แนะนำหนังสือ “เอกรังสรรค์” ปัญญาชนญี่ปุ่นกับการสู้ชีวิต

ผมได้รับหนังสือจากสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “สำนักพิมพ์จุฬาฯ” สัปดาห์ละ 2-3 เล่ม ขอขอบคุณนะครับที่ยังส่งมาให้อ่านอยู่เสมอๆ

ส่วนใหญ่แล้วหนังสือของสำนักพิมพ์จุฬาฯ มักเป็นหนังสือกึ่งๆ วิชาการกึ่งตำราเรียน แม้จะให้ความรู้ได้กว้างขวาง แต่หลายๆ เล่มก็เป็นความรู้เฉพาะทางที่คนไม่เกี่ยวข้องจะต้องมารับรู้

ผมจึงเขียนแนะนำเพียงสั้นๆ ในท้ายคอลัมน์ฉบับวันเสาร์ ที่เรียกว่า “เสาร์สารพัน” ไม่ค่อยได้หยิบยกมาเขียนยาวๆ มากนัก

รวมถึงเล่มหลังสุด ชื่อ “เอกรังสรรค์” ซึ่งมีสร้อยว่า “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการองค์กรวิชาการ” และ อัตชีวะประวัติของอาจารย์ชุนจิ มูไร แปลโดย ดร.สุวิทย์ วิบูลย์เศรษฐ์

กำลังจะเขียนสั้นๆ อยู่แล้วเชียว แต่ก็เอะใจที่มีจดหมายทั้งน้อยและ ใหญ่จากผู้เคยรู้จักและทำงานกับ ดร.ชุนจิ มูไร มาหลายฉบับ ขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์หนังสือให้ด้วย และล่าสุดก็บอกว่าจะมีการจัด “เสวนา” เปิดตัวหนังสือเล่มนี้ ณ “เรือนจุฬานฤมิต” ตรงข้ามสำนักพิมพ์จุฬาฯ ในวันศุกร์ที่ 15 ธ.ค.นี้ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ด้วย เวลา 13.00-15.00 น.

ก็เลยตัดสินใจหยิบมาเขียนประชาสัมพันธ์ให้ในวันนี้ และทำให้ต้องหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านด้วยความตั้งอกตั้งใจ

จึงทราบว่าท่านศาสตราจารย์ ชุนจิ มูไร นั้น เป็นวิศวกรโยธาแต่หันมาเป็นนักสำรวจและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Remote Sensing ระดับแนวหน้า

เรียนจบปริญญาตรีถึงเอกด้านวิศวกรรมโยธา จากมหาวิทยาลัยโตเกียว แล้วก็ไปทำงานทางด้านสำรวจอยู่หลายปี ก่อนจะหันมาสนใจด้าน รีโมต เซนซิง และ “โฟโตแกรบเมตรี” จนมีชื่อเสียงระดับโลก

เมื่อยอมรับว่าท่านเป็นคนดังระดับโลก แม้จะดังในวิชาการที่ผมรู้จักน้อยมากก็ตาม…ผมก็ค่อยๆอ่านในช่วงที่เรียกว่า “อัตชีวประวัติ” ของท่าน โดยทำใจให้เหมือนกับอ่านประวัติคนดังทั่วๆ ไป

ปรากฏว่าวางไม่ลงไปเลยครับ เพราะบันทึกของท่านทำให้ผมมีโอกาสได้รู้ว่าชีวิตการต่อสู้ของ “ชนชั้นกลาง” ของญี่ปุ่นนั้นเป็นอย่างไร? จะต้องวางแผนการเรียนอย่างไร? ตลอดจนการมีครอบครัว? ไปจนถึงการทำงานเมื่อเรียนจบแล้ว ฯลฯ

ช่วงทำงานท่านก็เล่าว่าท่านไปทำที่ไหนมาบ้าง ไปทะเลาะกับใครบ้าง มีทั้งไปแอฟริกา และอีกหลายๆประเทศ รวมทั้งเคยสอนที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ที่รังสิตบ้านเราอยู่ถึง 5 ปี

โชคดีที่ชีวิตขณะอยู่ในประเทศไทยของท่านเปี่ยมไปด้วยความสุขไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่ทะเลาะกับใคร แถมยังเป็นที่รักของชาวบ้านชนบทริมฝั่งเจ้าพระยา ที่ท่านมาสร้างบ้านพักเพื่ออยู่อาศัยเสียอีกด้วย

ได้มีโอกาสสำคัญในชีวิตเมื่อได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประชุม สัมมนาว่าด้วยการอนุรักษ์ป่าเขตร้อนที่เขาใหญ่อยู่ปีหนึ่ง

เป็นที่มาของการเริ่มต้นโครงการรณรงค์ปลูกป่าเขตร้อน (Regreen Movement หรือ RGM) โดยร่วมมือกับกรมป่าไม้ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นโครงการในพระราชดำริของพระองค์ท่าน

ท่านอาจารย์ ชุนจิ มูไร ยอมรับว่าท่านเป็นนักคิดแบบ “เอกรังสรรค์” คิดเองทำเอง ลงแรงเอง โดยไม่ปรึกษาใครในช่วงต้นๆ มีความกล้าคิดกล้าทำกล้าตัดสินใจและนอกกรอบในหลายๆ ครั้ง

น่าจะมีศัตรูมากบ้างน้อยบ้างพอสมควร

แต่เมื่อตกผลึกแล้วท่านก็มองว่าการทำงานแบบร่วมมือกัน รู้จักรักใคร่กลมเกลียวกัน หรือทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ดังที่ท่านบรรยายไว้ในการประชุมระดับเอเชียเรื่องหนึ่งในประเทศไทย

ประชุมเสร็จแล้วท่านก็เชิญผู้เข้าประชุมทุกคนรวมญาติมิตรและครอบครัวลงสู่เรือ “โอเรียลเต็ลควีน” ล่องเจ้าพระยา กินเบียร์ กินอาหารบุฟเฟต์ และร้องเพลง “รำวงลอยกระทง” อย่างสนุกสนาน

โดยหวังว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะจำภาพเหล่านั้นไว้ และร่วมมือกันทำงานอย่างเหนียวแน่นสืบไปในวันข้างหน้า

ขอบคุณนะครับสำนักพิมพ์จุฬาฯ ที่ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ และยํ้าอีกครั้งว่าการเสวนาเปิดตัวหนังสือ “เอกรังสรรค์” จะเริ่มเวลา 13.00-15.00 น. วันพรุ่งนี้ (ศุกร์ที่ 15 ธันวาคม) ณ เรือนจุฬานฤมิต แฮ่ม! ไปถามกูเกิลเอาเองนะครับว่าอยู่หนใดในจุฬาฯ.

“ซูม”

แนะนำหนังสือ "เอกรังสรรค์" ปัญญาชนญี่ปุ่นกับการสู้ชีวิต, หนังสือ, ดร.ชุนจิ มูไร, การทำงาน, สำนักพิมพ์จุฬาฯ, ข่าว, ซูมซอกแซก