ขอบคุณอดีต “บิ๊ก” แบงก์ชาติ เตือนสติทั้ง “ธปท.+รัฐบาล”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีการจัดเสวนาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า “แบงก์ชาติ” ในหัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้ากับผู้ว่าการ ธปท.” โดยเชิญอดีต “บิ๊ก” หรือผู้ว่าการแบงก์ชาติ มาร่วมแสดงความคิดเห็นถึง 6 คน…เป็นข่าวใหญ่พาดหัวหน้าเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ

เนื่องจากงานนี้จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ผมจึงเดาว่า วัตถุประสงค์หลักจึงน่าจะเป็นการขอความคิดความเห็นจากอดีตผู้ว่าการทั้งหลาย ซึ่งผ่านการบริหาร ธปท.กันมาอย่างโชกโชน ว่าบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อนี้ไปควรจะเป็นอย่างไร และควรทำงานหรือดำเนินการในลักษณะไหน จึงจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมากที่สุด

แต่อาจเป็นเพราะในช่วงอารัมภบทของแต่ละอดีตผู้ว่าการนั้นจำเป็นจะต้องพูดถึงข้อเท็จจริงทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการคลังปัจจุบันประกอบไปด้วย…ข่าวจึงออกมาในทำนองว่า อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ “จวก” รัฐบาลเละ…มีทั้งในประเด็นจ่ายเงินอย่างไร้เป้าหมาย ก่อหนี้สูง และขาดดุลการคลังอย่างน่าห่วงใย ฯลฯ

ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่สมควรแก่การติงการเตือน ให้รัฐบาลรู้ตัวไว้บ้างเพราะพวกเราที่เป็นสื่อสารมวลชนทั้งติงทั้งเตือนและบางครั้งก็ “จวก” ดังเช่นสำนวนการพาดหัวของสื่อบางฉบับที่ผมยกตัวอย่าง…แต่ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลท่านจะเฉยๆ เหมือนทองไม่รู้ร้อน

ได้อดีตบิ๊กผู้ว่าการ ธปท.ซึ่งล้วนเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินการคลังมีชื่อเสียง และ 2 ท่านเคยอยู่ในรัฐบาลนี้มาแล้ว เช่น ท่านอดีตผู้ว่าการ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐบาลโดยบิ๊กตู่ท่านอาจจะรับฟังบ้างก็ได้

จึงขอถือโอกาสนี้ขอบคุณอดีตท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งสำหรับคำติงคำเตือนดังกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อเราอ่านข่าวโดยละเอียดก็จะพบว่าในส่วนของประเด็นข้อคิดความเห็น หรือข้อเสนอแนะในการทำงาน ในการวางตัวหรือ วางนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตนั้น อดีตผู้ว่าการทุกท่านก็ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ด้วยเช่นกัน

เพียงแต่ว่าซุกๆ อยู่ในเนื้อข่าว และไม่หวือหวาอะไรมากนัก หนังสือพิมพ์จึงมิได้นำมาพาดหัวเท่านั้นเอง

มีผู้สรุปว่า “ของฝาก” ที่อดีตบิ๊ก ธปท.ฝากไว้นั้น มีรายละเอียดในทางนโยบายและการปฏิบัติอันทรงคุณค่าหลายต่อหลายหัวข้อ

สามารถแยกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ด้วยตัวอักษร ย.ยักษ์ 6 ตัว ได้ว่า “ยืนหยัด”–“ยืดหยุ่น”-และ “หยิบยื่น” น่าสนใจมากทีเดียว

เสียดายที่คอลัมน์ผมไม่มีเนื้อที่พอจะนำมาลงสู่กันอ่านได้…ท่านที่สนใจกรุณาไปเปิดอ่านในคอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” ในหน้า 8 ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ 9 เมษายนก็แล้วกัน…ผู้เขียนซึ่งได้แก่ ดร.นครินทร์ อมเรศ สรุปเอาไว้อย่างครบถ้วน

หวังว่าท่านผู้ว่าการ ธปท. ท่านปัจจุบันและผู้บริหารระดับสูงทุกๆ ท่านของแบงก์ชาติจะได้อ่านบทความนี้ และนำ “การบ้าน” ที่อดีตผู้ว่าการฝากไว้ ไปตีความ ไปขยายความสู่นโยบายและการปฏิบัติ ให้เกิดผลนับจากนี้เป็นต้นไป

โดยส่วนตัวผมเองแม้จะห่วงเรื่องสถานการณ์การคลังของรัฐบาลตลอดจนการกู้เงินต่างๆ อย่างมากและได้เขียนถึงไปแล้วหลายครั้ง

แต่ขณะเดียวกันผมก็เป็นห่วงด้านสถานการณ์ “การเงิน” และ “การธนาคาร” ของประเทศชาติด้วย ไม่น้อยไปกว่าที่ผมเป็นห่วงด้านการคลังเลย

อย่าลืมว่าความผิดพลาดทางนโยบายการเงินได้ทำให้ประเทศไทยบาดเจ็บสาหัสมาแล้ว ในยุค “ต้มยำกุ้ง” เมื่อ 25 ปีก่อน ซึ่งตัวละครต่างๆ ยังโลดแล่นอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาจนถึงบัดนี้

ทำให้ผมฝังใจนับตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเวลาประเทศของเราเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ เราจะต้องดูกันให้ครบถ้วนทุกมิติ จะมาห่วงเฉพาะด้าน “การคลัง” อย่างเดียวไม่ได้ ด้าน “การเงิน” นั่นแหละสำคัญนักจะต้องจับตาดูด้วยควบคู่กันไป

ผมถึงได้บอกว่า “สบายใจ” และ “โล่งใจ” ไปหลายเปลาะ ที่ 6 อดีตผู้ว่าการ ธปท. ที่มาเสวนามิได้ “ติง” นโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างเดียวเท่านั้นแต่ได้แนะนำการบริหารนโยบายการเงินควบคู่ไปด้วย

หวังว่าระมัดระวังกันครบทุกมิติเช่นนี้แล้ว…เราคงไม่พลาดเหมือนในอดีตอีกนะครับ ท่านรัฐมนตรีคลังและท่านผู้ว่าการ ธปท.ปัจจุบัน?

“ซูม”

ข่าว, นโยบาย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, การเงิน, เศรษฐกิจ, ซูมซอกแซก