เมื่อ “เทียน” ประชาธิปไตย ได้เวลา “เวียนวน” อีกครั้ง

ผมนั่งอ่านข่าวร้อนๆบนหน้า 1 หนังสือพิมพ์และในโซเชียลมีเดียต่างๆ ในทุกวันนี้แล้ว ก็นึกถึงเพลงพื้นบ้านที่เรียกกันว่า เพลง “จุดเทียนเวียนวน” ขึ้นมาติดหมัด

ที่มีเนื้อเรื่องท่อนหนึ่งว่า “จุดเทียนเวียนวน เรามา 2 คนวนเอ๋ย วนเวียน หมุนกลับสลับเปลี่ยน เรามาจุดเทียนเวียนเอ๋ยเวียนวน” หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างนะครับ

เหตุที่ต้องนึกถึงเพลงพื้นบ้านเพลงนี้ ก็เพราะความ “เวียนวน” ของการเมืองไทยเรานั่นแหละครับ…เดี๋ยวประธิปไตย เดี๋ยวเผด็จการ เดี๋ยวประชาธิปไตยครึ่งใบ…หมุนกลับสลับเปลี่ยนกันอยู่อย่างนั้น

ตอนผมอายุ 10 ขวบ อยู่ที่นครสวรรค์ ไม่แน่ใจว่าอยู่ในระบอบไหนแน่ เพราะบางครั้งในยุคเผด็จการเขาก็มีการเลือกตั้งมาช่วยผ่อนปรนสถานการณ์ ดั่งเช่นในปีนั้นที่รัฐบาลจอมพล ป.จัดให้มีการเลือกตั้ง

จำได้รางๆ ว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งดังกล่าว ผมไปนั่งขอบเวที ฟังคำปราศรัยของ “อาหวัด” หรืออดีต ส.ส.หลายสมัยของนครสวรรค์ สวัสดิ์ คำประกอบ ซึ่งขึ้นยืนปราศรัยคู่กับคุณ สุนีย์รัตน์ เตลาน ที่อาหวัดเชิญชวนไปสมัครที่นครสวรรค์ด้วยกัน

ยุคนั้นเขายังไม่ห้ามเรื่องมหรสพ อาหวัดและคุณสุนีย์รัตน์ จึง นำภาพยนตร์ไทยเรื่องใหญ่มากเพิ่งออกจากศาลาเฉลิมกรุงหมาดๆ เรื่อง “รอยไถ” นำแสดงโดย คำรณ สัมปุญนานนท์ ไปฉายเรียกคนดูได้ มืดฟ้ามัวดินเต็มชายหาดบรรพตพิสัย

นับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตผม ที่ผมเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยแม้ว่าจะยังไม่มีสิทธิลงคะแนน เพราะอายุแค่ 10 ขวบเท่านั้น แต่ก็มีโอกาส ได้ดูหนังผู้แทนอีกหลายเรื่อง ถือว่ามีส่วนร่วมทางอ้อมว่างั้นเถอะ

ต่อมาเมื่อผมโตขึ้นเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยมากขึ้น และเห็นดีเห็นงามว่าระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือระบอบที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยของเรา และปรารถนาที่จะให้ประเทศของเราเป็นประเทศประชาธิปไตยไปตลอดกาลนาน

แต่ความหวังของผมและคนไทยรุ่นผม ก็มิได้เกิดขึ้นอย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วย หรือตลอดกาลนานอย่างที่หวังไว้

เพราะได้เกิดเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กับเนื้อเพลง “จุดเทียนเวียนวน” เดี๋ยวประชาธิปไตย เดี๋ยวเผด็จการ สลับกันไปสลับกันมาโดยตลอดในช่วงเวลาเกือบ 70 ปี หลังจากผมไปนั่งดูหนังผู้แทนดังที่เล่าไว้

เป็นประชาธิปไตยกันอยู่ดีๆ ก็มีการปฏิวัติรัฐประหารไปเป็นระบอบเผด็จการ…และหลังจากอยู่ในระบอบเผด็จการเป็นเวลายาวนาน เกิดการโกงการกินมากมาย และใช้อำนาจเกินขอบเขต จนประชาชนทนไม่ไหว ก็มีการเดินขบวนต่อต้าน

กลับมาเป็นประชาธิปไตยได้อีกพักหนึ่ง

แต่ก็เป็นได้ไม่นานนัก เพราะเรามักจะใช้ความเป็นประชาธิปไตยเกินขอบเขต ในที่สุดก็โดนปฏิวัติ กลับไปเป็นเผด็จการอีกจนได้

ยังโชคดีอยู่บ้างที่ในการหมุนกลับสลับเปลี่ยนแต่ละครั้ง เราไม่ได้สูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตล้มตายเหมือนใบไม้ร่วงเหมือนบางประเทศ

หนักหน่วงที่สุดก็คือ 14 ตุลา 2516 กับ 6 ตุลา 2519 ที่มีการสูญเสียเลือดเนื้อไปจำนวนหนึ่ง

แต่นั่นก็ถือว่า บอบช้ำและเจ็บปวดที่สุดแล้วสำหรับคนไทยเราจนกลายเป็นบทเรียนบทหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่เราพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ดังนั้นในวันนี้ วันที่ระบอบเผด็จการ ซึ่งแม้จะผ่อนปรนมาเป็น ประชาธิปไตยครึ่งใบ แล้ว แต่ก็สุกงอมเต็มที ทำให้เสียงเรียกร้องหาระบอบประชาธิปไตยเต็มใบดังกระหึ่มไปทั่ว

ผมก็หวังไว้ว่า หากจะมีการ “หมุนกลับสลับเปลี่ยน” ไปทางใด ทางหนึ่งของเทียนเล่มนี้ ไม่ว่าจะยังอยู่กับฝ่าย “ครึ่งใบ” หรือจะต้องไปอยู่กับฝ่ายที่อยากได้ประชาธิปไตย “เต็มใบ” ก็ตาม

ขอให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างสันตินะครับ ใช้กลไกของรัฐสภานั่นแหละดีที่สุด อย่าใช้วิธีอื่นที่จะนำไปสู่ความสูญเสียเลือดเนื้ออีกเลย

ที่สำคัญที่สุด ผมเห็นด้วยกับสภาพัฒน์ครับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้หนักมาก

อย่าให้การจุดเทียนเวียนวนครั้งนี้ เกิดผลกระทบทางการเมืองและสังคมที่รุนแรง จนกระทั่งความพยายามที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด–19 ต้องล้มเหลว จนกู่ไม่กลับก็แล้วกันนะครับ.

“ซูม”

ประชาธิปไตย, เผด็จการ, ฟื้นฟูเศรษฐกิจ, โควิด–19, ซูมซอกแซก