ช่วงนี้โรงเรียนมัธยมที่โด่งดังที่สุดของประเทศไทยคงต้องยกให้ “โรงเรียน” ที่เกิดกรณี “น้องหยก” ไปปีนรั้วข้ามเพื่อประท้วงในหลายๆ เรื่องดังที่เป็นข่าว
เรื่องราวจะจบอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะ ณ นาทีที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ดูเหมือนเหตุการณ์จะยังไม่จบ เพราะมีข่าวว่า “น้องหยก” ยังคงมา “ปีนรั้ว” เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว และอาจจะมา “ปีนต่อ” อีกในวันจันทร์
ผมเองยืนข้างผู้บริหารโรงเรียนเต็มที่ว่าที่แล้วมาตัดสินใจได้อย่างถูกต้องแล้ว แต่ด้วยอุปนิสัยประจำตัวของผมที่เป็นคนรักเด็ก และมองว่าเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาวผืนหนึ่งที่อาจโดนใครสักคนหนึ่งหรือหลายๆ คนสาดสีสาดสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าใส่ทำให้กระดำกระด่าง
อภัยให้เด็กได้ก็อภัยเถิด…ในทางกฎหมายก็ว่ากันไปแต่ในทางสังคมผมยังอยากให้มองเด็กในแง่ดีไว้ (แม้ระหว่างดู “ไลฟ์สด” จะรู้สึก “โกรธ” ในพฤติกรรมและวาจาของเด็กคนนี้เพียงใดก็ตาม)
อายุของเธอเพียงแค่ 15 ปีเท่านั้น โอกาสปรับตัวปรับความคิดในอนาคตยังมีอีกเยอะครับ
ที่ผมจะเขียนถึง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในวันนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับข่าวที่เกิดขึ้นก็คงจะเป็นความเห็นสั้นๆ เพียงเท่านี้
ขออนุญาตเขียนถึงโรงเรียนนี้ในแง่มุมอื่นดีกว่าในฐานะที่ผมรู้จักโรงเรียนนี้มานานและมีความผูกพันทางใจอยู่พอสมควร
ตามประวัติที่มีการเผยแพร่ในสื่อมวลชนขณะนี้ ระบุว่าเดิมโรงเรียนนี้ชื่อ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 2” ใช้อักษรย่อว่า “ต.อ.2.” เป็นสาขาของ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (ถนนพญาไท) โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2521
เท่าที่ผมทราบมาในช่วงก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกมาเรียกที่ดินคืนจากสถานศึกษาและสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น วิทยาลัยก่อสร้างอุเทนถวาย (ขออนุญาตเรียกชื่อเดิมที่คุ้นเคย) และ กรมพลศึกษา (รวมทั้งสนามศุภชลาศัยด้วย) เป็นต้น
แม้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์ฯ เพราะเมื่อแรกก่อตั้งก็คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่ง จุฬาลงกรณ์ …ก็มีข่าวว่าจะโดนเรียกคืนด้วยเช่นกัน
ผู้บริหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษายุคนั้นจึงเตรียมหาทางหนีทีไล่เอาไว้ หากถูกจุฬาฯ เรียกคืนจะได้มีโรงเรียนเป็นของตนเอง
ในที่สุดก็มาได้ที่ดินบริเวณบ้านเอื้อสุข ถนนพัฒนาการ โดยการบริจาคของ “เจ้าสัวอื้อ จือเหลียง” มหาเศรษฐีท่านหนึ่งของประเทศไทยในอดีต
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ จึงได้ชื่อว่ามีความผูกพันกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาใหญ่มากที่สุด
ก่อนหน้านี้ แม้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จะออกไปช่วยพัฒนาโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้มีมาตรฐานสูงขึ้น แต่ก็ดำเนินการแค่ส่งครูบาอาจารย์ และผู้บริหารไปช่วยเท่านั้น เช่น ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นต้น
ต่างกับ “เตรียมอุดม 2” หรือ “เตรียมอุดมพัฒนาการ” หรือ “เตรียมพัฒน์” ที่เปรียบเสมือนโรงเรียน “สำรอง” ที่เตรียมอุดมใหญ่จัดตั้งไว้ เพื่อเป็นทางหนีทีไล่ของตนเอง
หลายปีต่อมาก็มีข่าวว่าโรงเรียนเตรียมพัฒน์ได้ ผอ.ท่านใหม่ ชื่อ ผอ.ลัดดา (เผือกวัฒนะ) ตระหง่าน ซึ่งเป็นภริยาของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (มนตรี ตระหง่าน) ใน พ.ศ.นั้น
ท่าน ผอ. ลัดดา เคยเป็นอาจารย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเก่า และเป็นอาจารย์ประจำชั้น ห้อง 39 ที่ผมเรียน ชั้นเตรียม 1 ตึก 1 จึงมีความผูกพันทางใจกับผม และเพื่อนมาตั้งแต่ พ.ศ.2501 โน่นแล้ว
จำได้ว่าผมเคยแวะไปกราบอาจารย์ลัดดาที่เตรียมพัฒน์อยู่ครั้งหนึ่ง ก่อนที่ท่านจะย้ายไปเป็น ผอ. โรงเรียนสตรีวิทยา
ผมถึงได้บอกว่า ผมรู้จักและคุ้นเคยกับ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ อย่างดียิ่ง
ป.ล.ผมยังมีเรื่องราวของเตรียมพัฒน์ต่ออีกวันนะครับ…นั่นก็คือการขยายโอกาสและแบ่งปันการศึกษาที่เป็นเลิศไปสู่โรงเรียนใหม่ๆ และโรงเรียนต่างจังหวัดอีกหลายต่อหลายโรงเรียน
เรื่องนี้ “ไทยรัฐออนไลน์” เคยลงไว้แล้ว แต่ผมอยากจะนำมาบันทึกไว้เป็นเกียรติประวัติในคอลัมน์ผมด้วย…พรุ่งนี้มาลุ้นกันนะครับว่า “เตรียมอุดมฯ พัฒนาการ” วันนี้มีกี่สาขาทั่วประเทศไทย?
“ซูม”