“ปลาทู” ปัญหาระดับชาติ คำชี้แจงจาก “กรมประมง”

ท่านผู้อ่านคงจำได้ เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมแวะไปทัศนาจรจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับพรรคพวกที่สนิทสนมกลุ่มหนึ่ง นอกจากจะได้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์บ้าง ตำนานหรือเรื่องเล่าเก่าๆ บ้าง มาฝากท่านผู้อ่านดังที่กำลังทยอยเขียนอยู่ในคอลัมน์ซอกแซกวันอาทิตย์มาได้หลายอาทิตย์แล้วนั้น

ผมยังได้ประเดิมปัญหาระดับชาติเรื่อง “ปลาทู” มาลงในคอลัมน์นี้ด้วย เหตุเพราะระหว่างแวะไปรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งมีเมนู “นํ้าพริกปลาทู” ด้วยนั้น…ปลาทูที่ร้านอาหารเขาจัดมาให้ตัวใหญ่มาก มิใช่ปลาทูธรรมดาๆ หน้างอคอหักอย่างที่เรารับประทานอยู่ตามปกติ

สอบถามพนักงานเสิร์ฟทราบว่าเป็นปลาทูโอมาน ซึ่งทางร้านสั่งมาแทนปลาทูไทยที่กำลังขาดแคลน…ทำให้ผมมีโอกาสรับประทานปลาทูโอมานครั้งแรกในชีวิต

แม้รสชาติจะดีพอใช้ และหากจำเป็นจริงๆ ก็ใช้แทนปลาทูไทยได้ แต่ผมยังไม่อยากให้เกิดสถานการณ์จำเป็นเช่นนั้นขึ้น เพราะยังต้องการรับประทานปลาทูไทยๆ มากกว่า เพราะอร่อยและคุ้นลิ้นมากกว่า

จึงกลับมาศึกษาความรู้เรื่องปลาทูไทยเป็นการใหญ่ จากสารคดีพิเศษที่ไทยรัฐออนไลน์ของเรานี่แหละเคยจัดทำไว้…ทำให้ทราบว่าปลาทูไทยๆ ของเราเริ่มลดน้อยอย่างน่าวิตกมาหลายปีแล้ว

ต้องสั่งปลาทูเข้ามาทดแทนปีละมากๆ และหนึ่งในจำนวนปลาทูอิมพอร์ตก็คือปลาทูยักษ์โอมานที่ผมเพิ่งมีโอกาสไปกินที่อยุธยานั่นเอง

ประสาคนที่ยึดติดอยู่กับรสชาติของปลาทูไทยและบังเกิดความห่วงใยว่าปลาทูไทยจะหมดไปจากท้องทะเลไทยของเรา ผมจึงหยิบมาตั้งเป็นประเด็นถามกรมประมงว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร? ปลาทูไทยจะหมดไปไหม? หรือจะโตทันกินไหม? แล้วกรมประมงมีแผนการในการแก้ไขปัญหาระดับชาติในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

บัดนี้ผมได้รับคำตอบมาแล้วครับ เป็นหนังสือราชการอย่างเป็นทางการในนามของกรมประมง ลงเลขที่และลงวันที่มาเรียบร้อย รวมทั้งลงนามโดยท่านอธิบดี เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ ด้วยตนเองเลยทีเดียว

ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ที่ท่านเข้าใจความรู้สึกของผมและคนไทยที่ห่วงใยปัญหาเรื่องปลาทูอย่างยิ่ง และได้ชี้แจงมาอย่างละเอียด

ผมคงไม่สามารถจะนำลงได้ทั้งหมด แต่จากคำชี้แจงของท่านสรุปได้ว่า กรมประมงตระหนักในปัญหาเรื่องปลาทูไทยลดลงมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว จึงได้ศึกษาหาสาเหตุต่างๆ จนพบสาเหตุหลักประการหนึ่งคือ การจับปลาทูในฤดูวางไข่และการใช้เครื่องมือที่เป็นพิษเป็นภัยต่อลูกปลานั่นเอง

ทางกรมประมงจึงเริ่มปรับปรุงวิธีการออกใบอนุญาตเสียใหม่ รวมทั้งการกำหนดขนาดการใช้เครื่องมือในการจับปลาและสัตว์นํ้าต่างๆ และที่สำคัญจะมีการ “ปิดอ่าวไทย” หรือการห้ามทำการประมง หรือจับสัตว์นํ้าในบางช่วงเวลา

ดังที่ได้ประกาศปิดอ่าวไทยในบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เพื่อการคุ้มครองลูกปลาทูมาตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์โน้นแล้ว และจะปิดต่อไปจนถึง 15 พฤษภาคมที่จะถึง

หลังจากนั้นก็จะปิดต่อในพื้นที่ตอนกลางๆ ทะเลอีก 5,300 กิโลเมตร ไปอีก 30 วัน จนถึง 14 มิถุนายน เพื่อให้ลูกปลาทูและสัตว์นํ้าอื่นๆ มีโอกาสเติบโตได้อย่างเต็มที่

ท่านสรุปว่า ผลจากการดำเนินการเช่นนี้ ทำให้ผลผลิตปลาทูไทยเราในปีล่าสุดเพิ่มขึ้นมาพอสมควร และหวังว่าจากการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผลผลิตปลาทูเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกันกรมประมงก็ยังมีการเพาะและขยายพันธุ์ปลาทูให้มากขึ้นด้วย เพื่อนำมาเพาะเลี้ยงในบริเวณชายฝั่งอันจะสามารถช่วยชดเชยการออกจับในทะเลได้จำนวนหนึ่งในอนาคตข้างหน้า

ต้องขอขอบคุณในความพยายามต่างๆ ของกรมประมง…ซึ่งโดยส่วนตัวผมมีความคุ้นเคยกับกรมนี้อย่างมาก เมื่อ 30 ปีที่แล้วและให้ความเชื่อถือเชื่อมั่นในการทำงานมาตลอด

เรื่องประมงน้ำจืดผมแทบไม่ห่วงเลย แต่ประมงน้ำเค็มปัญหาเยอะมากเพราะเป็นธุรกิจใหญ่มาก…บางปัญหาอาจจะใหญ่เกินท่านอธิบดี

ผมขอเอาใจช่วยให้ท่านสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลน “ปลาทูไทย” ได้สำเร็จนะครับ เพื่อให้ “ปลาทูไทย” อยู่เคียงคู่ “น้ำพริกกะปิไทย” ตลอดไปตราบนานเท่านาน.

“ซูม”

ข่าว,​ ปลาทู, ไทย, นำ้พริกกะปิ, ขาดแคลน, กรมประมง, ประมง, ซูมซอกแซก