อีกบทเรียนจากป๋าเปรม “ผู้นำ” ต้องฟังรอบด้าน

ผมขออนุญาตเขียนถึง “ป๋าเปรม” ต่ออีกสักวันนะครับ เพราะเมื่ออ่านข่าวคราวที่บุคคลสำคัญต่างๆ พูดถึงท่านว่ามีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในหลายๆเรื่อง ก็เกิดความคิดที่จะขยายความขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่นักบริหาร หรือผู้นำประเทศรุ่นหลังๆ ที่จะจดจำหรือนำวิธีการของท่านไปใช้บ้าง

นั่นก็คือเหตุการณ์เมื่อครั้งเศรษฐกิจของประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤติ เกิดการขาดดุลชำระเงินอย่างใหญ่หลวง จนปู่ สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีคลังในยุคนั้น ต้องขออนุมัติท่านลอยตัวค่าเงินบาท อันจะเป็นผลให้ค่าเงินลดลงถึงเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปลายปี 2527

ขอบคุณภาพ : ไทยรัฐ

ป๋าเปรมท่านเป็นทหารมาตลอดชีวิตของท่าน อาจจะเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มาบ้าง แต่ก็คงไม่ลึกซึ้งอะไรนัก ท่านย่อมมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับประชาชนทั่วๆ ไป ว่าการลดค่าเงินบาทมีแต่จะนำความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนเพราะจะทำให้ข้าวของที่เราซื้อมาจากต่างประเทศราคาแพงขึ้น

เมื่อปู่หมายเสนอมาว่าต้องลดเพราะเป็นมาตรการแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลการชำระเงินที่เฉียบขาดที่สุด ป๋าเปรมจึงต้องคิดหนัก และถามไถ่ผู้รู้หลายๆ ท่าน โดยใช้วิธีที่แนบเนียน ไม่กระโตกกระตาก เพราะการลดค่าเงินบาทแต่ละครั้งจะทำให้มีผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างมากมายหากข่าวแพร่งพรายออกไป

เมื่อฟังความเห็นรอบด้านแล้ว ท่านก็ตัดสินใจอนุมัติ และทันทีที่อนุมัติทุกอย่างก็เป็นไปดังที่ท่านคิดไว้ คือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิรัฐบาลอย่างกว้างขวาง

รวมถึง พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านรัฐบาลอย่างดุเดือด ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และช่อง 7 ในคืน “วันลอยกระทง” 2 พฤศจิกายน 2527

เป็นผลให้ป๋าเปรมต้องเรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และขอร้องให้เปิดโอกาสแก่ฝ่ายเศรษฐกิจลองใช้มาตรการดังกล่าว โดยท่านย้ำว่าหากใน 6 เดือนไม่มีอะไรดีขึ้น ท่านจะลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

แต่ก็ต้องยอมรับว่าการออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยของพลเอกอาทิตย์ก็มีผลดีทางอ้อมต่อรัฐบาลป๋าเปรมในเรื่องนี้ เพราะสื่อมวลชนมองว่าท่านใช้คำพูดที่ค่อนข้างดุดัน จึงหันมาเห็นใจป๋าเปรมในวันรุ่งขึ้นหลังออกอากาศ ทำให้กระแสต่อต้านการลดค่าเงินบาทลดลง

พอกระแสต้านเริ่มอ่อนตัวลง ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ ก็เสนอแผนเชิงรุกในการที่จะใช้ประโยชน์จากการลดค่าเงินบาทให้ป๋าเปรมนำไปกล่าวในสุนทรพจน์ปีใหม่ 2528 โดยใช้คำขวัญว่า

“มุ่งประหยัด เร่งรัดนิยมไทย ร่วมใจส่งออก” ซึ่งรัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ หลายๆ ประการเพื่อสนับสนุนคำขวัญนี้

จากนั้นวันที่ 3 มกราคม 2528 เปิดทำงานวันแรก ป๋าเปรมก็เซ็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อจัดทำโครงการและมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตามคำขวัญนี้ โดยมีประธานร่วม ได้แก่ ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ และ คุณกำจร สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เกิดเป็นโครงการถึง 24 โครงการ มุ่งหน้าทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้การลดค่าเงินบาทมีผลคุ้มค่า

ผลของ 24 โครงการ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นมาทีละน้อยจนกลับคืนสู่ภาวะปกติ และแล่นฉิวไปข้างหน้าเมื่อแผนงานต่างๆ ที่เป็นแผนระยะยาว เช่น โครงการพัฒนาชายฝั่งตะวันออกเริ่มเกิดดอกออกผล

การตัดสินใจของป๋าเปรมที่ยอมให้ลดค่าเงินบาทครั้งนั้น จึงถือเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่และมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของชาติโดยตรง ทำให้วิกฤตการณ์ที่ประเทศเราต้องตกอยู่ใกล้ภาวะล้มละลายสิ้นสุดลง และกลับฟื้นขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่งในที่สุด

การรับฟังคนอื่นและการหาข้อมูลอย่างละเอียดอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้บริหารชั้นเลิศ ซึ่งป๋าเปรมมีอยู่ในตัวของท่านเองมาตั้งแต่ต้น

รวมไปถึงการตัดสินใจออกคำสั่งที่ 66/23 เพื่อให้ผู้เข้าป่าวางอาวุธกลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งจะเป็นข้อเสนอของใครก็ช่างเถิด แต่ป๋าเป็นคนตัดสินใจและประกาศใช้จนนำความสงบร่มเย็นกลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

หวังว่าผู้บริหารและผู้นำรุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าทหารหรือพลเรือนจะนำวิธีคิดและวิธีทำงานของป๋าไปใช้บ้างนะครับ.

“ซูม”

อ่านเพิ่มเติมได้ที่
ระลึกและอาลัยยิ่ง “ป๋าเปรม” คนของแผ่นดิน
ความในใจ “ป๋าเปรม” ถึงคนที่อยู่ “เบื้องหลัง”