“เศรษฐกิจไทย” เริ่มฟื้น? งาน “หนังสือ+รถยนต์” คนทะลัก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาผมแวะไปเดินที่งาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52” และ “สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มาเรียบร้อยแล้วครับ

น่าจะเป็น “วันรองสุดท้าย” ของงานปีนี้แล้ว…ช่วงที่ผมไปเดินน่าจะบ่าย 2 กว่าๆ ปรากฏว่าผู้คนแน่นขนัดไปหมด ซื้อโน่นซื้อนี่ไม่หยุดมือ ทั้งหิ้ว ทั้งหอบ ทั้งลาก ทั้งเข็น เห็นภาพแล้วก็ปลื้มใจอย่างเหลือเกิน

ปีนี้ผมไม่ค่อยเห็น “กระเป๋าเดินทาง” ที่แฟนๆ ลากมาขนหนังสือกลับบ้าน อาจเป็นเพราะผมเดินเข้างานไม่ลึกนัก และก็เดินไปหยุดไปตลอดตามประสาผู้อาวุโสที่กำลังขาเริ่มเหลือน้อย จึงเจอ “กระเป๋าเดินทาง” ลากหนังสือแค่ 2-3 ใบ

แต่ที่เจอเยอะจนผิดสังเกตกลายเป็น “รถเข็น” ซื้อกับข้าวน่ะครับ ที่เขาออกแบบเป็นตะแกรง และเวลาไปตลาดสดจะเห็นแม่บ้านทั้งหลายเดินเข็นรถประเภทนี้ซื้อกับข้าวเต็มไปหมดนั่นแหละ

ผมเห็นปุ๊บก็บอกภรรยาผมเลยว่าปีหน้ามาอีกพ่อจะเข็น “รถกับข้าว” มาด้วย ปีนี้ก็ว่าจะเอาแล้วเชียวนะ แต่กลัวเชย นึกไม่ถึงว่าจะมีผู้อาวุโสใจเดียวกันเข็นรถกับข้าวมาซื้อหนังสือนับเป็นสิบๆ คันเลยทีเดียว

ข้อดีของรถกับข้าวคือ ใช้เข็นแล้วเดินไปข้างหน้า จึงคล้ายๆ กับ “เครื่องช่วยเดิน” หรือ “วอล์กเกอร์” ที่เวลาเราไปผ่าตัดมา คุณหมอจะให้เราใช้วอล์กเกอร์ช่วยพยุงให้เราเดินได้ดีขึ้นในช่วงฟื้นตัวแรกๆ

การมีอะไรให้จับหรือเกาะในการเดินไปข้างหน้าแบบรถเข็นซื้อกับข้าวจะสร้างความมั่นใจในการเดินให้แก่ผู้อาวุโส มากกว่าการ “ลากกระเป๋า” ซึ่งจะต้องลากมาข้างหลังและเดินไม่สะดวกนัก

ทุกวันนี้ผมก็ใช้รถเข็นซื้อกับข้าว เข็นไปเดินเล่นที่ตลาดเช้าข้างสวนสาธารณะใกล้บ้านผมทุกเสาร์อาทิตย์ เพราะช่วยในการเดินได้เป็นอย่างดี ไม่เหนื่อยเกินไปเหมือนเดินธรรมดา ปีหน้าผมจะเข็นรถกับข้าวไปซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแน่นอนครับ

บรรยากาศอื่นๆ ของงานสัปดาห์หนังสือปีนี้ก็ดีมากๆ นิทรรศการนี้อยู่ด้านนี้ นิทรรศการโน้นอยู่ด้านโน้น…ส่วนใหญ่จะอยู่นอกฮอลล์ขายหนังสือเดินดูเดินอ่านได้อย่างสะดวก

ผู้คนที่มาเที่ยวงานก็มีทุกรุ่นทุกวัยครับ ตั้งแต่ “สว.” อย่างผมไปจนถึงกลุ่มกลางคน และวัยรุ่นนักเรียนนักศึกษา จนถึงเด็กน้อยระดับประถม ระดับอนุบาล ที่พ่อแม่จูงมือมามากเป็นพิเศษ

ปลื้มใจครับที่หนังสือ “ยังไม่ตาย” และผู้คนก็ยังไปเที่ยวงานหนังสือกันอย่างล้นหลาม ซึ่งผมกำลังรอรายงานจาก PUBAT ผู้จัดงานครั้งนี้ว่า ยอดจะออกมาเท่าไร?…เกินล้านน่ะเกินแน่ อย่าให้แพ้งานรถยนต์ หรือ “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์” ก็แล้วกันครับ

พูดถึงงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์” ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 45 ผมก็เอาใจช่วยอยู่มาก เพราะเป็นเพื่อนกับท่านประธานจัดงาน เสี่ยปราจิน เอี่ยมลำเนา คนวัยเดียวกัน และเติบโตมาในสายสื่อสารมวลชนด้วยกัน

ไม่เพียงว่าจะลุ้นเพราะเป็นงานเพื่อนเท่านั้น แต่ผมยังลุ้นในฐานะที่งานนี้จะใช้เป็นเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจได้ดีพอสมควรงานหนึ่ง

ถ้ารถยนตร์ขายดี คนไปเที่ยวงานแน่นขนัด และเต็มไปด้วยความคึกคักและครึกครื้น ก็พอจะใช้เป็นเครื่องชี้วัดได้ทางอ้อมๆประการหนึ่งว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะกำลังฟื้นตัว

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง แสดงว่าเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่เลวร้ายเกินไป เพราะผู้คนกลุ่มหนึ่งยังมีกำลังเงิน กำลังทรัพย์พอที่จะซื้อรถยนต์กันได้อยู่

งาน “รถยนต์” เลิกก่อนงานหนังสือ 1 วัน ผลปรากฏว่ามียอดจองถึง 58,611 คัน หรือเติบโตขึ้น 27.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

แยกออกเป็นรถยนต์ทั่วไป 53,438 คัน รถไฟฟ้า (EV) 17,517 คัน และจักรยานยนต์ 5,173 คัน

ส่วนยอดผู้เข้าชมงานรวมทั้งสิ้น 1,610,972 คน ไม่ได้บอกมาด้วยว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วหรือไม่ แต่ผมเทียบกับตัวเลขที่ผมเคยจดไว้ปี 2563 ซึ่งอยู่ราวๆ 1 ล้านกว่านิดๆ และปี 2564 ประมาณ 1 ล้าน 3 แสนคนนั้น…ปีนี้ 1 ล้าน 6 แสนกว่าคน ก็ต้องถือว่าดีขึ้นอย่างมาก

ผมกำลังรอตัวเลขรายงานสรุปของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติอยู่ครับ…โดยเฉพาะตัวเลขคนไปเที่ยวงาน…งานรถยนต์เขาออกมาแล้วว่า 1.6 ล้านเศษๆ ผมเชียร์งานหนังสือมากกว่างานเพื่อนปราจินนิดหน่อย อยากเห็นงานหนังสือชนะครับ…ขอสัก 1.7 ล้านคนก็แล้วกัน.

“ซูม”

เศรษฐกิจไทย, งานหนังสือ, รถยนต์, สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ, บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์, ยอดผู้เข้าชม, ข่าว, ข่าววันนี้, ซูมซอกแซก