ระลึกและอาลัยยิ่ง “ป๋าเปรม” คนของแผ่นดิน

เมื่อวานนี้ผมเขียนทิ้งท้ายเอาไว้ว่าจะเขียนแสดงความยินดีแก่ผู้ชนะได้รับการโหวตให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและแสดงความเสียใจกับผู้แพ้ในการประชุมนัดแรกในรอบ 5 ปี เพราะไม่อาจจะเขียนได้ทันในช่วงเวลาส่งต้นฉบับ

วันนี้ขอแสดงความยินดีกับคุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ที่ได้รับตำแหน่งประธานสภาฯ และขอแสดงความเสียใจกับ คุณสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้แพ้ไปด้วยคะแนน 235 ต่อ 258 ไว้ ณ ที่นี้

ขอชมเชยทั้งคู่โดยเฉพาะคุณสมพงษ์ที่ได้แสดงสปิริตอย่างชนะใจผู้ชมทางบ้านที่เดินไปคารวะ แสดงความยินดีกับคุณชวนอย่างนอบน้อม…

ขอให้นักการเมืองไทยทั้งหลายจำไว้เป็นแบบอย่างนะครับ

ความจริงวันนี้ผมเขียนถึงทั้ง 2 ท่านไว้เต็มคอลัมน์ แต่คงต้องเก็บไว้ก่อนแล้วละ เพราะมีข่าวด่วนที่นำมาซึ่งความเศร้าสลดใจ เกิดขึ้นอย่างกะทันหันในช่วงสายๆ ของวันอาทิตย์ที่ผ่านมาหลังผมส่งต้นฉบับเรื่องพี่ชวนกับคุณสมพงษ์ไปสัก 1 ชั่วโมง

ขอบคุณภาพ : ไทยรัฐ

นั่นก็คือข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริอายุ 99 ปี

นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย ในฐานะที่ พล.อ.เปรม หรือที่สื่อมวลชนตลอดจนบุคคลใกล้ชิดเรียกท่านว่า “ป๋าเปรม” จนติดปากนั้น เป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าและมีผลงานอันอเนกอนันต์ยิ่งสำหรับประเทศชาติมาโดยตลอด

ในฐานะทหารซึ่งเป็นรั้วของชาติท่านได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์จนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุด ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก และเมื่อมารับผิดชอบในการบริหารประเทศได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเวลายาวนานถึง 8 ปีเศษ ระหว่าง พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.2531 ป๋าก็สร้างผลงานในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตลอดจนนำพาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ หรือยุคโชติช่วงชัชวาลเป็นที่โจษขานมาจนถึงบัดนี้

ขณะเดียวกันท่านก็มิได้ทอดทิ้งคนยากคนจนในชนบทห่างไกล ด้วยสำนึกเสมอว่าชนบทไทย คือหัวใจของชาติ หากชนบทอยู่ไม่ได้ประเทศชาติก็อยู่ไม่ได้ จึงริเริ่มให้มี “แผนพัฒนาชนบทยากจน” อย่างเป็นทางการขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 5 พ.ศ.2525-2529 เป็นต้นมา

ครั้นเมื่อตัดสินใจอำลาตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองหลังจากเอ่ยคำว่า “ผมพอแล้ว” ป๋าก็มีโอกาสได้สนองพระเดชพระคุณพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีถึง 2 รัชกาล

ตลอดเวลาที่รับราชการไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดๆ รวมทั้งในช่วง 8 ปีเศษ ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ป๋าได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์ สุจริต สมถะ ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ก็แน่ละบนเส้นทางชีวิตที่ต้องผ่านการสู้รบ ผ่านการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ และเป็นโทษแก่บุคคลหลายกลุ่ม หลายเหล่า ท่านย่อมเป็นที่ทั้งพอใจและไม่พอใจของบุคคลบางกลุ่มเป็นของธรรมดา

สำหรับผมเองครั้งหนึ่งในชีวิต เคยมีส่วนทำงานอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของท่าน ในฐานะข้าราชการคนหนึ่งของสภาพัฒน์ ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบด้านแผนพัฒนาชนบท ได้มีโอกาสทำงานกับท่านถึง 8 ปีเต็มๆ มองเห็นแต่ส่วนดีงามของท่าน

จึงมีความเคารพและศรัทธาในตัวท่าน และขอขอบพระคุณท่านที่ระลึกถึงคนไทยที่ยังด้อยโอกาสอยู่เสมอๆ

ท่านสนับสนุน แผนพัฒนาชนบท ของสภาพัฒน์ ที่มี ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นเลขาธิการ และคุณ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรองเลขาธิการ ดูแลเรื่องนี้โดยตรงอย่างเต็มที่

ควบคู่ไปกับการสนับสนุน แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก และแผนการนำประเทศเข้าสู่ ยุคอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเสนอโดยสภาพัฒน์ เช่นกัน

ท่านเป็นคนบอกพวกเราเองว่า ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องดูแลหลังบ้าน หรือคนที่อยู่ข้างหลังด้วย เป็นที่มาของการวางแผนพัฒนาประเทศอย่าง “สมดุล” ในยุคนั้น

ขอดวงวิญญาณของ “ป๋าเปรม” (ขออนุญาตเรียกท่านอย่างที่สื่อมวลชนทั่วไปเรียกขานท่านอีกครั้งหนึ่ง)…จงเป็นสุขและสงบ ณ สรวงสวรรค์เบื้องบน ตราบกาลนิรันดร์.

“ซูม”