เทศกาลเที่ยวเมืองไทย อีกหนึ่ง “ตำนาน” งานดัง

ซอกแซกสัปดาห์ที่แล้วเขียนถึง “งานดัง” ในตำนานที่มีการจัดอย่างต่อเนื่องมายาวนานรวม 2 งาน อันได้แก่ “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” และ “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์”…โดยงานแรกจัดมาแล้ว 51 ปี ส่วนงานหลังก็จะย่างเข้าปีที่ 45 ในปีนี้

จริงๆ แล้วยังมีอีกหนึ่งงานครับที่จัดมากว่า 40 ปีเช่นกัน แต่เนื้อที่ซอกแซกสัปดาห์ก่อนไม่พอจึงต้องขยักไว้มาเขียนถึงในสัปดาห์นี้

นั่นก็คืองาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ที่ประกาศมาหลายวันแล้วว่า สำหรับปีนี้ 2567 จะเป็นครั้งที่ 42 และกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 1 เมษายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อีกสี่ซ้าห้าวันข้างหน้านี้เช่นกัน

นอกจากจะเป็นงานเก่าแก่ที่จัดติดต่อกันมายาวนาน มีว่างเว้นไปแค่ 2 ปี ช่วงโควิด-19 ระบาดเท่านั้น งานนี้ยังถือได้ว่าเป็น “กิจกรรม” หลัก ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยกิจกรรมหนึ่งเลยทีเดียว

มีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันให้ “อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว” (ใช้คำศัพท์แบบยุคก่อน) ของประเทศ ไทย เจริญเติบโตกลายเป็นอุตสาหกรรมด้านบริการที่ทำเงินให้แก่ประเทศไทยอย่างมหาศาล

การจัดงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” ครั้งแรก เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.2523 อันเป็นปีที่รัฐบาลไทยประกาศให้เป็นปี “ท่องเที่ยวประเทศไทย” หรือ “Visit Thailand Year” ขึ้นเป็นปีแรก ณ บริเวณสวนอัมพรโดยดัดแปลงมาจากการแสดงศิลปวัฒนธรรม 4 ภาคของประเทศไทยที่มีการจัดอยู่บ้างอย่างไม่เป็นทางการก่อนหน้านี้

ทำให้ “ธีม” หรือแนวทางการนำเสนอหลักๆ ของงานนี้คือ การโชว์ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยทั้ง 4 ภาค ซึ่งก็ยังคงเป็นแนวทางนำเสนอในปัจจุบันนี้ เพียงแต่เพิ่มภาคตะวันออก ซึ่งมีจุดเด่นของการท่องเที่ยวอยู่มากให้มาเป็นภาคที่ 5 อีก 1 ภาค

น่าเสียดายที่การค้นหาทางออนไลน์ ซึ่งยังมีการนำเข้าระบบไม่ครบถ้วน ทำให้ไม่ทราบว่าจาก “สวนอัมพร” ในปีแรกแล้ว งาน เทศกาลเที่ยวเมืองไทย ไปจัดครั้งต่อๆ มา ณ สถานที่ใดบ้าง?

จนกระทั่ง พ.ศ.2543 จึงได้มีการจัดใหญ่และมีการบันทึกไว้ว่า เป็นการจัดเนื่องในโอกาสครบ 40 ปีของ ททท. และระบุชัดเจนว่า จัดขึ้นที่ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี

ต่อมา พ.ศ.2544 ก็มีการจัดต่อเนื่อง ณ อาคารชาเลนเจอร์ และมีการประเมินผลอย่างละเอียดด้วย พบว่า ประสบความสำเร็จอย่างสูงมีประชาชนมาเข้าชมงานถึง 862,216 คน ในช่วง 10 วันของการจัดงาน

เทศกาลเที่ยวเมืองไทยปักหลักจัดงานที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานีจนถึง พ.ศ.2557 เป็นปีสุดท้าย รวมเวลาแล้วจัดอยู่ที่นี่ถึง 15 ปีเต็มๆ ก่อนจะโยกย้ายไปจัดที่ สวนลุมพินี นับแต่ปี 2558 และจัด ณ สวนสาธารณะแห่งนี้ติดต่อกันอีก 5 ปี จนถึง พ.ศ.2562 แล้วก็ต้องหยุดจัดในปี 2563 และ 2564 เพราะโควิด-19 ระบาดนั่นเอง

ททท.กลับมาจัดที่ สวนลุมพินี อีกครั้งใน พ.ศ.2565 จากนั้นก็เปลี่ยนไปจัดที่ ศูนย์การประชุม แห่งชาติสิริกิติ์ ในปี 2566 และปีนี้ 2567 ซึ่งเป็นการจัดครั้งที่ 42 ก็จะอยู่ที่ศูนย์การประชุม แห่งชาติสิริกิติ์ต่อไปอีกครั้ง

ในทัศนะของหัวหน้าทีมซอกแซก ซึ่งมีโอกาสไปเดินชมงานที่ อาคารชาเลนเจอร์ ไม่ต่ำกว่า 5-6 ครั้ง ที่สวนลุมฯ 3 ครั้ง และล่าสุดที่ศูนย์สิริกิติ์ 1 ครั้ง (เพราะเพิ่งจะมาที่นี่เป็นครั้งแรก) ขอโหวตให้การจัดงานที่ สวนลุมพินี เป็นการจัดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและประทับใจที่สุด

มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ได้ไปเที่ยวทั่วประเทศไทยตามภาคหรือจังหวัดต่างๆมาจริงๆ เพราะด้วยเนื้อที่อันกว้างขวางจึงสามารถสร้างหรือจำลองสถานที่อันมีชื่อเสียงของจังหวัดต่างๆ มาไว้ในสวนลุมพินีได้เกือบเท่าๆของจริง

การแสดงของแต่ละภาคก็ใส่กันได้เต็มที่ไม่ต้องกลัวว่า เสียงจะไปรบกวนภาคอื่นๆ อาหารการกินก็อร่อย เพราะปรุงกันควันคุ้งไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้ห้องแอร์เหม็นอับแต่อย่างใด ฯลฯ และ ฯลฯ

จึงรู้สึกเสียดายที่ย้ายกลับมาเข้าห้องแอร์ของ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อปีกลาย

อาจเป็นเพราะหัวหน้าทีมซอกแซกคุ้นเคยกับอาคารชาเลนเจอร์และต่อมาก็ปรับตัวมาคุ้นเคยกับงานที่สวนลุมพินีไปเสียแล้วก็ไม่รู้

พอเข้าไปเดินในศูนย์สิริกิติ์ จึงรู้สึกเหมือนไม่คุ้นเคยและไม่ค่อยเต็มอิ่มกับบรรยากาศรอบๆ งานเท่าไรนัก

แต่ก็จะพยายามปรับตัว ปรับความรู้สึกต่อไปครับ เพราะเชื่อว่า ททท.ท่านก็คงรู้จากการประเมินผลของท่านว่า “สวนลุมพินี” น่าจะเรียกคนได้มากสุด ทว่า อาจมีปัญหาอื่นใดที่บุคคลภายนอกไม่สามารถรับรู้ จึงต้องโยกย้ายมาจัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แทน

ตราบใดที่ยังมีการจัดงานนี้งานที่หัวหน้าทีมซอกแซกถือว่า เป็นงานในตำนานเคียงคู่กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาตั้งต้น จึงขอเอาใจช่วยตลอดไปครับ และยังไงๆ ปีนี้ก็ต้องไปเดินชมงานอย่างแน่นอนครับ

28 มีนาคม-1 เมษายนนี้ ขอเชิญมิตรรักนักท่องเที่ยวและคนรักประเทศไทยไปเที่ยวงานอย่างพร้อมเพรียงนะครับ

ไปแบบใช้กระสุนนัดเดียวยิงนกได้ 2 ตัว เพราะอีกหนึ่งงานในตำนานที่จะจัด ณ ศูนย์สิริกิติ์ เช่นกัน จะทับซ้อนกันพอดีแถมเปิดงานวันเดียวกันเสียด้วยคือ “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” ครั้งที่ 52 (28 มี.ค.-8 เม.ย.)

นั่งรถใต้ดินไปขบวนเดียวตีตั๋วหนเดียวเที่ยวได้ 2 งานใหญ่เลยนะครับเนี่ย.

“ซูม”

เทศกาลเที่ยวเมืองไทย, การท่องเที่ยวไทย, ท่องเที่ยว, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, สวนลุมพินี, ศิลปวัฒนธรรม, ข่าว, ข่าววันนี้, ซูมซอกแซก