โควิด “จาง” แต่ยังไม่หมด ข้อแนะนำ “คนติดใหม่” วันนี้

เมื่อวานนี้ผมเล่าประสบการณ์หมาดๆ ของผมให้ท่านผู้อ่านทราบว่า ผมเผลอไปติดโควิด-19 เข้าจนได้ แต่อาการไม่รุนแรงนัก ปวดหัวตัวร้อนกับไอค้อกแค้กอยู่แค่ 3 วัน ก็หายกลับมาเป็นปกติตามเดิม

ตรวจ ATK ทุกวัน พบว่า “ขีดเดียว” มาโดยตลอด มั่นใจว่าหายแน่แล้วก็เอาเรื่องราวมา “แชร์” ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบ…เหมือนทุกครั้งเวลาที่ผมไปเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

ถือเป็นการให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสสำหรับผู้ที่จะเข้ารักษาตัวในโรคเดียวกันจะได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ล่วงหน้าว่างั้นเถอะครับ

วันนี้มีภาค 2 ต่อ เพราะแม่บ้านผมเธอก็พลอยติดโควิด-19 ไปด้วยเช่นกัน โดยออกอาการหลังผม 2 วัน และบัดนี้หลังจากกักตัวรักษา แยกไปอยู่อีกห้องในบ้านเดียวกันนี่แหละ เธอก็หายเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

จึงขอถือโอกาสนำประสบการณ์ของเธอมาเล่าด้วยเผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านที่เผอิญมาถูกหวยโควิด-19 ในช่วงนี้เข้า…และตัดสินใจไม่ถูกว่าจะทำอย่างไร?

ข้อดีอย่างหนึ่งของการมาติดเชื้อโควิดในช่วงปลายๆ เหตุการณ์ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มจางลงก็คือ เชื้อดูเหมือนไม่แรงนักประกอบกับผู้คนส่วนใหญ่ผ่านการฉีดวัคซีนมาครบโดสหรือใกล้ครบแล้ว จึงมีภูมิป้องกันสูง…ทำให้อันตรายน้อยลง

แต่ข้อเสียก็คือเนื่องจากตลาดเริ่มวายแล้ว พ่อค้าแม่ค้าอันได้แก่ คุณหมอ คุณพยาบาลและโรงพยาบาลต่างๆ ท่านก็เริ่มเก็บร้านเก็บแผงเลิกรักษาโรคนี้ไปแล้วหลายๆ โรงพยาบาล เพื่อกลับไปรักษาโรคอื่นๆ  สารพันโรคที่ยังมีมากมายในประเทศไทยของเรา

ทำให้เราชักงงๆ ว่า ถ้าเราติดขึ้นมาตอนนี้จะไปรักษาที่ไหนหนอ?

ผมนึกถึงโรงพยาบาลเอกชนก่อนก็เพราะเชื่อว่าเขาน่าจะยังมีบริการอยู่ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีจริงๆ เขายังตรวจให้ ยังจ่ายยาให้ แต่เขาก็บอกว่าถ้าเราหนักจริงๆ เขาจะติดต่อโรงพยาบาลรัฐให้…เพราะของเขายกเลิกแผนกโควิด-19 ไปแล้ว

โชคดีที่อาการของผมไม่หนัก เขาจึงตรวจให้ จ่ายยาให้ เอกซเรย์ให้และก็คิดค่าบริการตามแบบฉบับของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งผมก็ยินดีจ่ายให้ไป 4 พันกว่าบาท ดังที่เล่าไว้เมื่อวาน

ดังนั้น ด้วยข้อมูลที่เราได้จากการไปโรงพยาบาลเอกชนนี่เอง…พอแม่บ้านผมมีอาการในอีก 2 วันต่อมา เราจึงตัดสินใจกันว่าไปโรงพยาบาลรัฐเลยดีกว่า เผื่อมีอาการรุนแรงจะได้เข้ารักษาเลย ไม่ต้องไปรอ 2 จังหวะแบบที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งที่ผมไปใช้บริการบอกไว้

เนื่องจากเธอไม่มีอาการอะไรมากเช่นกัน แค่ไอและตัวร้อนนิดๆ จึงเสิร์ชหาว่าแถวๆ ใกล้บ้านเรามีโรงพยาบาลรัฐที่ไหนบ้างที่เปิดให้บริการเรื่องนี้

พบว่ามีที่โรงพยาบาลสิรินธร ของ กทม. อยู่ที่ เขตประเวศ ซึ่งแม้จะอยู่ไกลบ้านเราหน่อยแต่ก็ไปได้สะดวก…เธอจึงขับรถไปเอง แล้วก็ไปเข้าคิวตรวจรักษาร่วมกับคนไข้ประมาณ 20 กว่าคน ในวันดังกล่าว

มีหมอมาตรวจ ATK เมื่อพบว่าเธอติดก็ดูอาการว่าแข็งแรงไหม? มีโรคประจำตัวอะไรไหม? แม้จะอยู่ในข่าย 608 แล้ว เมื่อพบว่าไม่มีอะไรน่าห่วงมากก็จ่ายยาให้ 1 ชุด เพื่อไปรักษาตัวที่บ้าน

ปรากฏว่าเป็นยาชุดเดียวกับที่ผมได้รับแหละครับ มี โมลนูพิราเวียร์ เป็นพระเอก มียาแก้ไข้พาราเซตามอลกับยาฟู่ละลายเสมหะ และยาเม็ดแก้ไอควบคู่มาด้วย 2-3 ขนาน

ที่สำคัญเสียค่าใช้จ่ายแค่ 50 บาท เป็นค่าธรรมเนียมเท่านั้นเอง…

ถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ผมไปตรวจรักษาและจ่ายไป 4,000 บาท ถึง 80 เท่า

ด้วยยาและค่ารักษาเพียง 50 บาทนั้นเอง แม่บ้านผมก็หายเรียบร้อยแล้วเช่นกัน จึงขอนำประสบการณ์มาบอกเล่าเพิ่มเติมจากกรณีของผม

วิธีหลังนี้น่าจะดีที่สุดครับ เริ่มจากถ้าตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีดขอให้โทร.สอบถามข้อมูลที่ 1330 หรือ “สายด่วน สปสช.” แล้วก็ใจเย็นๆ เดินทางไปที่โรงพยาบาลตามที่เราได้รับข้อมูลนั้นๆ

แม้โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะใช้วิธี “เจอ แจก จบ” ให้เราไปรักษาเอง แต่ถ้าเรามีอาการหนักหรือกลุ่ม 608 ที่ออกอาการชัดเจนเขาจะรับไว้รักษาทันที หรือส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่พร้อมจะรักษาทันที

กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลต่างๆ ตลอดจนคุณหมอคุณพยาบาลต่างๆ อาจจะเป็น “แม่ช้อย” เก็บฉากโรคโควิด–19 ไปเยอะแล้ว แต่ก็ยังมีบริการดูแลรักษาอยู่นะครับ…ขอขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งครับ.

“ซูม”

ข่าว, โควิด 19, วัคซีน, โรงพยาบาล, ซูมซอกแซก