คิดถึง “วีรบุรุษ” เงินบาท ผู้สอนให้รู้ “อ่อนดีกว่าแข็ง”

ทุกครั้งที่สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจต่างๆ ออกมาทำนายทายทักเศรษฐกิจไทยว่าจะชะลอลงจะแย่ลงทั้งในปีนี้และปีหน้านั้นมักจะเอ่ยถึง “ดาวร้าย” หรือ “ผู้ร้าย” 2 ตัวคู่กันไปเสมอๆ

ดาวร้ายตัวแรกก็คือ สงครามการค้า ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนชะลอตัวลง มีผลกระทบทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยอย่างรุนแรง

ดาวร้ายตัวที่สองก็คือ ค่าเงินบาท ที่แข็งเกินเหตุจนทำให้สินค้าไทยแพงขึ้น คนมาเที่ยวเมืองไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น นับเป็นปัญหาอุปสรรคใหญ่หลวงที่ทำให้สินค้าไทยขายลดลง และคนมาเที่ยวประเทศไทยลดลง

รายงานล่าสุดของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เมื่อ 2 วันที่แล้วก็พุ่งนํ้าหนักไปที่ “ดาวร้าย” ทั้ง 2 ตัวนี้ (ขออนุญาตเรียกเป็นตัวแบบเราดูละครทีวีหรือดูลิเกที่เรามักจะเรียกนักแสดงต่างๆ ว่าตัว)

ผมอ่านแล้วก็อดคิดถึงความหลังเสียมิได้ตามประสาผู้สูงอายุ ซึ่งมักจะชอบมองอะไรย้อนหลังอยู่เสมอ

ในกรณีสงครามการค้านั้นถือเป็นดาวร้ายเกิดใหม่ คนไทยยังไม่ค่อยคุ้นชินนัก เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ค่อยเกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นแต่ยังไม่มีผลกระทบที่รุนแรงมาถึงเมืองไทย

ตรงข้ามกับ “ค่าเงินบาทแข็ง” ที่เราคุ้นชินอย่างดี และมีประสบการณ์มามากจนยอมรับในที่สุดว่า “ค่าเงินบาทแข็ง” เป็นตัวร้ายสำคัญตัวหนึ่งของเศรษฐกิจ

ที่ผมใช้คำว่ามีประสบการณ์มามากก็เพราะกว่าคนไทยจะยอมรับว่า “ค่าเงินบาทแข็ง” เป็น “ผู้ร้าย” นั้น นักเศรษฐศาสตร์ นักการคลัง รวมไปถึงรัฐบาลในบางยุคบางสมัยด้วย ต้องพบกับความเจ็บปวด ความบอบชํ้าอย่างสาหัสไปตามๆ กัน

เหตุเพราะในทัศนะของคนไทยรุ่นเก่า รวมทั้งสื่อมวลชนรุ่นเก่าๆ ด้วย มักจะมองว่า “ค่าเงินบาทแข็ง” เป็นพระเอก ดังนั้นเมื่อรัฐมนตรีคลังท่านใด หรือรัฐบาลใดมาทำให้ค่าเงินบาทแข็งน้อยลง หรือทำให้จาก “แข็ง” เป็น “อ่อน” จึงมักจะถูกประท้วง ถูกวิจารณ์ ถูกตัดพ้อต่อว่าอย่างเจ็บปวดและเสียๆ หายๆ

คนไทยยุคก่อนมีความเชื่อว่า “เงินบาทแข็ง” เป็นศักดิ์ศรีของชาติ และภูมิใจว่าเงินของเราต้องมีอะไรดีจึงแข็งกว่าคนอื่นๆ

รัฐมนตรีในอดีตที่ต้องการจะสังหารพระเอกตัวนี้คือ ทำให้ค่ามันอ่อนลงนั้นอาจจะมีหลายท่าน แต่เท่าที่ผมจำได้แม่นที่สุดก็คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล

ท่านอาจารย์ไพจิตรมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2524 ซึ่งช่วงนั้นประเทศไทยเริ่มมีปัญหาขาดดุลการชำระเงินอย่างหนัก จำเป็นที่จะต้องลดค่าเงินบาทเพื่อแก้ปัญหา

อาจารย์ไพจิตรถูกถล่มหนักในฐานะเป็นตัวตั้งตัวตีในการลดค่าเงินบาทครั้งแรก โดยเฉพาะสื่อยุคนั้นเขียนรุนแรงหลายวันติดกัน

ท่านอาจารย์ก็ขมขื่นแต่ก็อดทนอดกลั้นให้อภัยสื่อทุกสื่อ ยกเว้นนักเขียนข่าวสังคมชื่อดังรายหนึ่ง ที่อาจารย์ไม่ยอมให้อภัย ฟ้องหมิ่นประมาท และตั้งใจจะให้ศาลพิจารณาโทษถึงที่สุด หนักถึงขั้นจำคุก ซึ่งเรื่องก็ดำเนินไปถึงศาลฎีกาแล้ว แต่จะด้วยเหตุใดไม่ทราบ ท่านอาจารย์ก็ยอมถอนฟ้องในชั้นฎีกาให้ ทำให้นักเขียนข่าวสังคมรอดจากถูกจำคุกไป

เหตุที่อาจารย์ไพจิตรตัดสินใจฟ้องก็เพราะนักเขียนข่าวสังคมท่านนี้เขียนว่า ท่านไปรับแผนมาจากญวน เพื่อทำลายเศรษฐกิจไทย ซึ่งท่านอาจารย์บอกว่า ด่าผมว่าโง่ หรืออะไรอื่นผมรับได้ทั้งหมด

แต่มาด่าว่าผมรับแผนญวน (ซึ่งสมัยนั้นเป็นคอมมิวนิสต์และเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของไทย) มาทำลายไทย ผมยอมไม่ได้เด็ดขาด

เห็นหรือยังล่ะครับว่า “เงินบาทแข็ง” ในยุคโน้นเป็นพระเอกขนาดไหน และ “เงินบาทอ่อน” เป็นผู้ร้ายขนาดไหนในห้วงเวลาเดียวกัน

จนกระทั่ง ต่อมาเมื่อการลดค่าของอาจารย์ไพจิตรเอาไม่อยู่ ปู่ สมหมาย ฮุนตระกูล ซึ่งเป็น รมว.คลังจึงลงมือเอง

เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์คืน “ลอยกระทง” ที่ท่าน พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ออกมาให้สัมภาษณ์ตำหนิการลดค่าเงินอย่างรุนแรงทางโทรทัศน์จนลือกันไปทั้งคืนว่าจะมีการปฏิวัติ

โชคดีว่าป๋าเปรมท่านสยบเหตุการณ์ได้ และต่อมาการลดค่าเงินก็สัมฤทธิผล เศรษฐกิจไทยโตเอาโตเอา เป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย

นั่นแหละคนไทยถึงได้เข้าใจว่า “เงินบาทอ่อน” ต่างหากที่เป็นพระเอกตัวจริง และ “เงินบาทแข็ง” คือผู้ร้ายตัวฉกาจนับแต่นั้น และออกมาต่อต้านเงินบาทแข็งกันอุตลุดในขณะนี้.

“ซูม”