มอง “สัมพันธ์” ไทย-อินโดนีเซีย ผ่าน “Permata Bank”

ก็มาถึง Ep. สุดท้ายของมินิซีรีส์ชุด “เยือนอินโดนีเซีย 2024” ของผมที่ลงติดต่อกันในคอลัมน์นี้มาตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่แล้ว (เว้นวันเสาร์วันเดียว) ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจบ้าง เรื่องเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่บ้าง ฯลฯ

มาหยุดอยู่ที่เรื่องของ Permata Bank ธนาคารอินโดนีเซียที่แบงก์บัวหลวงหรือ ธนาคารกรุงเทพ ของเราไปซื้อหุ้นเอาไว้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และปัจจุบันเมื่อยุบธนาคารสาขาอีก 4 แห่งของบัวหลวงในอินโดฯไปรวมด้วยผมก็เห็นตัวเลข ล่าสุดระบุว่าบัวหลวงถือหุ้นธนาคารนี้ ณ ปัจจุบันนี้ 98.7 เปอร์เซ็นต์

ผมเล่าไว้แล้วถึงสาเหตุของการไปซื้อหุ้น Permata ซึ่งธนาคารกรุงเทพเห็นว่าคุ้มค่าในการลงทุนแน่นอนด้วยเหตุผลต่างๆ และเมื่อซื้อได้โดยสมบูรณ์เมื่อปี 2020 หรือ 2563 และดำเนินกิจการมาจนถึงบัดนี้ 2567 ก็ปรากฏว่าธนาคาร Permata มีกำไรมาโดยตลอดอย่างที่คาดไว้

ผมขออนุญาตไม่ลงลึกในรายละเอียดของผลประกอบการของ ธนาคารนี้ในปัจจุบัน เป็นตัวเลขของผลกำไรสุทธิหรือของรายได้รายจ่ายตลอดจนมูลค่าทรัพย์สินนะครับ เพราะตัวเลขของอินโดนีเซียจะออกมาสูงมากจนปวดหัว เพราะค่ารูเปียของเขาเทียบกับเงินบาทหรือดอลลาร์แล้วตัวเลขเยอะมากๆ (1 บาทเท่ากับ 440 รูเปีย 1 ดอลลาร์เท่ากับ 15,650 รูเปีย)

พอรายงานเป็นรูเปียจะออกมาเป็นหลายๆ ล้านลายตาไปหมด

ขอใช้เป็นเปอร์เซ็นต์ดีกว่าพอให้เห็นภาพกว้างๆ…ท่านที่สนใจรายละเอียดโปรดเข้ากูเกิลพิมพ์คำว่า Permata Bank Performance ก็จะมีข้อมูลแบบตัวเลขสูงลิบๆ ออกมาให้อ่านพอสมควรทีเดียว

จึงขอสรุปสั้นๆ ว่าไม่นับช่วงโควิด-19 ระบาด ซึ่งเป็นช่วงแรกๆ ของการเข้าควบรวมของธนาคารกรุงเทพแล้วไซร้ ปรากฏว่าปี 2565 ซึ่งฟื้นตัวแล้วแบงก์นี้มีกำไรถึง 64 เปอร์เซ็นต์

ตัวเลขปี 2566 หรือปีที่แล้วกำไรยังไม่ออกมา แต่เพียงแค่ 9 เดือนแรกเขาก็บอกว่ามีผลกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง แม้เปอร์เซ็นต์จะลดลงบ้าง แต่ก็กำไรโดยรวมสูงอยู่นั่นเอง และที่แข็งแกร่งมากก็คือมูลค่าสินทรัพย์ที่โตขึ้นถึง 14 เปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันเพอร์มาตา แบงก์ มีลูกค้าเกือบ 4 ล้านคน ใน 62 เมืองของอินโดนีเซีย มีสาขาทั้งหมด 304 สาขา และธนาคารสาขาเคลื่อนที่อีก 2 สาขา อยู่ในฐานะธนาคารใหญ่อันดับ 8 แล้ว หลังจากที่เคยอยู่อันดับ 10 ตอนบัวหลวงเข้าไปควบกิจการแรกๆ

ทุกสาขาของเพอร์มาตาเข้าสู่ระบบดิจิทัลทั้งหมด แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งไว้คอยให้คำแนะนำลูกค้ารุ่นเก่าที่ไม่ชอบเทคโนโลยี ซึ่งก็ปรากฏว่ากลายเป็นส่วนน้อยเสียด้วยซ้ำ

บรรยากาศของธนาคารสาขาออกแบบได้ดีมาก และสอดคล้องกับชุมชนโดยจะมีภาพวาดสวยงาม แสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีของย่านนั้นๆ ดังเช่นสาขาที่อยู่ในชุมชนเชื้อสายจีนจะตกแต่งลวดลายจีน หรืออย่างในบาหลีก็จะเป็นภาพของประเพณีฮินดู ฯลฯ

เท่าที่มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะซีอีโอคุณ เมลิซา มูซา รุสลี ซึ่งเป็นหญิงแกร่งวัย 50 ปี จบวิศวกรรมไฟฟ้า แล้วไปจบโทบริหารธุรกิจที่เมลเบิร์น มีประสบการณ์ในการทำงานกับธนาคารระดับอินเตอร์หลายแห่ง…ผมว่าเป็นคนเก่งมากคนหนึ่ง

จากผลงานที่ผ่านมาแสดงว่าธนาคารกรุงเทพเลือกคนไม่ผิดฝาผิดตัวอย่างแน่นอน

ที่ผมเห็นว่าสำคัญก็คือผู้บริหารระดับสูงของเขาล้วนมีทัศนคติที่ดีต่อธนาคารกรุงเทพ และประเทศไทย มีความนิยมหรือชื่นชอบประเทศไทยอยู่ในตัว สังเกตได้ขณะพูดคุยกันนอกรอบ

เจ้าหน้าที่ธนาคาร Permata ระดับต่างๆ ที่คุยด้วยผมมีความรู้สึกพอใจที่ทำงานร่วมกับธนาคารกรุงเทพโดยไม่รู้สึกเป็นปมด้อยที่เจ้าของธนาคารของเขาเป็นชาติอาเซียนด้วยกัน เมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ ที่ไปลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งมีทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น

การที่เขามองประเทศไทยในแง่ดี ยอมรับธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นธนาคารจากประเทศไทย ผมว่าจะเป็นบวกแก่นักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนที่อินโดนีเซียในอนาคต

ณ นาทีนี้คำตอบของผมก็คือ ธนาคารกรุงเทพตัดสินใจไม่ผิดที่เข้าควบกิจการกับ Permata และหวังว่า Permata Bank จะเป็นตัวอย่างที่ดีของการลงทุนร่วมกันระหว่างไทยกับอินโดนีเซียที่จะมีมากขึ้นและมากขึ้นในอนาคต.

“ซูม”

มอง “สัมพันธ์” ไทย-อินโดนีเซีย ผ่าน “Permata Bank”, ธนาคารกรุงเทพ, ชาติศิริ โสภณพนิช, สัมภาษณ์, การเงิน, ข่าว, ซูมซอกแซก, เจ้าของ,