“อิณาทานํ ทุกฺขํโลเก” การก่อหนี้เป็นทุกข์ในโลก

ผมเขียนถึง “หนี้ครัวเรือน” ของประเทศไทยไปเมื่อวานว่า เปรียบเสมือนระเบิดเวลาทางเศรษฐกิจที่อาจจะระเบิดขึ้นเมื่อไรก็ได้

เพราะล่าสุดจากตัวเลขที่มีการอ้างอิง ซึ่งผมนำมารายงานให้ท่านผู้อ่านทราบนั้น ขึ้นมาถึงร้อยละ 90.1 ต่อจีดีพีเข้าให้แล้ว หลังถูกซ้ำเติมโดยสถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2 ปีผ่านมา

ปรากฏว่าหลังจากส่งต้นฉบับไปตีพิมพ์ ผมก็ได้อ่านถ้อยแถลงของท่านอาจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้แจงถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติในวันถัดมา

อ่านมาถึงในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้สินของแรงงานไทยแล้ว ก็รู้สึกใจหายและเป็นห่วงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศมากยิ่งขึ้น

ท่านอาจารย์และคณะซึ่งสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างแรงงานที่มีรายได้ตํ่ากว่า 15,000 บาทต่อเดือน รวม 1,260 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าแรงงานส่วนใหญ่ถึง 99 เปอร์เซ็นต์ มีหนี้สินและมูลค่าหนี้สินเฉลี่ยถึง 2.1 แสนบาทต่อครัวเรือนสูงสุดในรอบ 14 ปี

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดหนี้สินเป็นเพราะ รายได้ของแรงงานไม่พอกับรายจ่ายที่สูงขึ้นจากค่าครองชีพ และราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมกับหนี้เดิมที่มีอยู่แล้ว ทำให้ต้องระมัดระวังการใช้จ่ายและมีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น

ผมถึงได้บอกว่า อ่านแล้วใจหาย เพราะยังนึกไม่ออกว่าผู้ใช้แรงงานของเราจะชำระหนี้หมดได้อย่างไร? และเมื่อไร?

ก็ฝากให้นักเศรษฐศาสตร์ของทางราชการ จะเป็นสภาพัฒน์ หรือกระทรวงการคลัง หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่แม้จะเป็นหน่วยงานอิสระ แต่ผมก็ถือว่าท่านขึ้นอยู่กับภาครัฐ มีความรับผิดชอบต่อสถานะเศรษฐกิจและการเงินไทยมากเสียกว่าหน่วยงานบางหน่วยด้วยซํ้า…ได้โปรดช่วยกันคิดหาทางออกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องแรงงานของเราด้วย

เพราะนี่คือการอยู่รอดของประเทศไทยโดยตรง

ในถ้อยแถลงของ ดร.ธนวรรธน์ วันเดียวกันนี้ท่านยังพูดโยงมาถึงสถานการณ์เศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศในทำนองที่คล้ายๆ กับ “ระเบิดเวลา” ที่ผมยกตัวอย่างไว้เมื่อวานนี้

ท่านมองว่า จากปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย (รวมทั้งของผู้ใช้แรงงานที่ท่านเพิ่งสำรวจหมาดๆ) ที่เพิ่มสูงขึ้นมาตลอดนั้น…อาจจะสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศแล้วก็ได้

ประกอบกับราคาสินค้าอุปโภค บริโภค และค่าน้ำมันที่แพงลิบลิ่ว น่าจะมีผลทำให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนลดลง

เจ้าตัว C หรือตัวเลขการบริโภค และการใช้จ่ายที่เป็นเครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ใน 4 เครื่องย่อมจะต้องแผ่วลงไปด้วย

ทำให้ท่านอาจารย์ฟันธงว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ในปี 2565 หรือปีนี้อาจจะอยู่ในกรอบ 3-3.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และเผลอๆ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรออกมาอีก อาจจะขยายตัวเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ด้วยซํ้าไป

เขียนถึงเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ว่านี่แล้วก็ทำให้นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “อิณาทานํ ทุกฺขํโลเก” (อ่านว่า อิณาทานัง ทุกขังโลเก) แปลว่า “การก่อหนี้เป็นทุกข์ในโลก” ขึ้นมาทันทีทันใด

ผมเคยอ่านบทความของท่าน เสฐียรพงษ์ วรรณปก อธิบายว่าพระพุทธเจ้าทรงรู้ความทุกข์ของชาวโลกในเรื่องนี้เป็นอย่างดี และได้ตรัสสอนไว้ตั้งแต่โบราณกาลแล้วว่า

คนเราเมื่อยากจนไม่มีจะกิน ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามาก็เป็นทุกข์…เมื่อกู้แล้วไม่มีให้เขา ถูกเขาทวงก็เป็นทุกข์ ครั้นเขาทวงหนักๆ เข้า อายเขา จึงพยายามหลบหน้าก็เป็นทุกข์ ครั้นหลบหนีไป ถูกเขาจับได้ก็เป็นทุกข์มากขึ้นไปอีก…เรียกว่าทุกข์ทุกขั้นตอน

ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดทุกข์ที่ว่านี้ได้…ตอบอย่างกำปั้นทุบดินก็คือ ต้องไม่กู้ยืมใคร ไม่ไปก่อหนี้กับใครๆนั่นเอง

เริ่มตั้งแต่ต้องพยายามไม่ให้จนก่อน…ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ ต้องทำมาหากินโดยสุจริต ขยันหมั่นเพียร และหมั่นอดออม และไม่ตกอยู่ในกิเลสต่างๆ ทำให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย

ต้องนึกเอาไว้เสมอว่า “อิณาทานํ ทุกฺขํโลเก การก่อหนี้เป็นทุกข์ในโลก” หลีกเลี่ยงได้หรือหลบไปเสียให้ไกลๆ ได้ ก็จะทำให้เราไม่มีความทุกข์แห่งหนี้มาแผ้วพาน…เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล.

“ซูม”

ข่าว, หนี้ครัวเรือน, เศรษฐกิจ, ไทย, ปัญหา, จีดีพี, หนี้สิน, ซูมซอกแซก