เที่ยว “เมืองรอง” ธนบุรี ฉลอง “สงกรานต์” 2567

นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ผมตัดสินใจนอนอยู่บ้านที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยไม่ออกเดินทางไปค้าง หรือท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ เหมือนในอดีต

น่าจะสิบกว่าปีมาแล้วละครับ ที่ผมค้นพบว่า กรุงเทพมหานครในช่วงสงกรานต์เป็นช่วงที่น่าอยู่ที่สุด เพราะพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ จะไปเที่ยวตามจังหวัด หรือไปเที่ยวเมืองนอก ส่งผลให้ถนนในกรุงเทพฯ ว่างโล่งสามารถเดินทางไปโน่นไปนี่ได้อย่างรวดเร็ว

แม้จะมีการจัดงานหรือเล่นน้ำสงกรานต์กระจัดกระจายทั่วทั้งกรุงเทพฯ แต่เขาก็จะเล่นเป็นจุดๆ เป็นย่านๆ ซึ่งเราจะรู้ล่วงหน้า และขับรถหลบเลี่ยงไม่ผ่านจุดนั้นๆ ซะ ก็จะไม่เจอปัญหาการจราจรใดๆ เลย

แถมทางด่วนทุกสายในเมืองก็จะเปิดให้ใช้ฟรีถึง 3 วัน 13-14-15 เมษายนด้วย ทำให้ทางด่วนกลายเป็น “ทางด่วน” ที่แท้จริง มิใช่ “ทางด้วน” หรือทาง “หวานเย็น” ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง อย่างช่วงเช้าๆ เย็นๆ ของวันทำงานในปัจจุบันนี้

เมื่อรถในกรุงเทพฯเหลือน้อยลง และไม่มีด่านมาคอยดักเก็บสตางค์ ทำให้รถต้องหยุดชำระเงิน การเดินทางจากบ้านผมที่บางกะปิ ไปเยี่ยมเพื่อนๆ หรือไปหาของอร่อยรับประทาน แถวๆ บางแค แถวๆ พุทธมณฑล จึงใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเศษๆเท่านั้น

แม้จะมีจุดเสียอยู่บ้าง ที่เพื่อนๆ มักจะไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือต่างประเทศกันเป็นส่วนใหญ่ และร้านอาหารอร่อยๆ ก็มักจะปิดช่วงสงกรานต์ เพราะพนักงานลากลับบ้านกันหมด แต่ผมก็ชอบที่จะขับรถตระเวนไปทั่ว กทม.และปริมณฑลอยู่เสมอๆ ในช่วงวันหยุดสงกรานต์

ปีนี้ผมปักหมุดไว้ที่ “วงเวียนใหญ่” _ธนบุรีครับ เพราะไม่ได้ผ่านมานานมากแล้ว วางแผนไว้ว่าจากบางกะปิจะขึ้นทางด่วนไปข้าม สะพานพระราม 9 หรือสะพานขึง ที่ชาวบ้านมักเรียกสะพานแขวน แล้วก็จะเลี้ยวเข้า ถนนสุขสวัสดิ์ ไปเรื่อยๆ เพื่อดูบรรยากาศของฝั่งธนฯ บริเวณดังกล่าวไปด้วย

แม้ตลอดเส้นทางจะมีการก่อสร้างเป็นระยะๆ เพราะกำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีม่วงใต้ จากเตาปูนไปสู่ราษฎร์บูรณะ แต่ด้วยจำนวนรถที่บางตาทำให้การเดินทางของผมกับครอบครัวฉลุยไปตลอด

ติดแยกไฟแดงต่างๆ บ้างก็ใช้เวลานิดเดียว เพราะแถวรถยาวไม่กี่คันไม่ต้องรอ 2 ไฟ 3 ไฟ อย่างวันปกติ

โดยเฉพาะก่อนถึง วงเวียนใหญ่ กับช่วงที่ผ่าน วงเวียนใหญ่ ไปแล้ว เช่น สี่แยกบ้านแขก หรือเส้นทางไปขึ้นสะพานพุทธกับสะพานปกเกล้า พื้นที่จราจรลดไปเยอะ เพราะมีเครื่องมือก่อสร้างวางอยู่เต็มไปหมด

ครอบครัวเราก็ยังสามารถใช้เวลาประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ขับรถมาถึงสะพานพระปกเกล้า ที่คู่ขนานสะพานพระพุทธยอดฟ้า ข้ามสู่ย่านพาหุรัดของฝั่งพระนครอย่างสะดวกสบาย

ผมแทบไม่มีโอกาสเดินทางมาบริเวณนี้เลยหลายปี ดังได้กล่าวไว้แล้ว จึงรู้สึกตื่นตาตื่นใจและตื่นเต้นแทนพี่น้องชาวธนบุรีอย่างยิ่ง

สมัยเมื่อ 60 ปีก่อนตอนผมเข้ากรุงเทพฯ ใหม่ๆ ยังแยกกันเป็นจังหวัดพระนคร กับจังหวัดธนบุรี และมีแม่น้ำเจ้าพระยาขวางกั้นอยู่

ดูเหมือนว่าความเจริญจะอยู่ทางฝั่งพระนครค่อนข้างมาก ทำให้ธนบุรีเหมือนเป็นจังหวัดเล็กๆ (สมัยนี้คือ เมืองรอง ว่างั้นเถอะ) โดนข่มรัศมีเสียเกือบหมด แต่หลังจากรวมกันเป็นกรุงเทพมหานครแล้ว การพัฒนาจึงค่อยๆ กระจายข้ามไปทางฝั่งธนบุรีมากขึ้น

ยิ่งช่วงหลังๆ นี้ไม่ต้องห่วงเลย รถไฟฟ้าทั้งลอยฟ้าและใต้ดินพุ่งไปย่านธนบุรีหลายต่อหลายสาย รวมทั้งสาย สีม่วงใต้ ที่จะวิ่งออกจากเตาปูนรอดใต้ดินไปทางรัฐสภาเลี้ยวรอดบางกระบือ บางลำพู ไปสะพานพุทธ วงเวียนใหญ่ สำเหร่ จนสุดท้ายที่สถานีราษฎร์บูรณะ อย่างที่ว่า

เสร็จเมื่อไหร่ พี่น้องชาวฝั่งธนบุรีก็สามารถจะเดินทางแบบขึ้นรถลอยฟ้าและรถใต้ดินไปโน่นนี่สะดวกสบายไม่แพ้ชาว กทม.

ขอบคุณวันหยุดสงกรานต์ 2567 นะครับ ที่ทำให้ผมมีโอกาสตระเวนเข้าสู่บริเวณใจกลางของกรุงธนบุรีได้อย่างครบถ้วนอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษๆ เท่านั้นเอง

ได้เห็นการพัฒนาและความเจริญเติบโตของฝั่งธนบุรีอย่างเต็มตา แทบจะไม่แพ้ฝั่ง กทม.เลย บางอย่างดูเหมือนจะล้ำฝั่งพระนครไปแล้วด้วยซ้ำ

ย่านบางกะปิบ้านผมยังสู้ไม่ได้เลยครับในช่วงเวลานี้.

“ซูม”

เที่ยว, เมืองรอง, ธนบุรี, ฉลอง, สงกรานต์, 2567, วงเวียนใหญ่, รถไฟใต้ดิน, บทความ, ไลฟ์สไตล์, ท่องเที่ยว, อาหาร, ข่าว,​ ข่าววันนี้, ซูมซอกแซก