เป็นห่วงคนไทย “หัวร้อน” “กู-มึง” เกลื่อน “โซเชียล”

ท่านผู้อ่านท่านหนึ่งเขียนจดหมายน้อยมาปรับทุกข์ผูกมิตรกับผมเมื่อหลายวันก่อน…ทำนองว่าท่านอ่านข่าวหรือความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ทุกวันนี้แล้วไม่สบายใจเลย เพราะใช้สำนวนที่แสดงความเกลียดชังและความรุนแรงมากขึ้น และหยาบคายมากขึ้น

ท่านยกตัวอย่างมาด้วยว่า แรกๆ ก็สงวนท่าทีใช้คำว่า “มรึง” บ้าง “กรู” บ้าง “แมร่ง” บ้าง แต่หลังๆ นี้ไม่มีตัว ร.เรือแล้ว กลายเป็น “มึง-กู” และ “แม่ง” ตรงๆ เลย

สุดท้ายท่านถามว่า ถ้าปล่อยให้ความก้าวร้าว เกลียดชังเต็ม “โซเชียล” ไปเรื่อยๆ…อนาคตประเทศไทยของเราจะเป็นอย่างไรบ้าง?

ผมก็ขออนุญาตตอบสั้นๆตามความคิดเห็นส่วนตัวของผมว่า เท่าที่อ่านจากบทวิเคราะห์บทวิจารณ์ทั้งจากสื่อต่างประเทศและในบ้านเราเองพบว่านักวิชาการจำนวนไม่น้อยมีความห่วงใยอย่างยิ่ง

อาจเป็นไปได้ที่การเสพ การอ่านเรื่องราวหรือถ้อยคำ หรือการใช้คำพูดเหยียดหยามรุนแรงต่างๆ ในสื่อออนไลน์นั้นจะมีผลต่อการสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน และความก้าวร้าวในสังคมแต่ละสังคมมากขึ้น

เพราะเมื่อมนุษย์เราเสพหรืออ่านข้อความ หรือเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงในลักษณะนี้บ่อยๆ เข้า ก็เป็นไปได้ที่จะสะสมความเกลียดชังต่อผู้อื่น หรือความรุนแรงต่างๆ ขึ้นในจิตใจเราเองโดยไม่รู้ตัว

เหตุการณ์รุนแรงของ “กลุ่มม็อบ” บ้าคลั่งสาวกอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ที่บุกเข้าล้อมรัฐสภาอเมริกันเมื่อปลายปีที่แล้วเป็นกรณีตัวอย่างที่มีการอ้างถึงว่าเป็นผลพวงมาจากอิทธิพลของการสร้างความเกลียดชังและปลุกปั่นให้เกิดอารมณ์รุนแรงผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยตรง

ส่วนของบ้านเราจะนำไปสู่ความรุนแรงอะไรมากขึ้นแบบของเขาหรือไม่ ในอนาคตก็คงจะต้องติดตามกันต่อไป…ผมคงจะแสดงความคิดเห็นเป็นเชิงตอบท่านผู้อ่านท่านนี้ได้เพียงเท่านี้แหละครับ

แต่เนื่องจากเนื้อที่คอลัมน์ยังเหลืออีกพอสมควร ผมขอถือโอกาสเล่าถึงการใช้ภาษาของสื่อหลักยุคก่อนแถมให้ก็แล้วกันนะครับ

ท่านผู้อ่านคงจำได้ในการเขียนคอลัมน์หรือเขียนข่าวในสื่อหลักของประเทศเมื่อ 30-40 ปีก่อน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์นั้นจะไม่มีคำหยาบ หรือคำรุนแรงอะไรเลย

การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ก็จะว่ากล่าวกันตรงไปตรงมา ดุดันในเชิงเนื้อหามากกว่าถ้อยคำ

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเคยใช้คำว่า “กู” ในคอลัมน์ท่าน 2 ครั้ง และเชื่อหรือไม่ว่ากว่าจะใช้ในครั้งแรกได้ ท่านต้องขอโทษผู้อ่านของท่านเสียหลายประโยค

ครั้งแรกในยุค “รัฐบาลหอย” ที่มีท่านอาจารย์ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ประมาณ พ.ศ.2520

อาจารย์หม่อมท่านคงเบื่อหน่ายเหตุการณ์ในขณะนั้นมาก เพราะปกครองในรูปแบบเผด็จการเต็มใบ จึงหยิบสำนวนคำพูดที่ฮิตมากในสังคมไทยยุคนั้น คือคำว่า “กูละเบื่อ” มาตบท้ายคอลัมน์

แต่กว่าอาจารย์หม่อมจะตบท้ายด้วยวลีนี้ท่านถึงขั้นเขียนออกตัวหลายประโยคว่า ตลอดเวลาที่ท่านเขียนหนังสือไม่เคยขึ้นมึงขึ้นกูให้ผู้อ่านของท่านรู้สึกระคายเคืองเลย

วันนี้ท่านเบื่อเต็มทนแล้วขอใช้คำว่า “กูละเบื่อ” สักครั้งหนึ่งเถิด

ต่อมาประมาณ พ.ศ.2530 ท่านขึ้นมึงขึ้นกูอีกครั้งในคอลัมน์สืบเนื่องมาจากท่านเขียนวิจารณ์นโยบาย “สภาเปรซิเดี้ยม” ซึ่งเป็นระบอบ การปกครองแบบรัสเซียที่มีข่าวว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. ในยุคนั้นจะเสนอให้นำมาใช้

ท่านลงท้ายแบบท้าทายบิ๊กจิ๋วว่า อย่าคิดว่าท่านไม่รู้นะว่าบิ๊กจิ๋วจะมาไม้ไหน…แล้วก็ตบท้ายว่า “กูไม่กลัวมึงจะบอกให้”

ส่งผลให้มีทหารพรานมาพังประตูบ้านซอยสวนพลูของท่าน กลายเป็นข่าวใหญ่อยู่หลายวัน

ครั้งหลังท่านไม่ได้ขอโทษผู้อ่านเหมือนครั้งแรก อาจเป็นเพราะท่านโกรธจัดหรือเป็นเพราะท่านเคยขอโทษแล้วก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ผมขอเล่าเรื่องนี้ทิ้งท้ายเพื่อชี้ให้เห็นว่าสื่อยุคก่อนเขาสุภาพอย่างไร จะขึ้นมึงขึ้นกูสักที ขนาด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังขอโทษคนอ่าน

ไม่เหมือนสื่อโซเชียลหรือเพจดังในโซเชียลยุคนี้นะครับ…ใช้คำ “กู! มึง! แม่ง!” กันอย่างสบายอารมณ์ แบบที่ท่านผู้อ่านเขียนจดหมายถึงผมทุกประการ.

“ซูม”

ข่าว, คำหยาบ, โซเชี่ยล, หัวร้อน, สื่อสังคมออนไลน์, ความเกลียดชัง, กูละเบื่อ, ซูมซอกแซก