เขียนถึง “กูเกิล” อีกวัน เสนอวิธีไถ่โทษ “บิ๊กตู่”

เพื่อให้ข่าว “เชิญยิ้ม” ของท่านนายกรัฐมนตรีบิ๊กตู่ กรณีที่ไปพูดที่สหรัฐอเมริกาว่า คนไทยไม่ค่อยใช้กูเกิลจนถูกวิจารณ์ด้วยเสียง หัวเราะไปทั่วโลกออนไลน์…มีประโยชน์โพดผลต่อประเทศชาติบ้างไม่มากก็น้อย…ผมขออนุญาตเขียนถึง “เทพทันใจ” กูเกิลต่ออีกวันนะครับ

เมื่อวานนี้ผมเล่าโดยสรุปแล้วว่า จากประสบการณ์การใช้กูเกิลของผม…พบว่ายังไม่ค่อยมีเรื่องราวหรือข่าวคราวเก่าๆ ที่น่าสนใจของประเทศไทยให้ค้นคว้ามากนักในกูเกิล

ดังตัวอย่างที่ผมยกไว้เมื่อวานก็คือ กรณีของนักมวยไทยที่ขึ้นชกชิงแชมป์โลกคนแรก (แต่ไม่สำเร็จ) อย่าง จำเริญ ทรงกิตรัตน์ มีหัวข้อให้ค้นหาได้เพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นในภาษาไทย

วันนี้ผมขออนุญาตยกตัวอย่างเพิ่มอีกรายหนึ่งคือ ดร.ประเทศ สูตะบุตร อดีตศูนย์หน้าทีมชาติไทยและศูนย์หน้าทีมฟุตบอลประเพณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เป็นตำแหน่งสุดท้ายของการรับราชการ

เมื่อตอนที่ท่านถึงแก่กรรม ผมนึกได้ว่า สมัยก่อนท่านดังมาก เป็นนักฟุตบอลตัวอย่างเล่นทีมจุฬาฯ ในฟุตบอลประเพณีกับธรรมศาสตร์ เล่นทีมชาติไทย เรียนจบวิศวะฯ และได้ปริญญาเอกวิศวกรรมศาสตร์ เป็นด็อกเตอร์ขนานแท้ มิใช่ด็อกเตอร์ห้องแถว

ผมซึ่งมีรายการวิทยุกีฬา FM96 ตอน 8 โมงเช้าอยู่ด้วย เห็นว่าน่าจะพูดถึงท่าน ก็เข้าไปค้นกูเกิลหาประวัติ ปรากฏว่ามีเพียงรายการเดียวเท่านั้น คือ เว็บไซต์ของ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งก็ลงบทสัมภาษณ์ของท่านก่อนเสียชีวิตไว้สั้นๆ ไม่มีประวัติอะไรมาก

กลับกลายเป็นว่า ทั้งๆ ที่ผมคลิกชื่อ ดร.ประเทศ สูตะบุตร และมีออกมารายเดียวอย่างที่ว่า…แต่รายการต่อท้ายที่กูเกิลพยายามจะช่วยผมหรือเดาใจว่าผมคงอยากค้นด้วยกลายเป็นชื่อของ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงานไปเสียฉิบ

มีข่าวและเรื่องราวของ ดร.ทวารัฐเป็นร้อยๆ พันๆ ชิ้น เรียกว่าเปิดไปถึง 10 หน้าแล้วยังไม่หมดท่านมีข่าวให้สัมภาษณ์ทุกวัน

กลายเป็นบุคคลนามสกุล “สูตะบุตร” ที่ผมไม่ได้ต้องการทราบเรื่องราว แต่กูเกิลจัดมาให้ซะยาวเหยียด โดยที่ผมไม่ได้ค้นหาด้วย…แต่คนที่ผมต้องการคือ ดร.ประเทศ สูตะบุตร มีให้ค้นแค่ข่าวเดียวเท่านั้นเอง

อีกตัวอย่างผมอยากเขียนถึง ฉัตรแก้ว ราชบดินทร์ นักเขียนที่เคยเขียนด่าจอมพลสฤษดิ์ จนโดนทหารทุบแท่นพิมพ์ และต่อมาหันมาใช้นามปากกา “ลุงแมว” เขียนข่าวมวย ด้วยสำนวนสนุกสนานที่ผมยึดถือเป็นครูคนหนึ่งในการเขียนข่าวกีฬาของผม

พอเข้าไปดูในชื่อท่าน มีข้อมูลที่เอ่ยถึงเพียง 2 หัวข้อ จากการเขียนถึงสั้นๆ ของเว็บไซต์เล็กๆ 2 เว็บ

นอกนั้นเป็นความพยายามที่จะช่วยเหลือของเทพกูเกิล เอาเรื่องที่เกี่ยวกับ “ฉัตรแก้ว” บ้าง “บดินทร์” บ้าง มาลงเป็นพรืด ซึ่งก็ไม่สามารถจะช่วยอะไรได้เลย เพราะไม่มีอะไรเกี่ยวกับยอดนักหนังสือพิมพ์อย่าง ฉัตรแก้ว ราชบดินทร์ สักนิดเดียว

กลายเป็นมีเรื่อง “ข้าบดินทร์” จากละครดังมาให้ผมค้นซะงั้น

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ผมเห็นว่ารัฐบาลควรจะเจียดเงินมาให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เช่น หอสมุดแห่งชาติ เป็นต้น มาจัดเก็บรวบรวมเรียบเรียงเรื่องต่างๆ ที่น่ารู้น่าสนใจ ทั้งในแง่เหตุการณ์หรือตัวบุคคล นำมาลงไว้ในเว็บไซต์หรือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของอินเตอร์เน็ตให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เพื่อให้เรื่องราวที่น่าสนใจเหล่านี้ไม่สูญหายตายจากไปจากประเทศไทย เข้ากูเกิลเมื่อไรก็ได้อ่านเมื่อนั้น

ไม่ใช่ผมอยากจะค้นเรื่อง ดร.ประเทศ สูตะบุตร คนดังในยุคไม่มีอินเตอร์เน็ต แต่กลับต้องมาอ่านเรื่องราวของ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร คนดังในยุคอินเตอร์เน็ตครองโลกดังได้ยกตัวอย่างไว้

เอางี้นะครับท่านนายกฯ เพื่อไถ่ถอนความผิดพลาดที่ทำให้ผู้คนมองท่านเป็นคณะ “เชิญยิ้ม” ไปเสียหลายวัน กรุณาอนุมัติงบประมาณสักก้อนมอบหมายให้หน่วยงานอะไรสักหน่วยไปจัดทำอย่างที่ผมกราบเรียนเสนอแนะพร้อมยกตัวอย่างให้เห็นโดยสังเขปมาแล้วด้วยเถิด

ผมจะช่วยเขียนขอบพระคุณท่านเต็มคอลัมน์ให้เลย ซึ่งจะกลายเป็นบันทึกคู่โลกไปตราบนิรันดร์ เพราะคอลัมน์ผมอยู่ใน “ไทยรัฐออนไลน์” ด้วย เข้า “กูเกิล” เมื่อไรก็ดูได้เมื่อนั้น

ควรมิควรแล้วแต่จะพิจารณาขอรับท่านนายกฯ.

“ซูม”