จังหวัด “ศรีสะเกษ” วันนี้ มิใช่จังหวัด “จนที่สุด” อีกแล้ว

ผมนั่งดูไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลฟีฟ่าเดย์ระหว่างทีมชาติไทยชุดใหญ่กับทีมเตริก์เมนิสถาน ที่สนามกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ เห็นแฟนๆ ฟุตบอลชาวศรีสะเกษ เข้าไปชมเต็มสนามและยังรออยู่ข้างนอกอีกหลายพันคน ก็พลันนึกถึงความหลังเมื่อสัก 40 ปีก่อนขึ้นมาทันที

เหลือเชื่อจริงๆ ครับที่จังหวัดศรีสะเกษที่เคยได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดยากจนที่สุดของประเทศไทย จะสามารถพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นจังหวัดที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ถึงขนาดนี้

กลายเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงหลายๆ ด้าน ทั้งในแง่ของการเป็นจังหวัดกีฬา เพราะเพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 47 ไปหมาดๆ ซึ่งก็จัดได้อย่างดีมากเป็นที่ชื่นชมของนักกีฬาที่ไปแข่งและผู้สื่อข่าวที่ไปทำข่าว

คงจำได้นะครับว่า “เทพบิว” หรือเจ้าหนุ่ม ภูริพล บุญสอน วัย 16 ปี มนุษย์ลมกรดคนใหม่แห่งซีเกมส์ ก็ไปแจ้งเกิดในกีฬาแห่งชาติที่ศรีสะเกษเมื่อเดือนมีนาคมนี่เอง

ผมเคยเรียนท่านผู้อ่านแล้วว่า ความสามารถในการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาต่างๆ นั้น ใช้เป็นเครื่องชี้วัดแสดงความเจริญหรือการพัฒนาได้ตั้งแต่จังหวัดขึ้นไปถึงประเทศเลยทีเดียว

ระดับจังหวัดก็คือ เริ่มจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งชาติก่อน เพราะต้องมีการพัฒนาในระดับหนึ่งถึงจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพ

ระดับประเทศก็เริ่มจากกีฬาของกลุ่มประเทศไปก่อน อย่างของกลุ่มพวกเราในแถวเอเชียตะวันออกไกลก็คือ ซีเกมส์นี่แหละ พอถัดไปก็เอเชียนเกมส์ และพัฒนาแก่กล้าไปเรื่อยๆ ก็โน่นเลย เจ้าภาพโอลิมปิก

อย่างที่ญี่ปุ่น เกาหลี และจีนของเอเชียเราเคยขันอาสามาแล้วและก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ร่ำรวยขึ้นทั้ง 3 ประเทศ

จากข้อเท็จจริงเช่นนี้ เมื่อย้อนกลับมาสู่ระดับในประเทศคือ ระดับจังหวัด จึงต้องภูมิใจกับจังหวัดศรีสะเกษที่ไต่เต้าขึ้นมาเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งชาติได้ถึง 2 ครั้ง–ครั้งแรก พ.ศ.2540 และล่าสุด 5-25 มี.ค.ที่ผ่านมา

เพราะถ้าย้อนรอบถอยหลังไป 40 ปีที่ว่า คือพ.ศ.2525 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) นั้น จังหวัดศรีสะเกษได้ชื่อว่ายังเป็นเจ้าจังหวัดที่ “ยากจนที่สุด” ของประเทศไทย เมื่อวัดจากรายได้ประชาชาติต่อหัวของประชากร

ผมจำไม่ได้แล้วว่ากี่บาทแต่จำได้แม่นยำว่า ในการเตรียม แผนพัฒนาชนบทยากจน เสนอให้ ป๋าเปรม นายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. ดังกล่าว นำไปประกาศใช้ทั่วประเทศนั้น…

คุณ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองเลขาสภาพัฒน์ ผู้รับผิดชอบนโยบายพัฒนาชนบทยุคป๋าเปรม เป็นผู้เจาะจงเชิญชวนนักวิชาการและผู้ปฏิบัติการตามแผนไปนอนค้างที่โรงแรมที่ดีที่สุดขณะนั้น (อยู่ใกล้ๆ สถานีรถไฟ) มีห้องแอร์อยู่ 2 หรือ 3 ห้อง นอกนั้นเป็นพัดลมทั้งหมด

จากนั้นก็ไปอาศัยห้องประชุมที่ศาลากลางจังหวัดเป็นห้องสัมมนา

หลายๆ ด็อกเตอร์ซึ่งต่อมากลายเป็นคนสำคัญของประเทศ เช่น “ดร.ปุ๊” ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ (ผู้ว่าแบงก์ชาติ), ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร (นักวิชาการชื่อดัง), ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์, ดร.บุญญรักษ์ นิงสานนท์ ฯลฯ เป็นหนึ่งในรายชื่อของผู้เข้าสัมมนาและพักในโรงแรมที่ค่อนข้างอับๆ โรงแรมนี้และน่าจะนอนห้องพัดลมด้วยทุกๆ ท่าน

จำได้เช่นกันว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดใน พ.ศ.ดังกล่าว ได้กล่าวเปิดประชุมว่า นี่เป็นครั้งแรกที่จังหวัดศรีสะเกษมีด็อกเตอร์ระดับดาวรุ่งของประเทศมาพักค้างมากที่สุด ถือเป็นโชคดีที่ยิ่งกว่า “ช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมือง” เสียอีก เรียกเสียงปรบมือได้กราวใหญ่

หลังจากนั้น คุณ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ก็ยังเกาะติดจังหวัดศรีสะเกษอย่างเหนียวแน่น เชิญนายกรัฐมนตรีหลายท่านไปเยือนและพักค้างด้วยเช่น อดีต นายกฯ อานันท์ ปันยารชุน และ พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นต้น

ผมเชื่อว่า ถ้าคุณโฆษิตยังมีชีวิตอยู่ (ท่านถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว ขณะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ) ท่านคงจะดีใจและภูมิใจที่จังหวัดศรีสะเกษที่ท่านเลือกเป็นจังหวัดนำร่องของการแก้ปัญหาความยากจนนี้…ได้มีการพัฒนาแล้วเจริญก้าวหน้าอย่างที่เห็น

ไม่เพียงแต่จะมีชื่อด้านเมืองกีฬาเท่านั้น ยังมีชื่อด้านอื่นๆอีกด้วย

ได้ข่าวว่า “ทุเรียน” ของที่นี่ลูกละหลายร้อยบาทไปจนถึงหลายพันบาท ต้องสั่งจองข้ามปีเหมือนกันนะครับ สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะรับประทานทุเรียนศรีสะเกษที่เรียกกันว่า “ทุเรียนภูเขาไฟ”.

“ซูม”

ข่าว, ศรีสะเกษ, กีฬา, แผนพัฒนา, เศรษฐกิจ, ซูมซอกแซก