เพราะนโยบาย “โง่จนเจ็บ” เราจึงเดินมาไกลถึงวันนี้

เพราะบทนำของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับเมื่อวาน (พุธที่ 21 มีนาคม) แท้ๆที่ทำให้ผมต้องขออนุญาต ท่านผู้อ่านเขียนถึงคำว่า “โง่จนเจ็บ” ที่กลายมาเป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ในวันนี้อีกครั้ง

“บทนำ” ของไทยรัฐฉบับที่ว่าได้เขียนถึงนโยบาย “โง่จนเจ็บ” ซึ่งเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาชนบทของประเทศไทยมานานแสนนานและได้อธิบายที่มาที่ไปเอาไว้ค่อนข้างละเอียด

โดยเฉพาะคำว่า “โง่” นั้นบทนำไทยรัฐอธิบายว่ามาจากคำว่า “ignorance” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า “ความไม่รู้” มิใช่มาจากคำว่า “Stupid” ซึ่งแปลว่าโง่ดักดาน หรือโง่เง่าเต่าตุ่นแต่ประการใด

เป็นคำอธิบายที่ถูกต้องแล้วละครับ เพราะในภาษาของสภาพัฒน์ที่เป็นต้นตอของการจัดทำแผนพัฒนาชนบท ในยุคป๋าเปรมก็ใช้คำว่า “ไม่รู้” ซึ่งมาจากคำว่า ignorance นี่แหละ

แต่พอทางจังหวัดรับลูกไปแล้วไปอบรมสัมมนาไปขับเคลื่อนในทางปฏิบัติก็เลยเอาคำไปย่อใหม่ให้เข้าใจง่ายๆ แบบชาวบ้านและสลับคำเสียบ้าง เพื่อให้ออกเสียงได้ชัดเจน จึงกลายเป็น “โง่จนเจ็บ” ในที่สุด

ผมสันนิษฐานว่าท่านผู้ว่าฯขอนแก่นก็ดี ท่านรองผู้ว่าฯขอนแก่นก็ดี น่าจะเป็นข้าราชการหนุ่มๆ เลือดใหม่ไฟแรงในช่วงปี 2525 และเข้ามาช่วยงานพัฒนาชนบทในยุคนั้น จึงซึมซับคำว่า “โง่จนเจ็บ” มาจนถึงบัดนี้

แม้จะต่างยุคต่างสมัยไปแล้ว แต่เมื่อมีผู้เสนอมาให้เซ็นโดยยังใช้คำๆนี้อยู่ ท่านจึงเผลอเซ็นลงไปดังที่เป็นข่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามองย้อนหลังกลับไปในอดีตจะพบว่า เพราะคำ 3 คำ “โง่จนเจ็บ” นี่แหละครับ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้มีการทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเอาจริงเอาจังของภาคข้าราชการไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2525 มาถึง พ.ศ.2540 เป็นอย่างน้อย

ส่งผลให้ชนบทไทยเราลืมตาอ้าปากขึ้นได้พอสมควรทีเดียว

ในประเด็น “ไม่รู้” หรือ “โง่” เพื่อจะแก้ปัญหาความไม่รู้หนังสือของคนชนบท เพื่อให้เรียนรู้สูงขึ้นรอบรู้กว้างขึ้น เป็นที่มาของโครงการที่อ่านหนังสือพิมพ์หมู่บ้าน โครงการห้องสมุดตำบล

โครงการใช้โรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน รวมไปถึงการขยายโรงเรียนมัธยมอำเภอไปจนครบทุกอำเภอ ในช่วงเวลาดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าแม้จะมีการแปลงถ้อยคำจาก “ไม่รู้” ไปเป็น “โง่” จนดูเหมือนจะเป็นคำดูหมิ่นดังที่เข้าใจในยุคนี้ แต่ในยุคนั้นไม่มีใครคิดว่าเป็นคำดูหมิ่นเลย กลับเป็นคำที่จูงใจให้ทำงานจนเป็นผลสำเร็จหลายอย่าง

ในประเด็น “เจ็บ” หรือ เจ็บไข้ได้ป่วย ก็มีการใช้ผู้สื่อข่าวสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขอย่างเต็มรูปแบบ และมีการสร้างโรงพยาบาลอำเภอ (สมัยนั้นยังเรียกโรงพยาบาลอำเภอ มาเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลชุมชนในช่วงหลัง) จนครบทุกอำเภอในช่วงเวลาที่ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี (ก่อนหน้านั้นมีเพียงครึ่งเดียวของอำเภอทั้งหมด)

มีโรงพยาบาลอำเภอแล้วก็มีหมอไปประจำด้วยจากโครงการ “แพทย์ใช้ทุน” ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน

ส่วนในประเด็นปัญหาความยากจนหรือ “จน” ก็มีการเร่งพัฒนาอย่างขนานใหญ่ จากกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ในการให้ความรู้ด้านการเกษตรที่ทันสมัยมากขึ้น สนับสนุนอาชีพเสริมมากขึ้น ไปจนถึงการนำอุตสาหกรรมบางประเภทไปสู่หมู่บ้านหลายๆแห่ง

รวมแล้วทำให้ความยากจนของประเทศไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน จากที่เคยสูงถึงกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมดก่อน พ.ศ.2525 เหลือเพียง ร้อยละ 9 ใน พ.ศ.2559

แต่ถ้านับคนที่ยังเฉียดความจนอยู่หรือพ้นระดับความยากจนมานิดเดียวเข้าไปด้วย ก็จะกลายเป็นร้อยละ 17 หรือประมาณ 11 ล้านคน ซึ่งต้องถือว่าปัญหาความจนลดลงเยอะมากอยู่ดี

ทุกวันนี้ “ความไม่รู้” กับ “เจ็บไข้” น่าจะลดไปเยอะแล้ว เหลือแต่คำว่า “ยากจน” ซึ่งยังต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งรัฐบาลท่านก็มีโครงการเฟส 2 อะไรของท่านที่กำลังดำเนินการอยู่

ที่นายกฯจะไปขอนแก่นไม่ต้องพูดถึงเรื่อง “ไม่รู้” หรือเรื่อง “โง่” มากนักก็ได้ เรื่อง “เจ็บ” ก็ไม่ต้องพูดเยอะเอาเรื่อง “จน” นี่แหละเรื่องเดียวเลย

ทำยังไงจะให้ชาวขอนแก่นจำนวนไม่น้อยที่ยังจนอยู่มีโอกาสเดินหน้าไปถึง 4.0 กับเขาได้บ้าง…ฟันธงไปที่ประเด็นนี้เลยครับ.

“ซูม”