มหัศจรรย์ “บุโรพุทโธ” มรดกโลก “มรดกธรรม”

ดังที่หัวหน้าทีมซอกแซกได้ชี้แจงแถลงไขไว้ในคอลัมน์เหะหะพาที เมื่อ 2–3 วันก่อนแล้วว่า ไปอินโดนีเซียเที่ยวนี้แม้วัตถุประสงค์หลักจะไปดูงานด้านการเงินการธนาคาร แต่หัวหน้าทีมก็ได้มีโอกาสไปดู “ของแถม” อื่นๆ อีกมากมาย

รวมทั้งได้มีโอกาสไปเยี่ยมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ และได้ไปกราบสักการะ “บุโรพุทโธ” พุทธสถานแห่งประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของชาวพุทธมาด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อมาถึงคิวของคอลัมน์ซอกแซกซึ่งเป็นคอลัมน์สบายๆ เพื่อความสุขใจในวันหยุดเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ควรจะเขียนถึงเรื่อง “บุโรพุทโธ” สิ่งปลูกสร้างอันยิ่งใหญ่ของอินโดนีเซีย เมื่อเกือบ 1,200 ปีที่แล้ว เพื่อถวายแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกลายเป็น “พุทธานุสรณ์” ที่อยู่ยั้งยืนยาวมาถึงกาลปัจจุบัน

หลายๆท่านคงประหลาดใจเช่นเดียวกับหัวหน้าทีมซอกแซก ที่อดสงสัยมิได้ว่า เหตุใดประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จึงมีสิ่งปลูกสร้างมหัศจรรย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนามาประดิษฐานอยู่ด้วยเช่นนี้

ทำให้ต้องใช้เวลาทำการบ้านไปค้นอ่านใน “วิกิพีเดีย” ถึง 3 หัวข้อคือ ในหัวข้อว่าด้วย “บุโรพุทโธ” โดยตรง และว่าด้วย “พุทธศาสนา ใน อินโดนีเซีย” เพื่อหาเหตุผลประกอบ รวมถึงว่าด้วย “อาณาจักรศรีวิชัย” ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของ “บุโรพุทโธ” อย่างสำคัญ

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า อาณาจักรศรีวิชัย ที่คาดว่าก่อตั้งก่อน พ.ศ.1225 เล็กน้อย โดย ราชวงศ์ไศเลนทร์ นั้น มีอิทธิพลครอบคลุมภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างกว้างขวางมิใช่น้อย ตั้งแต่อินโดนีเซียไปจนถึงคาบสมุทรมาลายู และบางส่วนของภาคใต้ในประเทศไทยเรา

ราชวงศ์ไศเลนทร์มีการติดต่อสัมพันธ์กับ ราชวงศ์ปาละ แห่งเบงกอลอย่างใกล้ชิด มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและการศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายมหายานมาโดยตลอด

ต่อมาในปีพุทธศักราช 1393 พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ ก็ได้สร้างพระสถูปแบบมหายานขึ้น ณ บริเวณเชิงเขาใกล้กับแม่น้ำโปรโกและชุมชน มาเกอลัง ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งของจังหวัดชวากลางประเทศอินโดนีเซีย

โดยใช้หินภูเขาไฟถึงเกือบ 2 ล้านตารางฟุตบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 121 เมตร และสำหรับองค์พระสถูปที่ก่อสร้างขึ้นไปเป็นชั้นๆ รูปทรงคล้ายพีระมิดนั้น บนยอดแหลมที่เป็นองค์พระเจดีย์จะสูงจากพื้นดิน 123 เมตร

ก่อนขึ้นสู่ยอดพระเจดีย์ จะออกแบบเป็นลานเอาไว้ 8 ชั้น โดย 5 ชั้นล่างเป็นลานสี่เหลี่ยม และ 3 ลานชั้นบนจะเป็นวงกลม โดยมีการตกแต่งรอบๆ พระสถูปด้วยภาพสลัก 267 ชิ้น และรูปปั้นพระพุทธรูปรวม 504 องค์

น่าเสียดายที่ อาณา จักรศรีวิชัย ค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงไปและอีกเกือบ 180 ปีต่อมา นับจากปีที่สร้างพุทธสถานแห่งนี้ (ประมาณ พ.ศ.1568) ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกไว้ว่า อาณาจักรศรีวิชัยได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักร มัชปาหิต ซึ่งเป็นอาณาจักรของพระมหากษัตริย์ และพลเมืองที่นับถือศาสนาฮินดู

ที่สำคัญไปกว่านั้น กษัตริย์พระองค์หนึ่งของอาณาจักรมัชปาหิตนามว่า “ระเด่นปาทา” ทรงเกิดความเลื่อมใสในศาสนาอิสลาม และทรงยกย่องให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำอาณาจักร และห้ามเผยแพร่พระพุทธศาสนานับตั้งแต่นั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับองค์พระมหาสถูป “บุโรพุทโธ” นั้นก็ยังคงประดิษฐานอยู่ ณ ที่เดิม แม้จะขาดการดูแลในช่วงแรกๆ แต่ก็ยังยืนหยัดอยู่ได้ภายใต้พุ่มไม้ต่างๆ จนกระทั่งถึง ค.ศ.1814 หรือ พ.ศ.2357 เซอร์โทมัส สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ ผู้ปกครองเกาะชวา ซึ่งเคยเป็นของอังกฤษอยู่ช่วงหนึ่งได้รับข้อมูลจากชาวท้องถิ่นว่า มีสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ชิ้นนี้อยู่ในบริเวณดังกล่าว จึงเดินทางไปบูรณะและนำออกสู่สายตาประชาชนในเวลาต่อมา

การบูรณะครั้งใหญ่เริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อ ค.ศ.1975-1982 นี่เอง โดยรัฐบาลอินโดนีเซียและยูเนสโก และตามมาด้วยการประกาศให้เป็น “มรดกโลก” ในปี ค.ศ.1991 หรือ พ.ศ.2534 ในที่สุด

ครับ! ทั้งหมดนี้ก็คือคำตอบที่ว่า พระมหาสถูป บุโรพุทโธ อันยิ่งใหญ่ของชาวพุทธไปสถิตอยู่ ณ ดินแดนของชาวอิสลาม เช่น อินโดนีเซียได้อย่างไร

คณะของเราได้มีโอกาสไปสักการะบุโรพุทโธด้วยในทริปนี้ โดยบินจาก จาการ์ตา ไปที่เมือง ยอกยาการ์ตา ซึ่งเพิ่งจะสร้างสนามบินใหม่เอี่ยมขนาดใหญ่กว่าสนามเดิมหลายเท่า แต่ดูเหมือนจะอยู่ห่างไปจากบุโรพุทโธมากกว่าเดิม ต้องใช้เวลาเดินทางชั่วโมงเศษ

คณะของเราพักอยู่ที่โรงแรมเชิงเขาใกล้ๆ องค์บุโรพุทโธ สามารถมองเห็นได้เต็มองค์ ในยามค่ำคืนซึ่งจะมีการเปิดไฟให้สว่างอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง งดงามเหมือนวิมานของเทพเทวาลอยอยู่เหนือภูเขา (ภาพประกอบคอลัมน์วันนี้)

เช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้ว เวลา 10.00 น.เป๊ะ คณะของเราก็จัดกระเป๋าเพื่อบินต่อไปบาหลี แต่ก็จะแวะจอดรถลงสักการะบุโรพุทโธเสียก่อน โดยผู้ที่ยังอยู่ในวัยที่เดินขึ้นที่สูงได้จำนวนหนึ่ง จะเดินจากร้านอาหารซึ่งเป็นประตูขึ้นสู่บุโรพุทโธด้วย เพื่อไปกราบสักการะให้ถึงยอดบนสุด

ส่วนผู้อาวุโสแล้วข้อเข่าไม่สู้ดีนักก็จะนั่งสักการะอยู่ที่หน้าร้านอาหาร ซึ่งจะมองเห็นองค์พระสถูปอย่างชัดเจน

หัวหน้าทีมซอกแซกเคยมาสักการะหนหนึ่งแล้ว จึงขออยู่นั่งรอที่ร้านอาหารด้านล่าง หลังจากประนมมือสักการะ และขอพรท่านอยู่นาน พอสมควรเป็นที่เรียบร้อย

นับมาถึงวันนี้บุโรพุทโธซึ่งมีอายุเกือบ 1,200 ปีได้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมที่มีผู้คนไปเยือนในอันดับต้นๆ ของอินโดนีเซีย จากผู้คนทุกชาติศาสนาที่ภูมิใจในมรดกโลกชิ้นนี้

แต่สำหรับพวกเราชาวพุทธ “บุโรพุทโธ” มิใช่เป็นเพียง “มรดกโลก” เท่านั้น ยังเป็นมรดกแห่งความเคารพและศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพุทธองค์ ที่จะคงอยู่คู่โลกนี้ไปตราบกาลนิรันดร์.

“ซูม”

มหัศจรรย์, บุโรพุทโธ, มรดกโลก, มรดกธรรม, ศาสนา, พุทธ, อินโดนีเซีย, อาณาจักรศรีวิชัย, พุทธศาสนา, องค์พระสถูป, ข่าว, ซูมซอกแซก, ประวัติ, อิสลาม