ข้าพเจ้ากับ “การเลือกตั้ง” “ความรัก” ที่ไม่เคยถดถอย

เมื่อ 50–60 ปีที่แล้วการใช้สรรพนามแทนตัวบุรุษที่ 1 ว่า “ข้าพเจ้า” เป็นที่นิยมอย่างมากในการเขียนหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่มหรือบทความ หรือคอลัมน์ต่างๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์

ข้าพเจ้าคิดอย่างนี้, ข้าพเจ้าเห็นด้วย, ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย, ข้าพเจ้าไปเที่ยวโน่นมาเที่ยวนี่มา ฯลฯ เป็นต้น

ต่อมาคำว่า “ข้าพเจ้า” ค่อยๆ หายไปจากคอลัมน์หรือบทความต่างๆ เมื่อนักเขียนรุ่นใหม่หันมาใช้ถ้อยคำที่เป็นกันเองมากกว่า โดยเฉพาะคำว่า “ผม” หรือ “ดิฉัน” ดังที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

แต่คำว่า “ข้าพเจ้า” ก็ยังมิได้หายไปจากประเทศไทยเสียทั้งหมดยังคงใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในข้อเขียนที่เป็นทางการหรือเป็นเรื่องจริงจัง ดังเช่น คำให้การต่อศาล หรือคำให้การต่อตำรวจ เวลาไปลงบันทึกประจำวัน เราก็ยังต้องใช้คำว่า “ข้าพเจ้า” กันอยู่เหมือนเดิม

ด้วยเหตุนี้เมื่อผมจะเขียนคอลัมน์ว่าด้วยการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ในวันที่ 24 มีนาคม ที่จะถึงนี้จึงขออนุญาตใช้คำว่า “ข้าพเจ้า” เพื่อเป็นการย้ำว่าข้อเขียนในวันนี้เป็นผลมาจากเรื่องราวในชีวิตจริงและเป็นความรู้สึกอันแท้จริง

ข้าพเจ้าจะมีอายุ 78 ปีเต็มๆ ในวันที่ 6 เมษายน 2562 หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เพียง 13 วัน

ข้าพเจ้าผ่านการเลือกตั้งมาแล้วทั้งสิ้น 15 ครั้ง และครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 16 ขอเรียนว่าข้าพเจ้าไม่เคยเบื่อหน่ายและไม่เคยเกิดความรู้สึกว่าความพึงพอใจในการเลือกตั้งจะถดถอยลงแม้แต่น้อย

ในทางเศรษฐศาสตร์มีทฤษฎีหนึ่งระบุไว้ว่า สินค้าหรือบริการใดที่เราบริโภคซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ หรือใช้ไปเรื่อยๆอรรถประโยชน์หรือความพึงพอใจในของสิ่งนั้นหรือบริการนั้นๆ มักจะถดถอยลง

ทฤษฎีนี้ยังเป็นความจริงอยู่และก็ยังเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าเสมอๆ ในการบริโภคสิ่งของและใช้บริการในด้านต่างๆ

แต่สำหรับ “การเลือกตั้ง” อันเป็นวิถีปฏิบัติที่บ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตยนั้นไซร้

ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า อรรถประโยชน์และความพึงพอใจนอกจากไม่ลดแล้ว ยังเพิ่มพูนขึ้นอีกด้วย

เหตุเพราะข้าพเจ้าเป็นคนอาภัพแม้จะรู้จักและหลงรักประชาธิปไตยมาตั้งแต่จำความได้ รวมทั้งชอบตามผู้ใหญ่ไปฟังการหาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. ตั้งแต่เด็กๆ อ่านข่าวการเมืองมาตั้งแต่ยังเรียนมัธยมต้น

แต่กว่าข้าพเจ้าจะได้ไปเลือกตั้งครั้งแรกก็ปี 2518 หลังเหตุการณ์ตุลา 2516 ที่ประเทศไทยของเราได้ประชาธิปไตยกลับคืนมาอีกครั้ง

ปีนั้นน่ะ ข้าพเจ้าอายุ 34 ปี พอดิบพอดี

เหตุที่ข้าพเจ้าต้องรอจนอายุ 34 ปี จึงได้เลือกตั้ง เพราะก่อนหน้านั้นมีการปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วก็ผ่องถ่ายต่อมาที่ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นเวลากว่า 15 ปี

มีอยู่ปีหนึ่ง พ.ศ.2512 จอมพลถนอมเปิดกาน้ำให้เลือกตั้งแบบประชาธิปไตย 30 เปอร์เซ็นต์ คือน้อยกว่าครึ่งใบ ข้าพเจ้าก็ได้ทุนไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศซะอีก

จึงต้องรอมาถึงอายุ 34 ปี ข้าพเจ้าจึงได้มีโอกาสเลือกตั้งดังกล่าว…ยังจำได้ถึงความตื่นเต้น และปลาบปลื้มยินดีอย่างบอกไม่ถูก ที่เห็นหัวแม่โป้งของตัวเองเปื้อนหมึกน้ำเงินเข้มจากการไปแปะโป้งแสดงตนเพื่อใช้สิทธิ…อุตส่าห์เก็บรอยเปื้อนไว้ถึง 3-4 วัน โดยไม่ยอมล้าง

นอกจากจะได้เลือกตั้งช้าแล้ว ข้าพเจ้ายังอาภัพ เพราะหลังจากนั้นการเลือกตั้งก็ผลุบๆ โผล่ๆ สลับกับการปฏิวัติรัฐประหารอยู่ตลอดเวลา

เกิดการปฏิวัติรัฐประหารกลับไปเป็นเผด็จการถึง 4 ครั้ง หลังปี 2518 เป็นต้นมา (ไม่นับยุคหอยปฏิวัติกันเอง)

ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าประชาธิปไตยของข้าพเจ้าช่างมีอุปสรรคเสียจริงหนอ ซึ่งก็ทำให้นึกถึงภาษิตโบราณที่ว่า “รักแท้ย่อมมีอุปสรรค” ควบคู่ไปด้วย จนกระทั่งเกิดความรู้สึกสะสมมาตลอดเวลาว่า ยิ่งมีอุปสรรคมากเพียงใด ก็ยิ่งรักประชาธิปไตยมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ดังนั้น แม้การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะยังมีอุปสรรคอยู่มาก เพราะยังไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ อย่างเก่งก็แค่ประชาธิปไตย 30 หรือ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่ถึงครึ่งใบด้วยซ้ำ

แต่ข้าพเจ้าก็ยินดีและคิดอยู่เสมอว่า ขอให้มีการเลือกตั้งเสียก่อนเถิด ต่อไปประชาธิปไตยที่มากเปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจนถึง 100 เปอร์เซ็นต์ จะต้องกลับมาเป็นของประชาชนชาวไทยในที่สุด

ข้าพเจ้าจึงขอปฏิญาณต่อหน้าศาลพระภูมิว่า ข้าแต่ศาลที่เคารพ ข้าพเจ้าจะไปเลือกตั้งอย่างแน่นอน ในวันที่ 24 มี.ค.2562 นี้.

“ซูม”