ทำงานหนัก+เลิกแจกเงิน ของขวัญที่อยากได้จากรัฐบาล

ผมเขียนต้นฉบับวันนี้หลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติ 311 เสียง ต่อ 177 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นจำนวนหนึ่ง เพื่อลุยต่อในขั้นแปรญัตติแล้วนำกลับสู่สภาในวาระ 2 และวาระ 3 ต่อไป

ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาน่าจะใช้เวลาประมาณเดือนเศษๆ และเป็นช่วงที่ข้าราชการประจำจะเหนื่อยมาก เพราะจะมีการเชิญมาชี้แจงงบประมาณกันเป็นรายกรม จนกว่าจะครบทุกกระทรวง

ระหว่างชี้แจงอาจจะถูกโขกถูกสับ ถูกตำหนิ ถูกเสียดสีหนักบ้างเบาบ้าง ผมก็ฝากให้ฝ่ายข้าราชการอดทนเอาไว้…ไม่จำเป็นก็อย่าต่อล้อ ต่อเถียง การพิจารณาจะได้เร็วขึ้น สามารถนำร่าง พ.ร.บ.กลับมาเข้าสภา เพื่อประกาศใช้ตามขั้นตอนโดยไม่ยืดเยื้อนัก

อย่าลืมว่าเราเสียเวลาไปมากแล้ว และภาวะเศรษฐกิจไทยก็รอการกระตุ้นจากการใช้จ่ายจากการลงทุนภาครัฐบาลอย่างมากในขณะนี้

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมเขียนถึงการพยากรณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีมังกรทองนี้จะขยายตัวโดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 3.2

แต่ถ้ามีการกระตุ้นด้วยโครงการแจกเงินดิจิทัลด้วย อาจทำให้จีดีพีขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.2-4.5 ซึ่งผมไม่เห็นด้วยคือ ไม่เชื่อว่าจะกระตุ้นได้มากขนาดนี้ และถึงแม้จะกระตุ้นได้ขนาดนี้ก็มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นด้วยวิธีนี้

ในเมื่อเศรษฐกิจสามารถเดินได้ด้วยตัวของมันเองแล้วก็ปล่อยให้เดินไปโดยธรรมชาติ โดยมีรัฐบาลเข้าประคองดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยมาตรการ หรือโครงการพัฒนาโดยปกติธรรมดาต่างๆ

ไม่จำเป็นต้องใช้การแจกเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งจะต้องกู้และเป็นหนี้ เพิ่มขึ้น อันจะเป็นการเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ

การกระตุ้นในลักษณะนี้ควรใช้สำหรับกรณีจำเป็น คือ ในระหว่างประเทศอยู่ในภาวะโคม่าเท่านั้น…หรือถ้าไม่ใช้ยาตัวนี้แล้วประเทศจะล้มครืนลง

เพราะมันเป็น “ยา” ที่มีความเสี่ยงทั้งในทางเศรษฐกิจเอง และในทาง “สังคม” อย่างสูงยิ่ง อันจะทำให้ผู้คนเคยตัว รอแค่การรับแจกเงินดังเช่นที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกาหลายประเทศ

ผมมองว่าจีดีพีขยายแค่ร้อยละ 3.2 ก็ดีแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ถึงร้อยละ 4.2 หรือร้อยละ 4.5 ที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยการแจกเงิน

แต่ถ้าหากเศรษฐกิจไทยเราจะเข้าไปใกล้ 4 เปอร์เซ็นต์จากทำงานที่เข้มแข็งของรัฐบาลร่วมกับภาคเอกชนผ่านโครงการต่างๆ ผ่านนโยบายปกติต่างๆ ซึ่งจะสานต่อรัฐบาลเก่าๆ ก็ได้ หรือจะคิดใหม่เองก็ได้ อย่างเช่นรัฐบาลนี้มาแรงมากกับโครงการด้านซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

พร้อมจะให้กำลังใจตามประสาคนที่อยู่มานาน ได้พบได้เห็นและได้ผ่านสงครามเศรษฐกิจใหญ่ๆของประเทศไทยมา 2 สงคราม

สงครามแรกเศรษฐกิจตกต่ำ พ.ศ.2527 ยุครัฐบาลป๋าเปรม ซึ่งผมยังทำงานอยู่ที่สภาพัฒน์ด้วย ได้มีส่วนร่วมรบในสงครามนี้ ซึ่งประเทศไทยชนะ

ส่วนสงครามสอง ปี พ.ศ.2540 ผมลาออกจากราชการมาอยู่ไทยรัฐเต็มตัวแล้ว ไม่มีส่วนในการรบนอกจากคอยเป็นกองเชียร์ปลอบขวัญให้แก่ประเทศไทย ที่แพ้สงครามเศรษฐกิจปี 2540 อย่างยับเยิน

ตัวอย่างที่ผมจะเล่าวันนี้คือ สงครามเศรษฐกิจปี 2527 ที่ประเทศไทยอาการหนักจนถึงขั้นที่ ปู่ “หมาย” หรือท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคนั้น ต้องเสนอขออนุมัติ ป๋าเปรม ลดค่าเงินบาทครั้งใหญ่

จนเกิดเหตุ “คืนลอยกระทง 2527” เมื่อฝ่ายทหารที่ได้รับผลกระทบจากการลดค่าเงินบาท ต้องออกมาวิจารณ์การลดค่าเงินบาทอย่างรุนแรง จนคนนึกว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนเกิดขึ้นเสียแล้ว

แต่ด้วยความสามารถในการบริหารและการเป็นผู้นำของป๋า

ทุกอย่างก็ผ่านมาด้วยดี เมื่อท่านไปชี้แจงและดำเนินมาตรการบางอย่าง จนทางฝ่ายทหารยอมรับและเห็นด้วย

ขณะเดียวกันเพื่อให้การ “ลดค่าเงินบาท” เกิดประโยชน์โพดผลอย่างแท้จริง ป๋าเปรมได้ตั้ง กรรมการพิเศษเฉพาะกิจ ขึ้นคณะหนึ่งให้ไปดำเนินการแก้ปัญหา โดยจัดมาตรการเสริมเพื่อให้นโยบาย “มุ่งประหยัด เร่งรัดนิยมไทย ร่วมใจส่งออก” ของท่าน ซึ่งจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้นั้น บรรลุผล

มอบหมายให้ ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์ยุคนั้น

เป็นประธาน และคุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองเลขาธิการ เป็นเลขานุการของกรรมการชุดพิเศษดังกล่าว (อ่านต่อพรุ่งนี้).

“ซูม”

ทำงานหนัก+เลิกแจกเงิน ของขวัญที่อยากได้จากรัฐบาล, เศรษฐกิจไทย, นโยบาย, แจกเงิน, ดิจิตัล, ลดค่าเงินบาท, พ.ร.บ.งบประมาณ, ข่าว, ​ซูมซอกแซก