คำเตือนจาก “สภาพัฒน์” ระวัง “จุดอ่อน” เศรษฐกิจ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ คุณดนุชา พิชยนันท์ ออกมาแถลงกับผู้สื่อข่าวว่า จากการประมาณการณ์ล่าสุดของสภาพัฒน์

คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 จะขยายตัวที่ 2.7–3.7 เปอร์เซ็นต์ โดยมีค่ากลางที่ 3.2 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าค่ากลางจะเป็น 3.5 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุที่สภาพัฒน์มองว่าการขยายตัวของเราจะหดลงมาจากที่เคยประเมินไว้ เป็นเพราะการหดตัวลงอย่างชัดเจนของ ภาคส่งออก ซึ่งหดลงไป 1.6 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 2.98 แสนล้านดอลลาร์ จากแต่เดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1 เปอร์เซ็นต์

ท่านเลขาฯย้ำว่า การส่งออกได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักที่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวอย่างชัดเจนของไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เช่น สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, อังกฤษ, ญี่ปุ่น และจีน ที่ล้วนเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ

ดังนั้น แม้เครื่องยนต์ด้านการท่องเที่ยวจะทำงานได้ค่อนข้างดีดังที่เราเห็นกันอยู่ในขณะนี้ และการขยายตัวด้านการลงทุน ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐจะเพิ่มขึ้น รวมถึงการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนก็เพิ่มขึ้น

แต่รวมๆ แล้วเศรษฐกิจของประเทศไทยจากมุมมองใหม่ของสภาพัฒน์ แม้จะยังเพิ่มขึ้นอยู่ แต่จะเพิ่มขึ้นแบบลดลงจากที่เคยคิดว่าจะเพิ่มที่ค่ากลาง 3.5 เปอร์เซ็นต์ ก็เหลือเพียง 3.2 เปอร์เซ็นต์ ว่างั้นเถอะ

ถามว่า ผมรู้สึกผิดหวังไหม? จากถ้อยแถลงของท่านเลขาฯสภาพัฒน์ ผมก็คงต้องตอบว่า ผิดหวังหน่อยๆ แต่ไม่ถึงกับจะทำให้เสียใจหรือเสียดายมากนัก

เพราะโดยส่วนตัวผมก็ยังเชื่อว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลกปี 2566 นี้ จะยังไม่กระเตื้องขึ้นมากจากปีก่อนๆ ฟังจากคำทำนายของนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกไม่ว่าไอเอ็มเอฟ หรือเวิลด์ แบงก์

เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดีการค้าโลกย่อมไม่ดีเป็นเงาตามตัว…ผลกระทบทางด้านการส่งออกของเราในเชิงลบจึงเกิดขึ้น

ก็คงต้องให้กำลังใจกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งรัดการค้าขายในตลาดใหม่ๆมากขึ้น เพื่อให้การส่งออกของเราไม่ทรุดหนักไปมากกว่านี้

ขณะเดียวกัน ก็ขอให้รักษามาตรฐานด้านการท่องเที่ยวเอาไว้ให้ดี อย่าทำอะไรให้กลายเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวที่กำลังเดินหน้าได้เป็นอย่างดีต้องสะดุดไปเสียก็แล้วกัน

ท่านที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวก็จะต้องช่วยกันด้วย อย่าโลภมาก อย่ามูมมาม อย่าเอาเปรียบนักท่องเที่ยวจนเกินเหตุ หรือให้บริการที่ต่ำกว่า มาตรฐานจนทำให้เขาเบื่อระอาว่า ไม่อยากมาประเทศไทย

อย่าลืมว่า เราเป็นชาติแรกๆ ที่กล้าหาญเปิดประเทศจึงดึงดูดใจนักท่องเที่ยวได้เยอะ…แต่เมื่อทุกประเทศเริ่มเปิดเหมือนกันหมด นักท่องเที่ยวก็จะกระจายตัวไปเที่ยวประเทศอื่นๆ ด้วย ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น

ดังนั้นแม้เครื่องยนต์ด้านท่องเที่ยวจะทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมอย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องช่วยกันดูแลระมัดระวังอย่าประมาทเป็นอันขาด

ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์แสดงความห่วงใยเอาไว้ ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวว่า จากการที่ประเทศไทยเราเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งทั่วไป ในปี 2566 ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่พอสมควร

จะเป็นผลให้การจัดทำงบประมาณใหม่สำหรับปี 2567 ต้องล่าช้าไปจากปฏิทินการจัดทำงบประมาณ และทำให้เงินจากงบประมาณใหม่ออกมาไม่ทัน 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นปีงบประมาณ 2567

ท่านจึงฝากให้รัฐบาลใหม่ และสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ได้ตระหนักในประเด็นนี้และช่วยเร่งรัดให้ทุกอย่างเป็นไปตามปฏิทินงบประมาณด้วย ก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย

ประเด็นนี้ผมก็ห่วงเช่นกัน และห่วงไปถึงว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลใหม่ ก็ยังไม่รู้? การเมืองใหม่หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้? เพราะดูจาก รายชื่อผู้ที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีขณะนี้…ถ้าท่านเหล่านี้บางท่านได้เป็นจริงๆ ก็น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดความวุ่นวายอยู่เหมือนกัน

แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจหรือตีโพยตีพายล่วงหน้าเลยครับ อะไรจะเกิดเดี๋ยวก็รู้? เกิดแล้วก็ต้องสู้กันต่อไป แก้ปัญหากันต่อไป

รับรู้ปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจที่ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์แจ้งไว้ก็แล้วกัน พร้อมกับหาทางแก้ไขให้ดีที่สุด…เอาน่าถึงจะบวกน้อยลงแต่ก็ยังบวกอยู่นะครับสำหรับเศรษฐกิจไทยเรา ณ นาทีนี้.

“ซูม”

คำเตือนจาก “สภาพัฒน์” ระวัง “จุดอ่อน” เศรษฐกิจ, การเมือง, ท่องเที่ยว, ไทย, ปัญหา, อุปสรรคทางเศรษฐกิจ, งบประมาณ, เศรษฐกิจโลก, ซูมซอกแซก