22 ปีสภาการหนังสือพิมพ์ฯ การอยู่รอดในยุค “ดิจิทัล”

และแล้ววันที่ 4 กรกฎาคม ก็มาถึง และเป็นวันสำคัญที่ผมต้องขออนุญาตเขียนถึงเรื่องราวของแวดวงวิชาชีพสื่อมวลชนอีกครั้ง

เนื่องจากวันนี้เมื่อ 22 ปีมาแล้ว เจ้าของ บรรณาธิการ และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ทั้งหลายทั่วประเทศไทย ได้มาร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจจัดตั้งองค์กร ที่เรียกว่า “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” ขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรม

ที่ผ่านมา “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ที่เป็นสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ในสังกัดสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่พวกเราร่วมกันร่างขึ้น

แต่หลายครั้งสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สามารถกำกับดูแลกันเองได้ เพราะไม่มีมาตรการลงโทษทางกฎหมายกับสมาชิกที่ละเมิดจริยธรรม ทำให้เกิดแนวคิดที่จะออกกฎหมาย จัดตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่และมีบทลงโทษตามกฎหมายด้วย โดยจะให้ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมาจากฝ่ายข้าราชการ

เป็นผลให้พวกเราต้องออกมาชี้แจงทำความเข้าใจว่าเพราะเหตุใดจึงต้องกำกับกันเอง และในที่สุดทางฝ่ายรัฐก็เข้าใจและยอมรับเหตุผล

ล่าสุดแนวคิดที่จะออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรเข้ามาใช้อำนาจตรวจสอบและลงโทษตามกฎหมายต่อสื่อได้ถูกปรับเปลี่ยนไปแล้ว โดยร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานสื่อมวลชน ที่ขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้วนั้น ไม่มีบทบัญญัติที่เคยกังวลกันอีกต่อไป

แต่ยังไม่รู้ว่าจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อไหร่และอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหม่ที่กำลังท้าทายวงการสื่อมวลชน คือ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารที่เปลี่ยนไป ทำให้หนังสือพิมพ์ต้องปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มตัว

ซึ่งการปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์นี้ ย่อมไม่ง่ายนัก เพราะแม้ต้นทุนในการผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์จะหายไป แต่ต้นทุนในการผลิตข่าวสารยังคงอยู่

ขณะที่รายได้จากสื่อออนไลน์ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะความหลากหลายของสื่อออนไลน์มีมาก เม็ดเงินโฆษณาถูกแบ่งไปอยู่ที่โซเชียลมีเดียไปมากกว่า 70-80% ดังนั้น การอยู่รอดโดยยังสามารถดำรงมาตรฐานความเป็นมืออาชีพไว้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในปัจจุบัน

ดังนั้น ในโอกาสที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจะมีอายุครบ 22 ปีในปีนี้ จึงถือโอกาสจัดปาฐกถาพิเศษเรื่อง “มาตรฐานความเป็นมืออาชีพของสื่อในยุคดิจิทัล” ขึ้น

เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์และความเป็นจริงในขณะนี้ โดยเชิญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือ หม่อมอุ๋ย อดีตรองนายกรัฐมนตรี มาเสนอมุมมองเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ “สื่อมืออาชีพ” ที่นับวันจะเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอจากหนังสือพิมพ์กระดาษไปสู่สื่อดิจิทัลมากขึ้น

ตามด้วยวงอภิปรายในหัวข้อ “สื่อ…การปรับตัวและมาตรฐานความเป็นมืออาชีพ” โดยมีตัวแทนคนทำสื่อออนไลน์จากสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย รวมทั้งผู้แทนสมาคมมีเดียเอเจนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย และนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมอภิปราย

ได้รับเกียรติจากอาจารย์ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ กรรมการฯ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

งานทั้งหมดนี้ จัดขึ้นในวันนี้ (พฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2562) เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ผู้สนใจเข้าร่วมฟังฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ในฐานะศิษย์เก่าของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จึงถือโอกาสนี้เชิญชวนผู้ที่สนใจความเคลื่อนไหวของแวดวงวิชาชีพสื่อมวลชนไปร่วมในกิจกรรมนี้กันมากๆ

และที่ลืมไม่ได้คือการให้กำลังใจเพื่อนสื่อมวลชนทั้งหลาย ทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ให้สามารถปรับตัวสู้กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยังรักษาความเป็นสื่อมืออาชีพที่ทำงานอยู่ในกรอบจริยธรรมสื่อ เพื่อให้ผู้บริโภคข่าวสารวางใจ…

รู้เลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็อย่างที่ผู้ใหญ่รุ่นเก่าๆสอนไว้น่ะแหละ “ชีวิตยังไม่สิ้น ก็ดิ้นกันไป” สู้ๆ สู้ตายนะครับ เพื่อนหนังสือพิมพ์ทุกฉบับทั้งที่ยังพิมพ์ด้วยกระดาษและแปลงร่างสู่ออนไลน์เรียบร้อยแล้ว.

“ซูม”