เรื่องเล่า “แอร์พอร์ตลิงก์” (1) ครั้งหนึ่ง “ในความทรงจำ”

ผมได้รับเชิญจากเพื่อนพ้องที่สนิทชิดเชื้อให้ไป “ทัวร์ธรรมะ” และทัศนศึกษาที่จังหวัดทางภาคอีสาน 2 จังหวัดในสัปดาห์นี้ …ดูโปรแกรมแล้วแทบไม่มีเวลาว่างพอที่จะเขียนต้นฉบับส่งแฟกซ์กลับมาได้เลย

จึงต้องใช้วิธีเขียนล่วงหน้าทิ้งไว้วัน 2 วัน ดังที่เคยปฏิบัติมาทุกๆ ครั้งเวลาจะออกเดินทางไปโน่นไปนี่

พอดีผมเพิ่งมีโอกาสไปนั่งรถไฟฟ้า แอร์พอร์ตเรลลิงก์ หรือ ที่บางท่านมักเรียกสั้นๆ ว่า แอร์พอร์ตลิงก์ มาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็เลยคิดว่าเขียนเรื่องนี้น่าจะเหมาะที่สุด

ผมโดยส่วนตัวแล้วมีความผูกพันอยู่กับรถไฟฟ้าสายนี้อยู่พอสมควร เพราะเคยอาศัยเป็นยานพาหนะในช่วงเย็นๆ ค่ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี หลังจากเลิกงานในแต่ละวันที่ไทยรัฐ

จนกระทั่งเกิดปัญหาโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก จนทำให้ผมต้อง “เวิร์กฟรอมโฮม” นั่งเขียนหนังสืออยู่ที่บ้านนั่นแหละ จึงต้องห่างเหินจากแอร์พอร์ตเรลลิงก์ไปไม่น้อยกว่า 2 ปีเต็มๆ

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงทำให้ผมมีโอกาสเข้าโรงพิมพ์บ่อยขึ้นและล่าสุดก็เริ่มมานั่งเขียนหนังสือที่โรงพิมพ์ได้เกือบทุกวัน เหมือนในห้วงเวลาปกติแล้วครับ

ปรากฏว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ผมเขียนหนังสือเสร็จเร็วกว่าวันอื่นๆ ทำให้มีเวลาว่างอยู่พอสมควร ก็นึกขึ้นมาได้ว่าควรจะหาโอกาสไปนั่งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์อีกสักครั้งหนึ่ง

ไปดูไปชมไปนั่งตระเวนสักเที่ยวจะได้เก็บมาเขียนรายงานความคืบหน้าต่างๆ ผ่านคอลัมน์นี้ดังที่เคยปฏิบัติมา

สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมต้องไปฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกค้าภาคค่ำของแอร์พอร์ตลิงก์ในยุคก่อนนั้นก็เป็นเพราะการจราจรแถวๆ ลาดพร้าวเส้นทางกลับบ้านของผมนี่แหละครับ

จู่ๆ ก็กลับมาติดหนักอย่างสาหัสสากรรจ์ ทำให้ผมใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงทุกๆ หัวค่ำในการเดินทางจากไทยรัฐกลับบ้านที่บางกะปิ

ในที่สุดก็ทนไม่ไหวต้องหันไปใช้บริการ บีทีเอส+แอร์พอร์ตลิงก์ไปลง สถานีรามคำแหง พร้อมกับนัดแนะภรรยาผมที่ทำงานอยู่แถวๆ สุขุมวิท 71 ให้ขับรถมารับผมนั่งกลับบ้านไปด้วยกัน ประหยัด เวลาได้เกือบครึ่งหนึ่ง

แม้การใช้แอร์พอร์ตลิงก์จะรวดเร็วมากแต่ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลานั้นผู้โดยสารภาคค่ำแน่นมาก เพราะประเทศไทยของเรากำลังบูมเรื่องท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่มาใช้รถไฟฟ้าสายนี้ในการเดินทางจากสนามบินเข้าเมือง หรือจากเมืองกลับสนามบิน

ประกอบกับคนไทยเราเองที่อยู่ 2 ฟากสถานีก็ใช้บริการในการเข้าเมืองออกเมืองอย่างมากมายเช่นกัน ทำให้ผู้โดยสารแน่นเอี้ยด

แน่นเหมือนปลากระป๋องแทบไม่สามารถกระดิกตัวได้เลย

แรกๆ ผมกลัวมาก…กลัวว่าถ้าไปเกิดไฟฟ้าดับขณะเราอยู่บนรางลอยฟ้านั้นจะเอาตัวรอดได้อย่างไรหนอ เพราะถ้าไฟดับประตูก็จะเปิดไม่ออก…แล้วผู้โดยสารจะออกมาได้อย่างไร? ขณะเดียวกันถ้าไฟฟ้าดับแอร์ก็ต้องดับด้วย แล้วเราจะเอาอากาศที่ไหนหายใจกันได้ล่ะ?

จินตนาการด้วยความหวาดกลัววันแล้ววันเล่าจนเคยชินและหายกลัวไปในที่สุด…กลายเป็นสนุกที่ได้เบียดคนแน่น และได้อยู่ท่ามกลางผู้คนที่แน่นมากในขบวนรถที่แล่นฉิวไปกลางอากาศ

รู้สึกคุ้นชินกับเสียงประกาศของผู้ประกาศหญิง ซึ่งคงใช้เทปอัดไว้เพราะทุกขบวนจะพูดเหมือนกันด้วยสำเนียงและเสียงเดียวกัน

เธอพูดภาษาอังกฤษได้ดีชัดถ้อยชัดคำ หรือแม้ภาษาไทยก็ชัดถ้อย ชัดคำยกเว้นคำเดียวที่เธอมักทอดเสียงยาวจนเป็นเอกลักษณ์

นั่นคือคำว่า “สถานีต่อไป” เธอมักจะออกเสียงยาวๆ จนฟังเป็นว่า “สถานีต่อปาย”

นี่คือความหลังและภาพจำของผมก่อนที่โควิด-19 จะอาละวาด จนเป็นเหตุให้ผมไม่ได้มาขึ้นแอร์พอร์ตลิงก์อีกเลย

ผมจึงตื่นเต้นมากที่จะได้กลับไปขึ้นใหม่อีกครั้ง (อ่านต่อพรุ่งนี้)

“ซูม”

เรื่องเล่า “แอร์พอร์ตลิงก์” (1) ครั้งหนึ่ง “ในความทรงจำ”, รถไฟฟ้า, แอร์พอร์ตลิงก์, นักท่องเที่ยว, สนามบิน, ซูมซอกแซก