“Soft Power” ไทย ผลสำเร็จที่ “เกินคาด”

เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมานี่เอง ผมนั่งอ่านบทความกึ่งประชาสัมพันธ์ของกระทรวงวัฒนธรรมในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐนี่แหละครับ…อ่านจบแล้วก็รู้สึกชื่นชม ขออนุญาตนำมาขยายความต่อในวันนี้

ที่อ่านแล้วรู้สึกภาคภูมิใจ ก็เพราะผมนึกไม่ถึงว่า กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเคยเป็นกระทรวงเก่าแก่ของประเทศไทยเราสมัยผมเป็นเด็กๆ แต่ถูกยุบไปในช่วงที่ผมเติบโตขึ้น โดยโยนงานต่างๆ ไปแหมะไว้กับกระทรวงศึกษาธิการเกือบทั้งหมด จะพัฒนาตัวเองได้รวดเร็วเช่นนี้

จำได้ว่าหลังจากถูกยุบใน พ.ศ.2501 แล้ว อีก 44 ปีให้หลังคือ พ.ศ.2545 จึงได้กลับมาเกิดใหม่เป็น กระทรวงวัฒนธรรม เต็มตัวอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่คล้ายๆ ยุคเดิม คืออนุรักษ์และกำกับดูแลเพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยเราในทุกๆ ด้านอยู่เคียงคู่กับประเทศไทยสืบต่อไปตราบนานเท่านาน

แต่แล้วเพียง 20 ปีเท่านั้น มาถึงปีนี้ พ.ศ.2565 กระทรวงวัฒนธรรมได้กลายเป็นกระทรวงยุคใหม่ที่ทันสมัยพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้อย่างเหลือเชื่อ

แปรสภาพจากกระทรวงด้าน “สังคม” ร้อยเปอร์เซ็นต์ มาเป็นกระทรวง “กึ่งสังคม-กึ่งเศรษฐกิจ” ในฉับพลันทันที

ปรับวิสัยทัศน์ใหม่หันมาใช้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ตามนโยบายการใช้ “Soft Power” หรือ “อำนาจละมุน” เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง

รัฐมนตรีท่านปัจจุบัน อิทธิพล คุณปลื้ม ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายงานฉบับนี้ว่า กระทรวงได้มีส่วนร่วมในการผลักดันอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ “5 ประการ” ที่รู้จักกันในนามของ “5 F” มาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ อาหาร (Food), แฟชั่น (Fashion), ภาพยนตร์ (Film), ศิลปะการต่อสู้/มวยไทย (Fighting), และ เทศกาลประเพณี (Festival)…จนประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

มีการประเมินแล้วว่า สินค้าวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สามารถสร้างรายได้ถึง 1.45 ล้านล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 8.9 ของ GDP

เฉพาะการส่งออกอาหารไทยมีมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น อันดับที่ 13 ของโลก

ในขณะที่มูลค่าผ้าไทยก็สูงกว่า 8.5 พันล้านบาท, ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทยและผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยอีกประมาณ 700 ล้านบาท ฯลฯ

เห็นตัวเลขที่ยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ก็ชื่นใจแล้วครับ

นอกจากสินค้าวัฒนธรรม 5 F แล้ว ยังมีอีกหนึ่งสินค้าที่เรียกกันว่าอุตสาหกรรมสารัตถะ (Content) สามารถสร้างรายได้ราว 200,000 ล้านบาทต่อปี…สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนเลยทีเดียว

แน่นอนมูลค่าที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากความร่วมแรงร่วมใจของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง…กระทรวงวัฒนธรรม เป็นเพียงส่วนหนึ่งในขบวนการนี้เท่านั้น แต่เนื่องจาก กระทรวงวัฒนธรรม มี “บารมีเก่า” หรือ “ผลงานเก่า” คือ อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของชาติไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม

เมื่อถึงเวลาที่ประเทศชาติหันมาร่วมมือกันใช้นโยบาย Soft Power เป็นจุดขาย…จึงสามารถขายออกและขายดี เพราะสินค้าหรือวัตถุดิบทางวัฒนธรรมที่เราเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีดังกล่าวนั่นเอง

ประกาศนียบัตรแห่งความภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นการการันตีว่า “อำนาจละมุน” ของเราไม่แพ้ใครๆ ในโลกนี้ มาจากผลสำรวจของนิตยสารที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายๆฉบับ

US News ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้านมรดกวัฒนธรรมเป็นลำดับที่ 7 ของโลก ในขณะที่นิตยสาร CEO World ระบุว่า ประเทศไทยมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมเข้มแข็งเป็นอันดับที่ 5 ของโลก

ส่วนในการประกาศคะแนนของ Global Soft Power Index 2022 เราอยู่อันดับ 35 ก็จริง แต่ถ้าคิดจากประเทศทั้งหมด 120 ประเทศทั่วโลก ที่เขาสำรวจ ก็ต้องถือว่าเราอยู่ในกลุ่มต้นๆ และยังมีโอกาสที่จะทำคะแนนสูงขึ้นมาได้อีก

โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบอะไรที่เป็นของอ่อนๆ หรือละมุนๆ อยู่แล้ว จึงขอขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมที่ช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมศิลป วัฒนธรรมของชาติเราอย่างดีมาโดยตลอด จนเมื่อถึงยุคที่จะนำมาจัดหารายได้ จึงประสบความสำเร็จอย่างดีพอสมควรดังกล่าว

แต่ก็อยากให้เดินหน้าต่อไปมุ่งมั่นพัฒนาส่งเสริมรักษาและต่อยอดกันอย่างไม่หยุดยั้งต่อไป เอาให้อันดับ Soft Power Index ของเราขึ้นมาให้ถึง Top 20 ให้ได้นะครับท่านรัฐมนตรีอิทธิพล.

“ซูม”

ข่าว,​ soft power, วัฒนธรรม, ศิลปะ, กระทรวงวัฒนธรรม, ประเทศไทย, ซูมซอกแซก