ระวัง! “New Year’s Blue” คำเตือนจาก “กรมสุขภาพจิต”

ข่าวที่ผมจะหยิบยกมาเขียนถึงต่อไปนี้ มีคนส่งมาที่โต๊ะทำงานผมที่ไทยรัฐตั้งแต่วันที่ 30 หรือ 31 ธันวาคม 2564 โน่นแล้วละ แต่เนื่องจากผมยังต้อง “Work From Home” ตามนโยบายของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ให้ความร่วมมือกับ ศบค.อย่างใกล้ชิด… นานๆ จึงจะเข้าโรงพิมพ์สักหนหนึ่ง

กว่าจะได้อ่านข่าวนี้จึงผ่านช่วงปีใหม่ไปแล้วหลายวัน และเมื่อเขียนวันนี้ก็จะลงตีพิมพ์ในวันศุกร์ที่ 7 มกราคม…ผ่านปีใหม่มาครบ 7 วันพอดี

อาจจะไม่ทันกาลหรือไม่ทันโอกาสที่จะช่วยกันดูแลคนไทยจำนวนหนึ่งที่ตกอยู่ใน “ภาวะซึมเศร้าในช่วงปีใหม่” หรือที่กรมสุขภาพจิตท่านใช้คำว่า “ภาวะ New Year’s Blue” แล้วก็ได้

แต่มาคิดอีกทีเนื่องจากปีใหม่ปีนี้มีแต่ข่าวเศร้าๆ ที่ชวนให้หนักอกหนักใจ ทั้งโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ทั้งภาวะของแพง เงินเฟ้อ ฯลฯ อันจะเป็นผลให้คนไทยเราตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าที่ยาวนานกว่าปกติ…คือแม้จะผ่านปีใหม่ไปแล้วก็อาจจะยังซึมเศร้ากันอยู่ก็ได้

การหยิบยกสาระของข่าวนี้มาเขียนถึงในช่วงนี้ น่าจะยังมีประโยชน์พอสมควร…ผมจึงตัดสินใจหยิบมาสรุปไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง

กล่าวโดยสรุป ก็คือ ท่านอธิบดีกรมสุขภาพจิต แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ท่านแถลงไว้ว่า จากการสำรวจในกิจกรรม “วัดใจ” ในระบบ Mental Health Check ของกรมสุขภาพจิตพบว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ประชาชนมีความเครียดสูงร้อยละ 5.24 และมีความเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้าร้อยละ 6.72

มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน ซึ่งประชาชนมีความเครียดสูงถึงร้อยละ 8.41 และมีความเสี่ยงซึมเศร้าถึงร้อยละ 10.60

แต่สถิติของเดือนธันวาคมที่ว่านี้ ยังไม่รวมช่วงวันหยุดยาว ระหว่างส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่กรมสุขภาพจิตให้ความสำคัญและเฝ้าระวังด้านสุขภาพจิตของประชาชนเป็นอย่างมาก

เพราะแม้จะเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่สนุกสนาน ออกเที่ยวโน่นนี่กันอย่างเบิกบานสำราญใจ แต่ก็จะมีผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ออกไปเที่ยวไหน ทำให้มีเวลาว่างและพอว่างก็จะเริ่มนึกทบทวนโน่นนี่นั่นถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาของตนเอง

ประกอบกับที่ผ่านมา 2 ปีเต็มๆ ประเทศไทยของเราเจอปัญหาโควิด-19 เข้าเต็มๆ มีปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เข้ามากระทบ หลายๆคนอาจตกงาน อาจสูญเสียญาติมิตร ทำให้ความเครียดสะสมที่มีอยู่แล้วในตัวของบุคคลเหล่านี้กลับมาปะทุอีกครั้งในช่วงที่อยู่คนเดียวเงียบๆ ดังกล่าว

เกิดภาวะที่เรียกว่า New Year’s Blue หรืออาการซึมเศร้าในช่วงปีใหม่ขึ้น และที่ผ่านๆ มาก็มักจะมีตัวอย่างให้เห็นอยู่เสมอๆ

กรมสุขภาพจิตโดยท่านอธิบดี จึงได้ออกมาแถลงข่าวนี้ ขอร้องให้ช่วยกันดูแลคนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เห็นใครทำท่าจะมีอาการซึมเศร้า เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ฯลฯ ก็ขอให้รีบหาทางปลอบโยน และให้กำลังใจบุคคลเหล่านั้นโดยไม่ชักช้า

ที่สำคัญ ท่านบอกให้เราดูแลหรือเฝ้าระวังตัวเราเองด้วยนะครับ ว่าตอนที่เราอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่ได้ออกไปเที่ยวเหมือนคนอื่นๆ นั้น เรารู้สึกเครียด รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ฯลฯ อะไรขึ้นมาบ้างหรือเปล่า?

ถ้าพบว่าเราอาจจะมี “อาการ” ขึ้นมาละก็ ขอให้หยุดคิดหยุดอยู่คนเดียว รีบไปหาเพื่อนฝูง ญาติมิตรคนอื่นๆทันที หากไปไม่ได้ หรือไม่สะดวกก็ให้ใช้วิธีโทรศัพท์ไป ยุคนี้ใช้วิดีโอคอล สามารถมองเห็นหน้าเห็นตากันได้ชัดเจนเหมือนนั่งคุยอยู่ใกล้ๆ

การได้พูดได้คุยกับเพื่อนฝูงญาติมิตรก็เท่ากับเราได้ปลดปล่อยสามารถจะลดความเครียดหรือความซึมเศร้าลงได้เป็นอย่างมาก

ต้องขอขอบคุณท่านอธิบดีกรมสุขภาพจิตไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง ที่กรุณาแถลงข่าวนี้ เตือนพวกเราชาวไทยให้ช่วยกันดูแลตัวเอง และดูแลคนรอบข้างในช่วงเทศกาลปีใหม่ ดังที่ผมสรุปไว้ข้างต้น

ผมเชื่อว่าภาวะซึมเศร้านั้น คงไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงปีใหม่เท่านั้น แต่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและในทุกเทศกาลว่างั้นเถอะ

จึงขอฝากให้ท่านผู้อ่านช่วยดูแลซึ่งกันและกัน…หมั่นสำรวจอารมณ์ของคนใกล้ตัว และตัวเราเองไปตลอดปี 2565 นี้ด้วย

อย่า “เครียด” มากนะครับ…หันมา “ขำ” กันเยอะๆ หน่อย จะได้หายจาก “Blue” มาเป็น “Bright” สดใสซาบซ่าตลอดทั้งปี 2565 และปีต่อๆ ไป…ตราบกาลนิรันดร์โน่นเลย.

“ซูม”

ข่าว, ปีใหม่, ความเครียด, สุขภาพจิต, ภาวะซึมเศร้า, โควิด-19, ซูมซอกแซก