มหกรรมหนังสือระดับชาติ งานห้ามพลาดของนักอ่าน

เริ่มงานมาหลายวันแล้วนะครับสำหรับ “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ปีนี้จัดร่วมกับ งาน “เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนครั้งที่ 12” ประชันหนังสือผู้ใหญ่กับหนังสือเด็ก ตั้งแต่ 17 ตุลาคมไปจนถึง 28 ตุลาคม

น่าเสียดายที่หัวหน้าทีมซอกแซกมีภาระที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ไม่มีโอกาสเข้าไปเดินเที่ยวงานในวันแรกๆ เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวบรรยากาศของงานมาฝากท่านผู้อ่านเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา

แต่ก็เชื่อและมั่นใจว่าคนรักหนังสือคงจะไปอุดหนุนซื้อหาหนังสือที่รักที่ชอบตลอดจนเดินดูนิทรรศการ หรือเข้าร่วมฟังการเสวนา การบรรยายและปาฐกถาต่างๆ อย่างหนาแน่น เช่นเดียวกับ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อเดือนเมษายน

สำหรับงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 23” บวกด้วยงาน “เทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนครั้งที่ 12” ครั้งนี้นั้น สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หรือ PUBAT แจ้งข่าวมาล่วงหน้าแล้วว่าจะมีสำนักพิมพ์ต่างๆมาร่วมงานถึง 376 สำนักพิมพ์ 931 บูธ เต็มเนื้อที่กว่า 20,000 ตารางเมตรของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ที่สำคัญจะมีการขนหนังสือมาให้เลือกซื้อเลือกช็อป รวมแล้วกว่า 1 ล้านเล่ม ไม่ต้องกลัวว่าหนังสือจะไม่พอขาย ว่าอย่างนั้นเถอะ

ในส่วนของสถานที่ตั้งของสำนักพิมพ์ต่างๆ นั้น หัวหน้าทีมซอกแซกดูจากแผนที่ที่ได้รับแจกล่วงหน้าแล้ว เชื่อว่าจะอยู่ในที่เดิมที่แฟนๆ หนังสือคุ้นเคยแล้วเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น สยามอินเตอร์มีเดีย เจ้าตำรับหนังสือกำลังภายในจะอยู่ที่บริเวณ A03 ด้านเหนือของ เพลนารีฮอลล์ เช่นเดิม, สำนักพิมพ์ มติชน ก็อยู่ที่โซนพลาซา V10 ที่เดิมอีกนั่นแหละ นานมีบุ๊คส์ ก็อยู่ที่ A12 เพลนารีฮอลล์ หรือฮอลล์ใหญ่ด้านเหนือใกล้ๆสยามอินเตอร์เหมือนเก่า อมรินทร์บุ๊คเซนเตอร์ ก็อยู่ที่ Q26 ที่เดิมเช่นเคยครับ

ผมขออนุญาตยกตัวอย่างประกอบพอสังเขปนะครับเพื่อให้รู้ว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ อยู่ที่เดิม เพราะไม่สามารถตรวจสอบในรายละเอียด ได้ทั้งหมด ต้องขออภัยสำนักอื่นๆ ด้วย ใครเป็นแฟนสำนักไหนก็ไปที่เดิมๆ ที่เคยไปก็แล้วกัน

จุดเด่นอีกประการหนึ่งของงานหนังสือ ไม่ว่าจะเป็น “มหกรรมหนังสือระดับชาติ” หรือ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ก็คือนิทรรศการเรื่องที่น่ารู้น่าสนใจเกี่ยวกับหนังสือ, การเสวนาที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ, การเปิดตัวหนังสือ ใหม่ รวมทั้งการบรรยายหรือปาฐกถาจากบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมไทย

เริ่มจาก นิทรรศการ ซึ่งปีนี้จะมีนิทรรศการหลักๆ อยู่ 3 นิทรรศการ ได้แก่ นิทรรศการ “หนังสือสาบสูญ 3018” ที่บริเวณหน้าห้องเพลนารีฮอลล์ ตามมาด้วยนิทรรศการ “Wonder Land ดินแดนค้นพบตัวตน” ที่ห้องมีทติ้งรูม 1-2 และ สุดท้ายนิทรรศการ “ท่องโลกมหัศจรรย์ของ Hosoda Mamoru จากภาพฝันสู่แผ่นฟิล์ม” ที่โซนฮอลล์เอ

นอกนั้นก็จะเป็นนิทรรศการย่อยๆ ที่น่าสนใจอีกหลายๆนิทรรศการ จัดโดยองค์กรต่างๆ หรือสำนักพิมพ์ที่มาร่วมงาน เช่น นิทรรศการ “หนังสือติดดาว”, “100 ABCD”, “TK Book Rally รู้จักกันผ่านหนังสือ” และ “สื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2” เป็นต้น

ทางด้านการเสวนาเปิดตัวหนังสือดูจากข่าวที่เคยส่งล่วงหน้ามาก่อน จะมีนักเขียน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง ที่หันมาเขียนหนังสือ มาปรากฏตัวหลายท่าน อาทิ ท่าน ว. วชิรเมธี, แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต, ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ, มีชัย วีระไวทยะ, เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, ยืนยง โอภากุล (แอ๊ดคาราบาว) ฯลฯ หลายท่านอาจจะมาเรียบร้อยแล้ว หลายท่านอาจจะมีโปรแกรมมาเปิดตัวเร็วๆนี้ ทีมงานซอกแซกไม่มีรายละเอียดอยู่ในมือ คงต้องฝากให้ไปเช็กกันเอาเอง

ขณะเดียวกันก็อาจจะมีนักเขียนมาแจกลายเซ็นตามบูธหนังสือของสำนักพิมพ์ต่างๆ ซึ่งก็คงต้องไปเสี่ยงดวงกันเองว่าไปแล้วจะเจอใครบ้าง? สำนักพิมพ์ไหนบ้าง?

คุณ สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (PUBAT) แม่งานใหญ่ของมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 บอกผู้สื่อข่าวว่า แนวคิดสำหรับการจัดงานปีนี้ก็คือ “อ่านออกเสียง” หรือการอ่านให้มีเสียงดังนั่นเอง ยิ่งดังเท่าไรก็จะช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ง่ายและได้มากขึ้น

นอกจากนี้ผู้อ่านที่อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน บทความเดียวกัน อาจจะมีความเห็นแตกต่างกัน จึงต้องมีการ “ออกเสียง” เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน

จำได้ว่าเรามักจะอ่านออกเสียงกันในตอนเด็กๆ เริ่มจากการท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ ดังๆ พร้อมๆ กันทั้งห้อง มาจนถึงอ่านเรื่องต่างๆ ที่แต่งไว้สำหรับเด็กๆ ด้วยเสียงดัง ได้ยินไปถึงชายทุ่งสำหรับโรงเรียนประชาบาลในต่างจังหวัด หรือได้ยินไปถึงริมถนนสำหรับโรงเรียนในเมืองพอโตขึ้นก็หันมาอ่านในใจเงียบๆ อยู่คนเดียว จนแทบจะลืมไปแล้วว่าอ่านออกเสียงต้องทำอย่างไรบ้าง

ก็ขอเชิญไปร่วมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 และเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 12 เพื่อกลับไปอ่านออกเสียงกันอีกครั้ง เหมือนสมัยที่เราเป็นเด็ก…งานจะมีไปจนถึงวันที่ 28 ตุลาคม หรือวันอาทิตย์หน้า ซึ่งถ้านับจากวันนี้ก็ยังเหลืออีก 8 วันเต็มๆ

อย่าลืมไปอ่านออกเสียงดังๆ เพื่อเป็นกำลังใจแก่สำนักพิมพ์และคนเขียนหนังสือด้วยนะครับ แฮ่ม! แต่ออกเสียงอย่างเดียวคงไม่พอหรอก ต้องออกเงินหรือควักเงินออกมาซื้อหนังสือด้วย จะคนละเล่ม 2 เล่ม หรือจะซื้อเป็นลังๆ เป็นกล่องๆ ก็ได้เช่นกัน (ไปรษณีย์ไปเปิดบริการรับห่อรับส่งภายใน 24 ชั่วโมงเช่นเคย)

ขอให้ทุกคนช่วยกันซื้อเถอะ…รับรองหนังสือจะไม่มีวันสูญหายไปจากโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็น ค.ศ.3018 หรือ ค.ศ.ไหนก็ตาม

“ซูม”