การรับฟังความคิดเห็นคนอื่น คือวิถีแห่งประชาธิปไตย

เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวตรงกันในกรณีปัญหาขัดแย้งในทางความคิดและการปฏิบัติที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนรวม 2 เรื่องที่ผมอ่านแล้วรู้สึกเบาใจและมีความคาดหวังไปในทางที่ดีขึ้น

เรื่องแรก คือความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพ เภสัชกร กับกระทรวงสาธารณสุข อันสืบเนื่องมาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่อยู่ระหว่างเตรียมการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ แทนฉบับ พ.ศ.2510 ที่บานปลายไปจนถึงขั้นมีการประท้วงจากเภสัชกร และมหาวิทยาลัยที่มีคณะเภสัชศาสตร์ทั้งหลายทั่วประเทศ

ส่วนเรื่องที่สอง เป็นความขัดแย้งระหว่าง สภาวิชาชีพ ที่ตามข่าวว่ามีถึง 11 สภาฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … ในบางมาตรา จนถึงขั้นมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการว่า เพราะเหตุใดจึงไม่เห็นด้วย ดังที่ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวคราวคงจะทราบกันแล้ว

แต่เมื่อวันอังคารที่ 4 กันยายนนี่เอง หนังสือพิมพ์มติชนพาดหัวข่าวหน้า 1 ไว้ว่า “เชิญนายกเภสัชกรจับเข่าหาทางออก ก.ม.ยาวันนี้” อันเป็นข่าวที่คืบหน้าไปในทางที่ดีของกรณีความขัดแย้งเรื่องที่ 1

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์ “มติชน” เช่นกัน ฉบับวันจันทร์ที่ 3 กันยายน ก็พาดหัวไว้ว่า “11 สภาวิชาชีพนัดวิษณุ 6 ก.ย. ถกโละ 4 ปม ก.ม.อุดมศึกษา” ซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในกรณีที่ 2 และแสดงถึงแนวโน้มในทางที่ดีคือจะมีการชี้แจงการพูดคุยเช่นเดียวกัน

ผมยังไม่ทราบในรายละเอียดว่าหลังจับเข่า หรือหลังนัดพบกันแล้ว ผลลัพธ์ในทั้ง 2 เรื่องจะลงเอยอย่างไร? ความขัดแย้งต่างๆ จะยังอยู่หรือไม่? รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายต่อไปหรือไม่? และก็คงจะไม่รอทราบผลอะไรหรอกครับ

เพราะที่ผมกังวลใจอยู่ที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ที่อยู่ในแวดวง หรือเกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นๆ กับรัฐบาลที่ทำหน้าที่ในการร่างกฎหมายและเตรียมการจะเสนอกฎหมายไปตามขั้นตอนเสียมากกว่า

ก็อย่างที่ผมรำพึงรำพันไว้ตั้งแต่เมื่อวานแหละครับว่า การที่เรามีรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หรือที่เรียกกันว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการนั้น สืบเนื่องมาจากความจำเป็น

ถ้าเมื่อตอนที่เราเป็นประชาธิปไตยกันอยู่นั้นพรรคการเมือง 2 ขั้ว จะไม่ทะเลาะกันรุนแรงจนถึงขั้นจะนำบ้านเมืองไปสู่ความวุ่นวาย เราก็คงจะไม่มีรัฐบาลชุดนี้

เมื่อเราจำเป็นต้องปกครองประเทศด้วยระบบนี้ โดยมิใช่ความอยากได้หรือความประสงค์หรือความกระหายในระบบแต่อย่างใดทั้งสิ้น รวมทั้งทุกฝ่ายต่างก็ตระหนักแต่แรกว่าเมื่อจัดทุกสิ่งทุกอย่างให้เข้ารูปเข้ารอยเป็นส่วนใหญ่แล้ว เราก็จะกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยตามเดิม

เราจึงไม่ควรที่จะใช้วิธีหักพร้าด้วยเข่า อยากได้อย่างไร จะเอาอย่างนั้น ไม่ฟังความเห็นของคนอื่นๆ อันเป็นความคิดและวิธีปฏิบัติของผู้ที่มีอำนาจที่เราเห็นกันอยู่เนืองๆ ในประเทศเผด็จการโดยแท้ทั้งหลาย

เราควรจะรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน ควรจะพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล และนำเหตุผลนั้นๆ มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วๆ ไปได้รับรู้ด้วย

จะได้ร่วมคิดร่วมชี้แนะ ร่วมออกความเห็นว่าของใครถูก ของใครผิด อันเป็นแนวทางที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศประชาธิปไตย

ผมจึงดีใจที่ทางฝ่ายรัฐบาลเองมิได้คิดจะเอาชนะคะคานท่าเดียว สั่งให้กลับไปหารือกันใหม่ กลับไปเคลียร์ไปพูดจากันให้รู้เรื่องเสียก่อน

เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าท่านก็ฟังเสียงคนอื่น ไม่ได้คิดจะเอาชนะหรือคิดว่าความคิดของฝ่ายตนถูกต้องเสมอไป

สมดังที่ผมรำพึงรำพันไว้เมื่อวานนี้ว่า คนไทยเราเป็นคนรักประชาธิปไตยอยู่ในสายเลือด ไม่มีใครชอบเผด็จการ และที่จำเป็นต้องใช้ระบบนี้ก็เพราะสถานการณ์บังคับ

การรับฟังคนอื่น การกลับไปทบทวน กลับไปพูดจาอะไรกันใหม่ ถือเป็นขั้นตอนของการแสดงความเห็นในเชิงปรึกษาหารือตามครรลองประชาธิปไตยนั่นเอง

ผมขอเอาใจช่วยให้การพูดคุยจบลงด้วยดีทั้ง 2 เรื่องนะครับ

ซึ่งจะจบแบบไหน เอาแบบใหม่ทั้งดุ้น หรือกลับไปใช้ของเก่าทั้งดุ้น หรือจะพบกันครึ่งทาง คือเจอกันที่ฝ่ายละครึ่งดุ้นก็ว่ากันไปเถิด เพราะคนนอกอย่างเราๆ ก็ไม่รู้อะไรมากอยู่แล้ว

ขอเพียงให้จบลงด้วยดี ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันให้สมกับช่วงเวลาที่เรากำลังจะเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จมาสู่ระบอบ ประชาธิปไตยกันอีกครั้ง…เท่านั้นละครับที่คนแก่อย่างผมอยากเห็น.

“ซูม”