ตำนาน “ลาสาวแม่กลอง” เพลง “ท้องถิ่น” ฮิตระดับชาติ

เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา วันเดียวกับที่รัฐสภากำลังประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นั่นแหละ วงการบันเทิงก็ได้สูญเสียนักร้องลูกทุ่งที่โด่งดังมากในอดีตไปอีกคนหนึ่ง

ได้แก่ พนม นพพร เจ้าของเพลง “ลาสาวแม่กลอง” ที่คนไทยรู้จักทั้งประเทศ เมื่อ 50 กว่าปีก่อนโน้น

แม้พื้นที่ข่าวส่วนใหญ่ของสื่อต่างๆ จะเป็นเรื่องของการอภิปราย และผลการโหวตในรัฐสภาที่จบลงด้วยการปฏิเสธการเป็นนายกรัฐมนตรี ของ คุณ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่ก็ยังพอมีเนื้อที่เหลือสำหรับการเสนอข่าวการเสียชีวิตของ พนม นพพร อยู่พอสมควร

มีการรายงานถึงสาเหตุของการเสียชีวิตในวัย 77 ของเขา พร้อมกับลงประวัติค่อนข้างละเอียด นับตั้งแต่เรียนจบ ม.6 (ยุคเก่า) แล้วตัดสินใจอำลาบ้านเกิดที่ อ.พานทอง จังหวัดชลบุรี เข้ามาสมัครเป็นนักร้องลูกทุ่ง ของวงดนตรีลูกทุ่งต่างๆ อยู่หลายวง

ก่อนจะโด่งดังราวพลุแตกด้วยเพลง “ลาสาวแม่กลอง” ขณะเป็นนักร้องอยู่กับวงดนตรี จุฬารัตน์ ของครู มงคล อมาตยกุล

ตามที่มีการบันทึกเอาไว้นั้น เพลง “ลาสาวแม่กลอง” แต่งโดยชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ชื่อ เลิศ วงศาโรจน์ ใช้เวลาแต่งแค่ 2 วัน ขณะที่ไปเป็นทหาร(เรือ) เกณฑ์ที่สัตหีบ และขายลิขสิทธิ์ให้ เกษม สุวรรณเมนะ ในราคา 500 บาท ซึ่งต่อมามีการเรียบเรียงเสียงประสานให้ พนม นพพร เป็นผู้บันทึกแผ่นเสียง

กลายเป็นเพลง “ดังเปรี้ยง” อย่างเหลือเชื่อ

ยุคโน้นเพลงไทยสากล ไม่ว่าลูกกรุง หรือลูกทุ่งจะมีเพลงที่เกี่ยวกับ “ท้องถิ่น” เกี่ยวกับเมือง เกี่ยวกับจังหวัดที่ต่อมากลายเป็นเพลงโด่งดังในระดับชาติหลายต่อหลายเพลง

เช่นเพลง สักขีแม่ปิง, มนต์รักดอกคำใต้, ท่าฉลอม, แสนแสบ, สาวผักไห่, รักจางที่บางปะกง, ลุ่มเจ้าพระยา, ลำนํ้าพอง, เชียงรายรำลึก, สาวอุบลรอรัก ฯลฯ เป็นต้น

สำหรับเพลง “ลาสาวแม่กลอง” นอกจากจะให้ความรู้ทั่วๆ ไปเกี่ยวกับจังหวัดสมุทรสงครามแล้ว ยังสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น และกฎกติกาของการเกิดเป็นพลเมืองไทย คือต้องไปเกณฑ์ทหารรับใช้ชาติ และเนื่องจากแม่กลอง หรือสมุทรสงครามอยู่ติดทะเล ส่วนใหญ่จึงไปเป็นทหารเรือ

ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงประเพณีสงกรานต์ ซึ่งแม้จะเป็นประเพณีของคนไทยทั้งประเทศ แต่ที่สมุทรสงคราม มีความโดดเด่น และมีเอกลักษณ์เป็นการเฉพาะที่ วัดบ้านแหลม หรือวัด เพชรสมุทรวรวิหาร อันเป็นที่ ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นที่เคารพบูชาของพี่น้องประชาชนในบริเวณดังกล่าวมานับเป็นร้อยๆ ปีอีกด้วย…

จากท่วงทำนองที่ไพเราะ และเนื้อหาเป็นนิยายรักสั้นๆ แฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ประกอบกับเสียงร้องที่นุ่ม กังวานของ พนม นพพร ส่งผลให้เพลงท้องถิ่น เพลงนี้กลายเป็นเพลงระดับชาติในที่สุด

ต่อมา พนม นพพร ยังร้องเพลงระดับจังหวัดอีกเพลง และกลายมาเป็นเพลงระดับชาติเช่นกัน ได้แก่ เพลง “ฮักสาวขอนแก่น” ที่มีหมอแคนและเสียงแคน “แล่นแตร” เป็นองค์ประกอบ ฟังแล้วสนุกสนานอยากไปเที่ยวขอนแก่นขึ้นมาทันที

นอกจากร้องเพลงแล้วตามประวัติระบุว่า พนม นพพร ยังแสดงภาพยนตร์ เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง ซึ่งช่วงหลังๆ ผมมิได้ติดตามข่าวมากนัก จึงไม่ทราบรายละเอียด

แต่เฉพาะเพลง 2 เพลง คือ “ลาสาวแม่กลอง” กับ “ฮักสาวขอนแก่น” ผมก็เห็นว่าทรงคุณค่าเพียงพอที่จะบันทึกถึงการจากไปของ พนม นพพร ไว้เป็นเกียรติประวัติให้ผู้คนรุ่นหลังได้รับรู้

ยุคนี้เป็นยุค “การท่องเที่ยว” ช่วยชาติ…เป็นรายได้หลักของชาติ ทำให้ลืมตาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วยสาเหตุต่างๆมาตลอด

ผมก็ถือโอกาสในการจากไปของ พนม นพพร นักร้องที่ร้องเพลงสะท้อนการท่องเที่ยวอันเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง ถึง 2 เพลง…ฝากถึง ททท.หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ช่วยจัดทำโครงการ “ท่องเที่ยวตามเสียงเพลง” อีกสักโครงการหนึ่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศที่ ททท.กำลังดำเนินการอย่างเข้มแข็งในขณะนี้

หรืออย่างน้อยรวบรวมชื่อเพลงและเนื้อเพลงท้องถิ่นระดับฮิตๆ เอาไว้รวมกัน จัดทำนิตยสาร “อนุสาร อสท.” ฉบับพิเศษสักฉบับก็จะขอบคุณยิ่ง

เพลงท้องถิ่นที่มีความหมายในเชิงท่องเที่ยวต่างๆเหล่านี้ นับวันจะค่อยๆ หายไป…ฝากท่านผู้ว่าฯ ท่านใหม่ที่จะมารับงานต้นเดือนกันยายนนี้รับไว้พิจารณาด้วยก็แล้วกันครับ.

“ซูม”

อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติมได้ที่

ตำนาน “ลาสาวแม่กลอง” เพลง “ท้องถิ่น” ฮิตระดับชาติ, นักร้อง, เพลงไทย, ลูกทุ่ง, พนม นพพร, ลาสาวแม่กลอง, วัฒนธรรม, ประเพณี, ข่าว, ซูมซอกแซก