“เงินอ่อน” ดีกว่า “เงินแข็ง” ทำอย่างไรให้ “บาท” อ่อนลง?

ในช่วงหลายๆ เดือนมานี้ รวมถึงในขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ เสียงบ่นว่าค่าเงินบาทของเราแข็งเกินไปจนเป็นเหตุให้เราส่งออกได้น้อยลง และมีผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวบ้านเราน้อยลง…ยังคงกระหึ่มอยู่ในแวดวงนักธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยว

รวมถึงข้อเรียกร้องขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนลงบ้างก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราได้ยินอยู่ตลอดเวลา

สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งโป๊กในทุกวันนี้ ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะทราบกันอยู่แล้วว่าเป็นเพราะเหตุใด?

ข้อแรกเลยก็มาจากการที่ประเทศไทยเรามีบัญชีดุลสะพัด เกินดุลพอสมควรในช่วงหลังๆ อย่างปี 2561 หรือปีที่แล้วก็เกินมากถึงร้อยละ 8 ของจีดีพี ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชียเลยทีเดียว

ครั้นเข้ามาในปี 2562 ก็ยังเกินดุลอยู่อีกทั้งๆ ที่ส่งออกก็ติดลบ รายได้ท่องเที่ยว แม้จะไม่ติดลบแต่เปอร์เซ็นต์ก็ลดลงไปเยอะ น่าจะทำให้ดุลชำระเงินลดลงบ้าง

แต่ก็ปรากฏว่า นักลงทุนจากต่างประเทศยังคงนำเงินเข้ามาในบ้านเราในจำนวนที่สูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลและบางส่วนก็ไปสู่ตลาดหุ้น

ในทัศนะของนักลงทุนเขายังมองกันว่าประเทศไทยเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย เพราะดูจากสถิติต่างๆ แล้วน่าเชื่อถือมาก เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็สูงอยู่อันดับ 10 กว่าๆ ของโลก

แถมหนี้สาธารณะก็อยู่ที่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้นเอง ไม่น่าห่วงเหมือนอีกหลายประเทศ

เหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินนอกยังไหลเข้ามาเรื่อยๆ และทำให้ดุลบัญชีสะพัดเกินดุลอยู่เรื่อยๆ ส่งผลให้เงินบาทแข็งโป๊กอยู่ตลอดเวลา จนล่าสุดถึงกับพูดกันว่าแข็งที่สุดในรอบ 6 ปี

มีการวิเคราะห์กันว่ายิ่งเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี หลายๆ ประเทศเติบโตช้าลง ก็ยิ่งจะทำให้ประเทศไทยของเราดูโดดเด่นขึ้นไปอีก

เพราะแม้ประเทศไทยจะไม่เติบโตมากแถมปีนี้ยังจะลดกว่าปีที่แล้ว แต่ด้วยปัจจัยอื่นที่เอ่ยถึงข้างต้นซึ่งทำให้ภาพรวมดูแข็งแกร่งก็น่าจะเป็นสิ่งจูงใจให้เงินนอกยังคงไหลเข้ามาอีก เพราะเชื่อว่ามาเก็บไว้ในบ้านเราน่าจะปลอดภัยกว่าที่อื่นๆ ในอนาคตอันใกล้

ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปจริงตามการวิเคราะห์นี้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากเป็นจริงก็จะต้องระวังตัวให้มากๆ เข้าไว้ เพราะอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นจาก “ความเชื่อ” ย่อมจะไม่คงทนหรือยั่งยืน

หากความเชื่อหมดไป และนักลงทุนพากันแห่ถอนเงินออกไปที่อื่น ที่เขาคิดว่าปลอดภัยกว่า หรือให้ประโยชน์มากกว่าในภายหลังละก็ ความปั่นป่วนวุ่นวายจะเกิดขึ้นแก่ระบบเศรษฐกิจของเราทันที

กลับมาที่เหตุการณ์เฉพาะหน้า คือการที่ค่าเงินบาทแข็งเกินเหตุขณะนี้ จะดำเนินการอย่างไรให้อ่อนตัวลงมาบ้าง และอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ผมก็คงจะต้องฝากแบงก์ชาติเอาไว้ละครับ

ผมเชื่อว่าค่าเงินบาทที่แข็งเกินเหตุทุกวันนี้ มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกดังที่มีเสียงเรียกร้องจากนักธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะทางด้านท่องเที่ยว จะเห็นชัดเจนจากการที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มชะลอลง ซึ่งบางส่วนก็มาจากภาวะเศรษฐกิจของเขาเองที่ไม่ดีเหมือนก่อน เพราะผลจากสงครามการค้า

ยังจะมาเจอค่าเงินบาทที่แข็งจนทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้านเราแพงขึ้นกว่าเดิมซ้ำเติมเข้าให้อีก ทำให้เขารู้สึกว่ามาไทยแล้วแพงกว่าที่อื่น…เขาก็ต้องเลือกไปที่อื่นมากกว่ามาบ้านเรา

ผมตระหนักดีว่าแบงก์ชาติต้องดูแลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ใครที่เปิดเว็บแบงก์ชาติเกี่ยวกับเรื่องค่าเงินเขาจะทำกราฟิกให้เห็นถึงเหรียญ 2 ด้าน ว่าเงินแข็งมีประโยชน์อย่างไร? เงินอ่อนมีประโยชน์อย่างไร? ส่งสัญญาณว่าแบงก์ชาติจะดูแลทั้ง 2 ด้านพร้อมกัน

แต่ในความเห็นของผมมองว่าเงินอ่อนมีประโยชน์มากกว่าแข็ง เพราะถ้าส่งออกดีท่องเที่ยวดี เศรษฐกิจไทยก็จะฟื้นขึ้นมาเอง

ฝากแบงก์ชาติไว้พิจารณาด้วยนะครับ ทำให้อ่อนไปถึง 33 บาทต่อเหรียญอย่างเก่าไม่ได้…ขอสัก 32 บาทต่อเหรียญก็ยังดี…พอไหวไหมครับท่านผู้ว่าฯ?

“ซูม”