ย้อนตำนาน “เพลงอีสาน” 60 ปีก่อนครองยอดวิว “ยูทูบ”

สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นสัปดาห์ของพี่น้อง ชาวอีสาน เมื่อเว็บไซต์ Chartmasters.org ซึ่งทำหน้าที่ในการบันทึกการเข้าสตรีม หรือเข้ารับฟังรับชม เพลงต่างๆ ในยูทูบประเทศไทย แจ้งผลออกมาว่า นักร้องหรือศิลปินที่มีผู้เข้าชมมากที่สุด ได้แก่ นักร้องลูกทุ่งอีสาน “มนต์แคน แก่นคูน” ที่มียอดสูงถึง 976 ล้านวิว

เชือดเฉือนวงเกิร์ลกรุ๊ปจากเกาหลี Blackpink (ซึ่งมีสาวไทย ลลิษา มโนบาล หรือน้อง ลิซ่า ร่วมวงอยู่ด้วย) ซึ่งมีผู้เข้าชมทั้งหมด 749 ล้านวิวไปถึง 227 ล้านวิว

สร้างความฮือฮาให้แก่แฟนเพลงทั้งชาวอีสาน และภาคอื่นๆ ที่ปัจจุบันล้วนหันมาฟังเพลงอีสาน จนคุ้นเคยแล้วเป็นอย่างยิ่ง

สื่อมวลชนทุกแขนงสรุปว่าชัยชนะของ มนต์แคน แก่นคูน เป็นการตอกย้ำความนิยม และชื่นชมเพลงท่วงทำนองอีสาน จากศิลปินอีสานที่มีอยู่ท่วมท้นยูทูบในปัจจุบันนี้อีกครั้งหนึ่ง

กล่าวไปแล้วในช่วง 1 ทศวรรษ หรือ 10 ปีที่ผ่านมานี้ ศิลปินอีสานได้เข้ามายึดครองความนิยมระดับเกิน 200 ล้านวิว ในยูทูบได้มากที่สุด

นอกจาก ไผ่ พงศธร, จินตหรา พูนลาภ และ ลำเพลิน วงศกร ที่อยู่ในอันดับ “ท็อป 10” ของการประกาศผลคราวนี้แล้ว ใครที่เป็นแฟนยูทูบคงจะทราบดีว่า ยังมีนักร้องอีสานอีกมากที่มีเพลงเกินกว่า 200 ล้านวิวเป็นเครื่องหมายการค้า

ไม่ว่าจะเป็น แซ็ค ชุมแพ จากเพลง “คำแพง”, ก้อง ห้วยไร่ จากเพลง “คู่คอง”, ลำไย ไหทองคำ จากเพลง “ผู้สาวขาเลาะ”, หญิงลี ศรีจุมพล จากเพลง “ขอใจเธอแลกเบอร์โทร”, ต่าย อรทัย จากเพลง “สิเทน้อง ให้บอกแน” ตั๊กแตน ชลดา จากเพลง “บ่งึดจักเม็ด” เป็นต้น

ถือเป็นความสำเร็จที่ต้องปรบมือให้สำหรับศิลปินอีสานที่สามารถก้าวมาได้ถึงจุดนี้ เพราะถ้าเรามองย้อนกลับไปมองในอดีต จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เพราะเพลงอีสานต้องใช้เวลาถึง 60 ปีในการเดินทาง และในช่วงต้นๆ ต้องพึ่งพาอาศัยศิลปินภาคอื่นๆ ด้วยซ้ำ

จริงอยู่แม้ภาคอีสานจะมีการแสดงในแบบวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ขึ้นชื่อลือชามาก ได้แก่ “หมอลำ” นั่นเอง ซึ่งก็มีทั้งหมอลำธรรมดา และหมอลำทรงเครื่องแต่งชุดแพรวพราว และมีฉากประกอบอลังการมาก แต่ก็เป็นที่นิยมเฉพาะในภาคอีสานเท่านั้น

ประกอบกับในการบันทึกแผ่นเสียงยุคแรกๆ ก็มักจะบันทึกเฉพาะเพลง “หมอลำ” ขนานแท้ ซึ่งใช้ภาษาอีสานเป็นหลัก จึงไม่ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงภาคอื่นๆ

เพลงท่วงทำนองอีสานเพลงแรกที่ขึ้นมายึดครองจิตใจคนไทยทั้งประเทศ น่าจะได้แก่เพลง “ขุ่นลำโขง” ขับร้องโดย “อาหม่อม” ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ โดยมี “ป้าเม้า” สุดา ชื่นบาน (กรรมการคนสำคัญของรายการประกวดเพลง “โกลเด้นซอง” เวทีเพลงเพราะของช่อง one 31… ในปัจจุบัน) เป็นผู้ร้องแก้

เพลง “ขุ่นลำโขง” แต่งเนื้อร้องโดย พี่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งเคยเล่าว่าได้ค่าแต่งมา 150 บาท และดัดแปลงทำนองจากเพลงพื้นบ้านอีสาน โดย “ครูแจ๋ว” สง่า อารัมภีร บันทึกแผ่นเสียงเมื่อปี 2501 หรือ 62 ปีที่แล้วโดยที่ในยุคดังกล่าวยังเป็นยุคที่มีการแบ่งแยกเพลงลูกกรุงกับเพลงลูกทุ่งอย่างชัดเจน… เพลงท่วงทำนองอีสานของครูสง่า อารัมภีร และพี่อาจินต์ เพลงนี้จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มเพลงลูกกรุง

อย่างไรก็ดีในตลาดลูกทุ่งเองในช่วงเวลาใกล้ๆกันนั้น ก็มีเพลง “สาวฝั่งโขง” ขับร้องโดย ปอง ปรีดา ที่เริ่มต้นด้วยการผิวปากโด่งดังทั่วประเทศเช่นกัน…

หลังจากนั้นมา เพลงอีสานประพันธ์หรือ ขับร้องโดยศิลปินอีสานแท้ๆ ก็เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่วงการเพลงระดับประเทศ และแน่นอนส่วนใหญ่ยังคงเป็นตลาดลูกทุ่งเสียมากกว่า

เพลงใดจะมาก่อนมาหลังอย่างไร? ทีมงานซอกแซกไม่สามารถสืบค้นได้อย่างละเอียด แต่จากการบันทึกไว้อย่างคร่าวๆ พบว่าเพลงอีสานที่ฮิตทั่วประเทศ หลังจากนั้น ได้แก่…

“อีสานบ้านเฮา” ประพันธ์โดย พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ขับร้องโดย เทพพร เพชรอุบล, เพลง “อีสานลำเพลิน” ประพันธ์โดย สุรินทร์ ภาคศิริ ขับร้องโดย อังคนางค์ คุณไชย, เพลง “สาวอุบลรอรัก” ประพันธ์โดย พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ขับร้องโดย อังคนางค์ คุณไชย เป็นต้น

อีก 2 เพลงที่ฮิตมากและทำให้เพลงอีสานโด่งดังทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง ได้แก่เพลง “รักสาวขอนแก่น” ขับร้องโดย พนม นพพร ประพันธ์โดย เกษม สุวรรณเมนะ แต่บางบันทึกบอกว่าเป็นของ นพดล ทับสรวง ที่เริ่มต้นว่า “ไปทั่วแคว้นแดนอีสาน ไปร่วมงานพื้นบ้านหมอแคน… หนุ่มหมอลำ รำเต้ยงามขอนแก่น” นั่นแหละครับ

อีกเพลงก็คือ “สาวอีสานรอรัก” ขับร้องโดย อรอุมา สิงห์ศิริ ประพันธ์โดย สมทุม ไผ่รำบึง ที่เริ่มด้วยประโยคที่ยังอยู่ในใจของแฟนเพลงทั่วประเทศ จนถึงบัดนี้ว่า “น้องเป็นสาวขอนแก่น ยังบ่เคยมีแฟน บ้านอยู่แดนอีสาน” นั่นเอง

บรรดาเพลงดังๆ ที่กล่าวมานี้ (ความจริงยังอีกมาก แต่ไม่สามารถจะกล่าวถึงได้หมด) ล้วนมีส่วนในการทำให้คนไทยทั้งประเทศเริ่มซึมซับกับเพลงท่วงทำนองอีสานมาเป็นลำดับ และเริ่มยอมรับมากขึ้น ก่อนถึงยุคดิจิทัลด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะยุคของ ครู สลา คุณวุฒิ นักประพันธ์เพลงอีสานแห่งค่ายแกรมมี่โกลด์ ที่แต่งเพลงให้ศิลปินอีสานหลายราย รวมทั้ง ต่าย อรทัย ที่โด่งดังสุดๆ ในยุคเพลงตลับ ซึ่งมีเพลงดังมากขายได้หลายล้านตลับ หลายชุด เช่นชุด “ดอกหญ้าในป่าปูน” เป็นต้น

ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีนำพาโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล และมีการกำเนิดช่อง “ยูทูบ” ขึ้นในอินเตอร์เน็ต จนกลายเป็นอภิมหาเวทีให้ศิลปินคนใดก็ได้? อยู่ส่วนไหนของประเทศก็ได้? สามารถส่งผลงานมาลงไว้ที่ช่องอย่างเสรี เพื่อให้ประชาชนเลือกชมเลือกฟังได้อย่างเสรีเช่นกัน

นับเป็นแรงจูงใจให้ศิลปินอีสาน ทั้งแนวดั้งเดิมและแนวใหม่ทันสมัย ต่างก็ส่งผลงานเข้ามาในเวทียูทูบจนแจ้งเกิดไปตามๆกัน และในที่สุดก็สามารถยึดครอง ความนิยมจากแฟนเพลงทั่วไทย เอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จดังกล่าว

ขอแสดงความยินดีอีกครั้ง และขอขอบคุณศิลปินอีสานทุกท่านทั้งนักร้องและนักแต่งเพลง ที่ร่วมกันรังสรรค์ และสร้างความสุขอย่างใหญ่หลวงให้แก่พี่น้องชาวไทยทั่วประเทศ ในยุคปัจจุบันและน่าจะยาวนานต่อไปในอนาคตอันไกลแสนไกลนับจากนี้.

“ซูม”

เพลงอีสาน, มนต์แคน แก่นคูน, ยูทูบ, ประเทศไทย, นักร้อง, เพลง, ซูมซอกแซก