ประชุม “ไทยรัฐวิทยา” ปีนี้ รื้อฟื้นวิชา “ประวัติศาสตร์”

ผมมีภารกิจที่จะต้องไปต่างจังหวัดอีก 2-3 วัน ในสัปดาห์นี้ และจำเป็นจะต้องเขียนต้นฉบับล่วงหน้าทิ้งเอาไว้เช่นเคย ซึ่งก็จะเป็นเรื่องราวแห้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองในแต่ละวัน

ส่วนใหญ่ผมมักจะใช้วิธีเขียนเป็น “ซีรีส์” คือเรื่องเดียวกันประมาณ 4-5 วันจบ ล่าสุดได้แก่ “น่านแซนด์บ็อกซ์” เกี่ยวกับการลงไปช่วยเหลือจังหวัดน่าน แก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และทำลายต้นนํ้าของคุณ บัณฑูร ลํ่าซํา อดีตผู้บริหารสูงสุด ของ ธนาคารกสิกรไทย

เรตติ้งดีพอสมควรเชียวละครับ สำหรับซีรีส์คุณบัณฑูร

มาถึงงวดนี้ผมจะไปร่วมประชุมสัมมนากับคณะผู้บริหาร โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ทั้ง 111 แห่ง ที่ โรงแรมลากูน่าแกรนด์ จังหวัดสงขลา ซึ่งตั้งหัวข้อการประชุมไว้ว่า “ประวัติศาสตร์กับการพัฒนาประเทศ” ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคมนี้

อย่ากระนั้นเลย เรามาเขียน “มินิซีรีส์” ว่าด้วยความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์กันดีกว่า เริ่มจากวันนี้ซึ่งจะเป็นเรื่องทั่วๆ ไปของการประชุมสัมมนาครั้งที่ 41 ของเรา และจะเกี่ยวข้องกับการเตรียมตัว เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ตามหัวข้อที่ตั้งไว้

ท่านผู้อ่านที่เป็น FC ของ ไทยรัฐ มายาวนาน คงจะทราบดีแล้วว่า อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คุณ กำพล วัชรพล บุคคลสำคัญของโลก ที่ยูเนสโกประกาศยกย่อง เมื่อ พ.ศ.2562 ได้ริเริ่มและดำเนินการจัดตั้ง มูลนิธิไทยรัฐ ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2522 เพื่อสนับสนุน โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้งสิ้น 111 แห่ง ในปัจจุบัน

เพื่อให้นักเรียนซึ่งมีถึงกว่า 20,000 คนในปัจจุบัน ได้รับการศึกษาที่ดี มีความรู้ มีระเบียบวินัย พร้อมจะเติบใหญ่เป็นพลเมืองดีของชาติ มูลนิธิไทยรัฐร่วมกับ สพฐ. จะร่วมกันจัดงานสัมมนาใหญ่ ประจำปีให้แก่ “ผู้บริหาร” ทั้ง 111 โรงเรียน ปีละ 1 ครั้ง มาโดยตลอด

แยกย้ายไปจัดตามภาคต่างๆ ทั้ง 4 ภาคของประเทศไทยเรา เพื่อหล่อหลอมผู้บริหารและครูของเราให้เป็นนํ้าหนึ่งใจเดียวกัน และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ขณะเดียวกันเนื่องจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา มีหลักสูตรพิเศษที่เราได้ริเริ่มขึ้น อันได้แก่ “วิชาความฉลาดรู้เรื่องสื่อมวลชน” และที่เราได้ฟื้นฟูกลับมาใหม่อีกครั้งได้แก่ “วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม” ดังที่หลายๆ ท่านอาจจะทราบกันอยู่บ้างแล้ว

เราก็จะใช้โอกาสในการสัมมนาผู้บริหารของเราทุกครั้ง พูดถึงหลักและหัวใจของวิชาทั้ง 2 วิชานี้พร้อมกับเรียนเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้แก่คณะผู้บริหารควบคู่ไปด้วย

เมื่อปีที่แล้วนี้เอง กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการ ที่จับ วิชาประวัติศาสตร์ไทย กลับมาสอนเป็นวิชาหลักอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่แม้จะยังสอนและให้ความสำคัญอยู่ แต่นำไปรวมไว้กับกลุ่มสาระ วิชาสังคมศึกษา ทำให้ไม่โดดเด่นเท่าที่ควร

มูลนิธิไทยรัฐและผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเห็นพ้องกันตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้วว่า เราพร้อมที่จะเป็น 1 ในโรงเรียนตัวอย่าง

เราจึงตั้ง “ธีม” หรือ “แนวคิด” ของการสัมมนา ซึ่งจะเป็นครั้งที่ 41 ที่สงขลาไว้ว่า “ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ” ซึ่งนอกจากจะได้รับฟังข้อคิดเห็นจาก ท่านรองเลขาธิการ สพฐ. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ในเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของ สพฐ.แล้ว…เรายังได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยนาถ บุนนาค ราชบัณฑิต มาเป็นวิทยากร บรรยายในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ” ด้วยอีกท่านหนึ่ง

ขอบคุณอดีตนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายๆ ท่านที่กรุณาไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานที่ผ่านมา

สำหรับปีนี้เราจะเปิดงานกันเงียบๆ เพราะยังไม่มีรัฐบาล “ตัวจริง” มาบริหารประเทศ ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านที่รักษาการอยู่ที่เราไปเรียนเชิญต่างก็ขอตัว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

แต่พวกเราขอให้คำมั่นสัญญาว่าการประชุมจะเปี่ยมไปด้วยความรู้ ความเข้มข้น โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยในโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่งอย่างแน่นอน

เป็นอันว่าจบมินิซีรีส์ว่าด้วยวิชาประวัติศาสตร์ตอนที่ 1 ด้วยประการนี้ โปรดอย่าลืมติดตามตอน 2 และตอน 3 ต่อไปนะครับ.

“ซูม”

อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติมได้ที่

ประชุม “ไทยรัฐวิทยา” ปีนี้ รื้อฟื้นวิชา “ประวัติศาสตร์”, ประวัติศาสตร์, การพัฒนาประเทศ, วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม, ​ซูมซอกแซก, ข่าว