“วัคซีนช้า” ไม่แย่เสมอไป ฉีดเร็ว “ประมาท” ก็มีปัญหา

เมื่อวานนี้ ผมเขียนถึงมาตรการสู้โควิด-19 ระลอก 3 ของรัฐบาลไทย พร้อมกับยกตัวอย่างมาตรการของอังกฤษ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และพาดพิงไปถึงคำพูดของนายกฯ อังกฤษ เกี่ยวกับเรื่อง “วัคซีน” เป็นของแถม

ที่ท่าน บอริส จอห์นสัน ท่านบอกว่าความสำเร็จของอังกฤษ ในการลดการระบาดรอบ 3 นี้ มาจากการ “ล็อกดาวน์” โดยตรง เพราะผลจากการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่าร้อยละ 50 ยังไม่มีส่วนมากนัก

ท่านเห็นด้วยกับการฉีดวัคซีนและเร่งรัดให้มีการฉีดอย่างต่อเนื่อง เพื่อการป้องกันในอนาคต แต่สำหรับปัจจุบันท่านมองว่า คนอังกฤษกำลังประมาท พอพ้นล็อกดาวน์แล้วก็ฉลองกันใหญ่

จึงต้องเตือนให้ระมัดระวังกันไว้ว่า สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาคือจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่ม หรือผู้เสียชีวิตเพิ่ม ซึ่งอาจจะกลับมาได้

วันนี้ผมขอเขียนถึงประเด็นเรื่อง “วัคซีน” ต่อนะครับ สืบเนื่องมาจากข้อสังเกตของท่านนายกฯอังกฤษนี่แหละครับ

เมื่อ 2 วันที่ผ่านมานี้เอง เกิดการระบาดหนักอีกรอบหนึ่ง ไม่ทราบว่าเป็นรอบที่เท่าไรแล้วของประเทศ ชิลี ประเทศซึ่งเคยแถลงยืนยันว่า ได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างกว้างขวาง

ปรากฏว่าการระบาดรอบนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันกลับมาพุ่งสูงเกิน 9,000 กว่าราย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดใหม่ของประเทศอยู่หลายวัน และก็ยังวนเวียนอยู่ที่ 7,000-8,000 รายในขณะนี้

ส่งผลให้ชิลีที่ประกาศผ่อนคลายประเทศถึงขั้นเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวบ้างแล้ว ต้องกลับมาปิดประเทศอีกครั้งหนึ่ง

นับถึงวันนี้ชิลีสามารถฉีดวัคซีนไปได้แล้วถึงร้อยละประมาณ 68 ของประชากร และถือเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก อิสราเอล (ฉีด 100%) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (96%)

คำตอบเท่าที่ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานก็คือ เป็นเพราะรัฐบาลชิลีมั่นใจและภูมิใจในการฉีดวัคซีนของประเทศเขาเกินไป…ชิงเปิดประเทศและคลี่คลายการควบคุมแบบเข้มข้นทั้งหลายเร็วเกินไป

โดยลืมไปว่ายังมีประชากรอีกกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ช่วงที่รีบเปิดประเทศประมาณธันวาคม-มกราคม ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และขณะเดียวกันก็มีนักท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงสูงเริ่มเข้ามาในประเทศ

ทำให้มีการติดเชื้อและแพร่เชื้ออย่างสูงในช่วงต้นเมษายน (จากคนที่ยังไม่ได้ฉีด) จนในที่สุดต้องหันมาปิดประเทศและคุมเข้มอีกครั้ง

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนี้ คงต้องมาฉุกคิดกันละครับว่า การฉีดวัคซีนเร็วไป หรือฉีดได้เยอะเกินไป ก็อาจไม่ใช่ผลดีเหมือนกัน

เพราะประเทศที่ฉีดไปเยอะอันดับ 3 ของโลกอย่างชิลี กลับมาระบาด อย่างรุนแรงจนต้องล็อกดาวน์อีกหน หรืออังกฤษซึ่งฉีดเป็นอันดับ 5 ของโลกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ช่วงโน้น ก็ระบาดรอบ 3 จนต้องล็อกดาวน์

รวมทั้งสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนอันดับ 6 ของโลก มาถึงวันนี้น่าจะเกิน 60 เปอร์เซ็นต์แล้วละ ยอดติดเชื้อประจำวันใหม่ก็ยังสูงถึง 80,000 กว่าคน ขณะที่เขียนต้นฉบับวันนี้ซึ่งยังสูงอยู่มาก

น่าจะเป็นผลมาจาก “ความประมาท” นั่นเอง ทำให้คนที่ยังไม่ฉีด ยังคงติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เพราะหละหลวมในการป้องกัน ในขณะที่ คนฉีดแล้วก็ติดใหม่ได้ เพียงแต่รักษาง่ายขึ้นเท่านั้น

ทำให้ผมซึ่งเป็นคนมองโลกทางบวกเกิดความรู้สึกขึ้นว่า…ก็ดีเหมือนกันที่กระทรวงสาธารณสุขไทยเราวางนโยบายทางด้านวัคซีนเอาไว้ แบบล่าช้ากว่าคนอื่นนิดหน่อยอย่างทุกวันนี้

เพราะถ้าเราได้มาเร็วและฉีดเร็วแต่ยังไงๆ ก็ฉีดได้ไม่หมดประเทศอยู่ดี…แล้วเกิดประมาท เราก็อาจจะตกอยู่ในภาวะเดียวกับชิลีก็เป็นได้

มองในแง่ดีอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การได้วัคซีนช้ากว่าคนอื่นนิดหน่อย น่าจะถือเป็นเรื่องดีด้วยซํ้า เพราะเท่ากับปล่อยให้ประเทศอื่นๆ เป็น “มนุษย์ตะเภา” แทน “หนูตะเภา” คือทดลองฉีดไปก่อน เกิดอะไรในทางไม่ดีขึ้น เราก็จะได้หลบเลี่ยงหรือแก้ไขได้ทัน

อย่าลืมว่าบรรดาวัคซีนทั้งหลายในโลกนี้นั้นต้องใช้เวลาทดลอง 5-10 ปี ถึงจะรู้ผลชัดเจน และเอาออกมาใช้ได้…นี่วัคซีนโควิดไม่ถึงปีเอามาใช้แล้วอย่างฉุกเฉิน ถือว่าความเสี่ยงสูงมาก

ให้ชาติอื่นๆ เขาฉีดไปก่อน จนมั่นใจแล้วว่าไม่มีผลกระทบมากนัก เราค่อยฉีดตามเขา…สบายใจกว่ากันเยอะเลย

สรุป…ผมเห็นด้วยกับการฉีดวัคซีนนะครับ เพราะเชื่อว่ามาถึงวันนี้ความเสี่ยงเหลือน้อยแล้ว แต่จะได้ผลในทางป้องกันมากแค่ไหนคงต้องรออีกหน่อย…ระหว่างรออย่าลืม “ยกการ์ดสูง” ไปด้วยก็แล้วกัน.

“ซูม”

ข่าว, โควิด 19, ฉีดวัคซีน, ทั่วโลก, ความประมาท, ล็อกดาวน์, ยกการ์ดสูง, หนูตะเภา, ซูมซอกแซก