจนปี พ.ศ. ที่จะต้องท่องต้องจดจำมากมายเหลือเกิน จนเกิดความรู้สึกท้อถอย

ยิ่งเจอคุณครูที่บางโรงเรียนต้องสอนหลายวิชา และวิชาประวัติศาสตร์เป็นเหมือนวิชาแถมที่ท่านมาสอนอย่างแกนๆ ก็ยิ่งทำให้ง่วงมากขึ้น

จนกระทั่งผมมาเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียน โพฒิสารศึกษา ในอำเภอเมืองนครสวรรค์ ได้มีโอกาสเรียนกับคุณครู เสน่ห์ สุรรังสรรค์ ที่ท่านเชี่ยวชาญด้านภาษาไทยและประวัติศาสตร์ และมีวิธีการสอนที่สนุกสนาน ชวนให้คิดตาม

ทำให้เด็กๆ รวมทั้งผมเกิดความสนุกที่จะเรียนไปด้วย จึงให้ความสนใจหันมาตั้งใจฟัง ตั้งใจกลับไปอ่านหนังสือตามคำแนะนำของท่าน จนทำให้เก่งขึ้นทั้งวิชาประวัติศาสตร์และภาษาไทย

พอมาเรียน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ผมมีโอกาสได้เรียนกับท่านอาจารย์ “เจ้าคุณ” จำไม่ได้จริงๆ ว่า ราชทินนามของท่านคืออย่างไร แต่พวกเราเรียกว่า “อาจารย์เจ้าคุณ” จนติดปาก

ท่านเคยเป็นมหาดเล็กของในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงเล่าเรื่องในรั้วในวังยุคสมัยรัชกาลที่ 6 ได้อย่างฉาดฉาน มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ชวนฟังชวนติดตาม

อีกท่านก็ท่านอาจารย์ ภาวาส บุนนาค สอนวิชาภาษาไทยเช่นกัน แต่ก็ยังแถมวิชาประวัติศาสตร์ต่างๆ ให้ด้วย…ท่านสอนเก่งเล่าเก่ง นั่งฟังประโยคแรกแล้วก็ต้องอ้าปากหวอฟังจนจบชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว

ทราบว่าท่านอาจารย์โอนไปรับราชการในสำนักพระราชวังภายหลัง และดำรงตำแหน่งรองราชเลขาธิการ เป็นตำแหน่งสูงสุด

สำหรับท่านที่สอนวิชาประวัติศาสตร์เก่งที่สุดของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายุคนั้น ผมเสียดายจริงๆ ที่จำชื่อท่านไม่ได้…จำได้แต่ว่าท่านเป็นอาจารย์หญิง บรรยายเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ด้วยเสียงดัง ฟังชัดและคล่องแคล่ว โดยเฉพาะเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงเสด็จฯ รัสเซียนั้น ท่านเล่าอย่างเห็นภาพเลยทีเดียว

ต่อมาเมื่อผมสอบเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นวิชาที่น่าเบื่อหน่ายวิชาหนึ่ง อย่าว่าแต่ประวัติศาสตร์เลย แม้แต่ทฤษฎีเศรษฐกิจปัจจุบันก็ชวนให้งุนงงและน่าเบื่อเป็นเบื้องต้นเสียแล้ว

แต่พอขึ้นปี 3 ก็โชคดีได้เรียนกับอาจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มาเป็นอาจารย์พิเศษของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ สอนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ด้วยลีลาที่เรียกเสียงฮาตลอดชั่วโมง

ทำให้พวกเราโดยเฉพาะผมเข้าใจทฤษฎีของ ลอร์ด เคนส์ มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดความอยากเรียนอยากรู้วิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจขึ้นทันทีนับตั้งแต่ได้เรียนกับท่านอาจารย์ ดร.อุทิศ

หลังจากจบการศึกษาออกมาทำงานแล้ว ผมก็โชคดีมีโอกาสไปทัวร์ ประวัติศาสตร์ ในหลายๆ ที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะที่ สุโขทัย กับอาจารย์ เผ่าทอง ทองเจือ ด้วยความกรุณาของคุณหญิง ประณีตศิลป์ วัชรพล ชักชวนผู้อาวุโสไทยรัฐไปย้อนอดีต

ต้องยอมรับว่าการบรรยายของอาจารย์เผ่าทองมีส่วนทำให้ผมรักประวัติศาสตร์ และรู้สึกรักและหวงแหนประเทศไทยอย่างสุดหัวใจ

ล่าสุด ปีกลายนี้เอง ผมมีโอกาสไปอยุธยากับทัวร์ของคุณ เข็มทัศน์ มนัสรังสี ซึ่งเชิญอาจารย์ สุเนตร ชุตินธรานนท์ นักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องอยุธยาอย่างยิ่งไปเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์…ฟังท่านแล้วก็เข้าใจแจ่มแจ้ง รักอยุธยา รักเมืองไทย รักพระมหากษัตริย์ไทยขึ้นอีกร้อยเท่าพันทวี

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้คือ เหตุผลที่ผมกลายมาเป็นคนรักวิชาประวัติศาสตร์และชอบอ่านประวัติศาสตร์เพราะได้เรียนได้รู้ ได้รับการสอนมาจากครูบาอาจารย์ที่เข้าใจประวัติศาสตร์และบรรยายเก่งๆ ทั้งสิ้น

ทำให้ผมเชื่อมั่นว่า หากกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ.มีครูที่สอนเก่ง พูดเก่งในวิชานี้ จะทำให้นักเรียนไทยอยากเรียนวิชาประวัติศาสตร์มากขึ้นอย่างแน่นอน

ดังนั้น สิ่งแรกที่ขอฝากให้ สพฐ.ทำคือ สร้างครูประวัติศาสตร์ประเภทสอนเก่งสอนสนุกให้มากขึ้น แล้วให้ท่านตระเวนไปสอนเสริมตามจังหวัดต่างๆ ไม่ต้องมากแค่ปีละครั้ง 2 ครั้ง

จะทำให้เด็กไทยหันมารักวิชาประวัติศาสตร์แน่นอนครับ….ผมเชื่อ!

“ซูม”

อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติมได้ที่

เหตุที่ “ชอบ” ประวัติศาสตร์ เหลียวหลัง “แล” ตัวเอง, ประเทศไทย, อดีต, การศึกษา, ความรู้, การเรียน, วิชา, ภาษาไทย, ข่าว,​ ซูมซอกแซก