ใจสู้หรือเปล่า? ไหวไหมบอกมา? เพลงที่ควรร้องในปี 2563

ผมเป็นคนชอบร้องเพลงเช่นเดียวกับคนไทย ส่วนใหญ่ใน พ.ศ.นี้ และเมื่อตอนหนุ่มๆ ก็เคยขึ้นร้องบนเวทีในงานเลี้ยงระหว่างเพื่อนๆ ฝูงๆ หลายครั้ง

แต่แล้วอนาคตที่จะเป็นนักร้องดาวรุ่งของผมก็ดับสนิท เมื่อไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง และเผลอไปดื่มหนักในคืนวันหนึ่ง

ตื่นเช้ารู้สึกปวดหัวมากและเมื่อลืมตาขึ้นก็พบว่าดวงตาข้างซ้ายเห็นอะไรไม่ค่อยชัด ในขณะที่เสียงพูดก็แหบพร่าลง

ต้องใช้เวลารักษายาวนานมาก แต่กระนั้นนัยน์ตาข้างซ้ายก็ยังพร่าๆ แม้จนทุกวันนี้ ส่วนเสียงพูดแม้จะหายแหบลงไปเยอะ แต่ก็ไม่สามารถร้องเพลงได้อีก เพราะไม่สามารถจะไต่บันไดเสียงสูงๆ ได้อีกเลย

อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะต้องเลิกร้องเพลงบนเวที แต่ก็ยังพอฮัมและเป็นลูกคู่ประสานเสียงให้เพื่อนๆ ได้และยังชอบฟังเพลงอยู่เหมือนเดิม

ที่สำคัญผมยังเชื่ออยู่เสมอว่า เพลงเป็นเพื่อนคู่ใจที่ดีที่สุดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นยามสุขหรือยามทุกข์ เพราะในยามที่เรามีความสุขนั้น

เสียงเพลงจะช่วยเติมความสุขให้แก่เราเพิ่มขึ้น ทำให้เราสุขมากขึ้นไปอีก

ขณะเดียวกัน ในยามทุกข์เสียงเพลงจะช่วยให้เราทุกข์น้อยลง

ผมไปรู้ซึ้งและสำนึกในคุณค่าของเพลงก็ตอนที่ไปเรียนหนังสือที่สหรัฐฯ เมื่อ 50 ปีก่อน เวลาเรียนไม่รู้เรื่องและกลัวว่าจะสอบตก หรือเรียนไม่จบนั้น ผมมักจะปลอบใจตัวเองด้วยการร้องเพลง

โดยเฉพาะเพลงที่ร้องแล้วทำให้หายคิดถึงบ้าน เช่น เพลง “ลุ่มเจ้าพระยา” หรือเพลง “บ้านเรา” เป็นต้น

เผอิญผมเป็นศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ด้วย ซึ่งใน พ.ศ.ดังกล่าวเพิ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแต่งเพลง “ยูงทอง” พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงที่ผมเรียนปี 4 จึงร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” ได้อย่างขึ้นใจ

ผมก็จะร้องเพลงนี้ควบคู่ไปกับเพลง “มอญดูดาว” ซึ่งเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่รุ่นพี่ๆ ร้องกันมาตั้งแต่เริ่มตั้งธรรมศาสตร์

ทำให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิมและฮึดสู้จากที่เรียนไม่รู้เรื่อง ทำท่าจะเอาตัวไม่รอด ก็ค่อยๆ ดีขึ้นจนเรียนจบในที่สุด

กลับมาทำงานในเมืองไทยได้พักหนึ่ง ก็มีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มจากการรวมตัวของนิสิต นักศึกษา ประท้วงรัฐบาล พ.ศ.นั้น ที่บริเวณลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์

ผมไปสังเกตการณ์แทบทุกคืนเพื่อเก็บบรรยากาศมาเขียนถึงในคอลัมน์นี้ และพบว่าสิ่งหนึ่งที่หล่อหลอมนักศึกษาให้อยู่ร่วมกันมีจิตใจคึกคักฮึกเหิม พร้อมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็คือ เสียงเพลงนั่นเอง

โดยเฉพาะเพลงเพื่อชีวิตจากวง คาราวาน ของ หงา คาราวาน มีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมจิตใจนิสิต นักศึกษาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

อีกหลายๆ ปีต่อมาผมมีโอกาสทำงานร่วมกับ องค์กรพัฒนาภาคเอกชน ที่เรียกกันว่า เอ็นจีโอ และเข้าร่วมสัมมนาด้วยหลายครั้ง จำได้ว่าเอ็นจีโอจะจบการสัมมนาด้วยการจับมือกันร้องเพลงทั้งห้องประชุมด้วยเพลง “กำลังใจ” ทั้งของ วงโฮป และของ หงา คาราวาน

ถือเป็นการร้องเพลงเพื่อเป็นคำมั่นสัญญา และให้กำลังใจซึ่งกันและกันก่อนจะแยกย้ายไปทำงานเพื่อประชาชนตามที่สัมมนากันไว้

ท่านผู้อ่านครับ…ที่ผมเขียนระลึกความหลังเรื่องเสียงเพลงต่างๆ ในวันนี้ก็เพราะผมเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องร้องเพลงปลุกปลอบใจซึ่งกันและกันอีกครั้งหนึ่ง

อันเป็นผลมาจาก เศรษฐกิจแย่, สังคมยุ่ง, ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ระบาด, ฝนแล้ง, ฝุ่นพิษ PM 2.5 และนักการเมืองไทยไร้สาระ ฯลฯ นั่นเอง

นอกจากเพลง “กำลังใจ” ของทั้ง 2 วงที่เราควรจะร้องให้แก่กันและกันแล้วในช่วง 10 ปีหลังมานี้มีเพลงฮิตอีกเพลงหนึ่งที่ใช้ปลุกปลอบใจคนท้อแท้ได้ดีมาก ได้แก่เพลง “ศรัทธา” ของวง “หิน เหล็ก ไฟ”

ผมคงไม่มีพื้นที่คอลัมน์เหลือพอจะลงเนื้อเพลงได้ทั้งเพลงขอเชิญท่านผู้อ่านที่เกิดความท้อแท้ทั้งหลายเข้ายูทูบเปิดฟังกันเองนะครับ

สำหรับวันนี้ผมขอหยิบมาเพียงท่อนที่ทุกคนควรตะโกนร้องดังๆ มาฝากท่านผู้อ่านในย่อหน้าสุดท้ายของคอลัมน์ก็แล้วกัน

อย่าลืมเปิดเพลงของ “หิน เหล็ก ไฟ” แล้วตะโกนท่อนนี้พร้อมๆ กัน 3 จบก่อนนอนคืนนี้

ใจสู้หรือเปล่า? ไหวไหมบอกมา? โอกาสของผู้กล้า ศรัทธาไม่มีท้อ! (แฮ่ม! ไม่สู้ก็ต้องสู้ ไม่ไหวก็ต้องไหวละครับพ่อแม่พี่น้อง!)

“ซูม”