แด่ “ฉก.เศรษฐกิจ” ลุงตู่ ด้วยบทเรียนจาก ฉก. “ป๋าเปรม”

ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับยังคงเต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับ “ควันหลง” หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งแม้รัฐบาลจะชนะไปแล้ว ก็ยังมีเบื้องหน้าเบื้องหลังมาเป็นข่าวอีกยาวเหยียด

คนนั้นได้คะแนนมาก คนนี้ได้คะแนนน้อย คนโน้นโดนหักหลังเพราะกลุ่มบางกลุ่มไม่ยอมโหวตให้ ฯลฯ

ก็ว่ากันไปครับตามประสาของศึกใหญ่ทางการเมือง ซึ่งเมื่อจบการต่อสู้การแข่งขันแล้วย่อมจะต้องมีเรื่องสนุกๆ มาให้อ่านอยู่เสมอ

แต่ที่ผมตั้งใจอ่านมากกว่าและถ้าเป็นไปได้อยากจะขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านอ่านด้วย เพื่อที่จะเป็นกำลังใจแก่ “ผู้คนกลุ่มหนึ่ง” ในเนื้อหาของข่าวนี้ กลับเป็นข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งเสียมากกว่า

นั่นก็คือข่าว คณะกรรมการเพื่อบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีบิ๊กตู่เป็นประธานด้วยตนเอง และมีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้แทนภาคเอกชน ฯลฯ เข้ามาเป็นกรรมการชุดใหญ่

จากนั้นก็มีอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อบริหารสถานการณ์และกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นเลขานุการ

หนังสือพิมพ์หลายฉบับเรียกคณะกรรมการทั้งชุดใหญ่และชุดเล็กอย่างไม่เป็นทางการว่า “คณะกรรมการเฉพาะกิจ” หรือกรรมการ “ฉก.” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้

พร้อมกับเริ่มรายงานข่าวบ้างแล้วว่า ท่านปลัดกระทรวงการคลัง กฤษฎา จีนะวิจารณะ ในฐานะประธาน อนุ ฉก. ชุดเล็ก เตรียมเสนอมาตรการและแนวทางแก้ปัญหาหนี้ ครัวเรือน เป็นเรื่องแรก หลังจากนั้นก็จะมีปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาราคาพลังงาน ปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ฯลฯ

ที่ผมเห็นด้วยและพร้อมที่จะให้กำลังใจคณะทำงานชุดนี้ โดยเฉพาะ “ชุดเล็ก” ที่มีท่าน ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานก็เพราะมีความเชื่ออย่างมากว่า วิธีการเช่นนี้แหละถูกต้องแล้วในการสู้กับปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นของประเทศ

เหมือนเมื่อ พ.ศ.2528 เคยมี คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังลดค่าเงินบาท 2527 ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตั้งขึ้น โดยมอบหมายให้ ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ยุคนั้นเป็นประธาน และ คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองเลขาธิการเป็นเลขานุการ

ป๋าเปรมไม่ได้ตั้งชุดใหญ่ เพราะมี คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่นายกฯ เป็นประธานและ ดร.เสนาะเป็นเลขานุการอยู่แล้ว จึงตั้งเฉพาะชุดเล็กเพื่อไปหามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำจนต้องลดค่าเงินบาทครั้งใหญ่ ให้สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้หลังลดค่าเงินแล้ว

คณะทำงานชุดดังกล่าว ก็ไปตั้งคณะทำงานย่อยประชุมหารือกันว่าวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจในสมัยนั้น ว่าควรจะทำอะไรกันบ้าง…ในที่สุดก็ได้มา “24 มาตรการ” หลักๆ

เพื่อสนับสนุนการออมของคนไทย เพื่อสนับสนุนการใช้ของที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมส่งออกของประเทศไทย และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างจริงจัง ฯลฯ

ขับเคลื่อนกันทุกวันทุกสัปดาห์…ติดตามถามไถ่ประสานงานกันตลอดว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง? ทำได้แค่ไหนปัญหาอยู่ตรงไหน?

เหลือเชื่อครับ…แค่ปีเดียวเศรษฐกิจไทยก็ฟื้นจากลบเป็นบวกและก็อย่างที่ทราบ พอขึ้นปีใหม่ 2529 ไม่นาน นิตยสารต่างประเทศดังๆ หลายฉบับก็ยกให้ประเทศไทยเป็น “เสือตัวใหม่” แห่งเอเชีย

ผมมีโอกาสได้เห็นการทำงานของ ดร.เสนาะ ของ คุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ กับคณะและทีมงบของเขาตั้งแต่ต้น จึงมีความเชื่อมั่นนับแต่นั้นมาว่า การทำงานอย่างมีเป้าหมายที่แน่นอนโดยไม่ย่อท้อ และทำไปพร้อมๆ กันแบบเป็นทีม…ย่อมประสบความสำเร็จเสมอ

แม้คณะ ฉก.ชุดปัจจุบันของบิ๊กตู่จะมาอยู่ที่กระทรวงการคลัง ไม่ใช่สภาพัฒน์ แต่หัวหน้าทีมก็คือท่านปลัดคลัง และฝ่ายเลขานุการคือท่าน ผอ.สำนักเศรษฐกิจการคลังนั้น ก็น่าจะมีความรู้ความสามารถที่จะทำงานชิ้นนี้ได้

ผมจึงขอให้กำลังใจ ขอให้น้องๆ ทุกคนทำหน้าที่อย่างสุดหัวใจ ในฐานะข้าราชการประจำ ที่ตั้งสัตย์ปฏิญาณตนไว้แล้วว่าจะอุทิศตนเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ 3 สถาบันหลักของคนไทย

ฝ่ายการเมืองเขาจะทะเลาะกันอย่างไร จะมีเหลี่ยมมีคูอย่างไร ช่างเขาเถิด…ขอให้ฝ่ายราชการประจำทำงานให้เต็มที่…ประเทศไทยของเราอยู่รอดได้แน่นอนครับ.

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจ, ไทย, คณะกรรมการเฉพาะกิจ, ซูมซอกแซก