ถ้าจะกล่าวว่าคอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์แรกๆ ของหนังสือพิมพ์และนิตยสารในบ้านเราที่เขียนถึงร้านกาแฟกระฉ่อนโลกอย่าง “สตาร์บัคส์” ก็ไม่น่าจะผิดข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะช่วงปีที่เขียนถึงน่าจะเป็น พ.ศ.2541 หัวหน้าทีมซอกแซกตัดสินใจอำลาชีวิตราชการมาสู่อาชีพสื่อสารมวลชนเต็มตัวกับไทยรัฐ มีเวลาว่างพอที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินราคาประหยัดไปเยี่ยมลูกที่เรียนหนังสืออยู่ที่มหานครนิวยอร์ก
จำได้ว่าใกล้ๆ ตึกที่ไปรอลูกเรียนหนังสือมีร้านกาแฟ สตาร์บัคส์ เปิดใหม่เอี่ยมอ่อง อยู่ร้านหนึ่งพอดิบพอดี
ระหว่างรอก็เข้าไปสั่งกาแฟ 1 แก้ว แล้ว ก็นั่งเขียนต้นฉบับเกือบ 2 ชั่วโมง โดยไม่มีบ๋อยมาไล่ที่แต่อย่างใด
วันหนึ่งจึงหยิบเรื่องราวของร้านกาแฟยี่ห้อนี้มาเขียนถึงในคอลัมน์นี้ว่าเป็นร้านกาแฟที่มีต้นตระกูลอยู่ที่ ซีแอตเติล ช่วงแรกเป็นร้านขายเมล็ดกาแฟก่อน เพิ่งจะมาเริ่มขายกาแฟชงเมื่อประมาณปี 1986 หรือ 2529 นั่นเอง
แรกๆ ก็มีแค่ร้านเดียวเสร็จแล้วก็ขยายออกไปเป็น 2-3 ร้าน ในซีแอตเติลด้วยฝีมือของคุณ โฮเวิร์ด ชัลท์ ที่มาเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของร้าน แล้วก็ขยายสาขาออกไปเรื่อยจนกลายเป็น 46 สาขา เมื่อปลายปี 1989
จากนั้นก็ใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปีคือประมาณ ค.ศ.1998-1999 จึงมาถึง นิวยอร์ก และหนึ่งในสาขาที่ว่าก็คือ สาขาที่หัวหน้าทีม ซอกแซกไปนั่งรอลูกเรียนหนังสือนั่นเอง
ด้วยความชอบบรรยากาศแบบง่ายๆ ไม่รีบร้อน ไม่หวงเก้าอี้ใครจะนั่งแช่นั่งคุยนั่งเขียนหรือนั่งทำงานนานแค่ไหนก็ได้ รวมทั้งอ่านเจอในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นน่าจะเป็น นิวยอร์กโพสต์ เขียนเล่าถึงการขยายตัวอย่างรวดเร็วของร้านกาแฟยี่ห้อนี้ หัวหน้าทีมจึงนำมาเขียนเล่าในคอลัมน์นี้อีกครั้ง 2 ครั้ง
ที่น่าทึ่งก็คือ สตาร์บัคส์ ไม่เพียงแต่จะบุกตลาดเฉพาะในสหรัฐฯ และในทวีปอเมริกาเหนืออย่างแคนาดาเพื่อนบ้านเท่านั้น ยังประกาศว่าจะลุยสู่เอเชียอีกด้วย และในที่สุดก็ไปปักหมุด “สตาร์บัคส์” นอกทวีปอเมริกาเหนือร้านแรกที่ ย่านกินซ่า กรุงโตเกียวนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ “สตาร์บัคส์กินซ่า” โตเกียวจึงถือเป็นสตาร์บัคส์แห่งแรกที่ออกเดินทางจากสหรัฐฯและอเมริกาเหนือข้ามมหาสมุทรมาปักธงเอาไว้ในเอเชีย โดยเริ่มจากญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 1996 หรือ พ.ศ.2539 ดังกล่าว
สำหรับประเทศไทยเราเท่าที่จำได้ สตาร์บัคส์ แห่งแรกน่าจะอยู่ที่ เซ็นทรัลชิดลม ประมาณปี 2541 หรือ 1998 หลังโตเกียว 2 ปี
หัวหน้าทีมซอกแซกคุ้นเคยกับสตาร์บัคส์ลาดพร้าว มากกว่า เพราะอยู่ใกล้โรงพิมพ์ เวลาจะนึกถึงความหลังช่วงที่ไปนั่งเขียนหนังสือที่สตาร์บัคส์ นิวยอร์ก ระหว่างรอลูกก็มักจะแวะไปนั่งตอนบ่ายๆ ซึ่งจะได้บรรยากาศกว่าที่นิวยอร์ก เยอะ เพราะตั้งอยู่ในศูนย์การค้ามีผู้คนเดินขวักไขว่แต่งตัวสวยสดงดงาม โดยเฉพาะสุภาพสตรี
ขณะเดียวกันเมื่อมีโอกาสไปโตเกียวซึ่งก็ได้ไปบ่อยมากในฐานะแขกเชิญของคุณ ระวิ โหลทอง ประธาน สยามสปอร์ต ที่ชอบญี่ปุ่นเป็นชีวิตจิตใจ และมีสถิติว่าไปประเทศนี้มาแล้วกว่า 50 ครั้ง
หัวหน้าทีมซอกแซกก็จะถือโอกาสแวะไปดื่ม Coffee of the Day ที่ร้าน สตาร์บัคส์ กินซ่า ซึ่งเป็นสตาร์บัคส์แห่งแรกนอกอเมริกาและแคนาดาดังได้กล่าวไว้แล้ว
ไปโตเกียวครั้งนี้ หัวหน้าทีมก็แวะไปอีกเช่นเคย และก็พบว่าผู้คนยังแน่นขนัดเช่นเคย ต้องรอเล่นเก้าอี้ดนตรีอยู่นานกว่าจะได้ที่นั่ง
ร้านสตาร์บัคส์ร้านแรกของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ริมถนนใหญ่ของกินซ่านะครับ ถ้าเดินไปจาก ห้างมิตสึโคชิ จะอยู่ที่ถนนเล็กๆ หลังห้างเดินไปประมาณ 1 บล็อกก็จะถึง และปรากฏว่าจะอยู่บริเวณหลังห้างดังอีกห้างของกินซ่า ได้แก่ “ทสุทาย่า” (TSUTAYA) พอดิบพอดี
จากรายงานล่าสุดระบุว่า มีร้านกาแฟสตาร์บัคส์อยู่ในญี่ปุ่นขณะนี้ถึง 1,415 ร้าน แค่ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ในโตเกียวกี่ร้าน เพราะตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขรวมของประเทศ
แต่ที่แน่ๆ ร้านในโตเกียวอีกแห่งที่หัวหน้าทีมซอกแซกชอบมากและเขียนถึงไปเรียบร้อยแล้วคือร้านที่ห้าแยก “ชิบูย่า” ซึ่งหัวหน้าทีมซอกแซกจะหาโอกาสขึ้นไปนั่งดื่มกาแฟดูคลื่นมนุษย์เดินข้าม 5 แยกดังกล่าวทุกครั้งที่ไปโตเกียว รวมถึงครั้งนี้ดังที่ได้เขียนไปแล้วเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สำหรับในประเทศไทยของเราเอง ตัวเลขล่าสุดระบุว่า มีทั้งสิ้น 410 สาขา ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องหรือไม่ และปัจจุบันอยู่ในเครือของ บริษัทไทยเบฟเวอเรจฯ เรียบร้อยโรงเรียนคุณเจริญไปแล้วเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา
ในส่วนตัวหัวหน้าทีมระยะหลังๆ ดื่มกาแฟน้อยลง และมองว่าสตาร์บัคส์บ้านเราแพงเกินเหตุ ทำให้ห่างเหินไปหลายปี
นอกจากวันไหนจะรำลึกถึงความหลัง เช่นที่ สตาร์บัคส์ ลาดพร้าว หรือ สตาร์บัคส์ สีลม ตรอกโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ที่ยุคหนึ่งชอบไปโต๋เต๋ออกกำลังแถวนั้นและนั่งดื่มสตาร์บัคส์ช่วงบ่ายๆ จึงจะแวะไปบ้าง
รวมถึงไปญี่ปุ่นก็ต้องแวะร้านที่กินซ่า และร้านที่ชิบูย่าด้วยเหตุผลของการรำลึกความหลังเช่นเดียวกัน
ยังเหลือก็แต่ร้านที่นิวยอร์กเท่านั้น ที่อยากกลับไปมากแต่คงยากแล้วละ เพราะอายุปูนนี้ นั่งเครื่องบินเกิน 20 ชั่วโมงคงไม่ค่อยไหวก็ได้แต่ฝาก ให้เพื่อนๆ ที่ยังอยู่ทางโน้นไปนั่งจิบแทนไปพลางๆ
สรุปตัวเลขล่าสุดจากวิกิพีเดียบอกว่า ทั่วโลกวันนี้ (ปลายปี 2022) มีร้านสตาร์บัคส์ 35,711 แห่ง ใน 84 ประเทศ มีพนักงานทั้งสิ้น 462,000 คนครับ
ส่วนร้านที่กินซ่าโตเกียวนั้นเขาก็ถือเป็นร้านประวัติศาสตร์ เพราะเป็นร้านแรกของสตาร์บัคส์ที่ออกจากอเมริกาไปประเทศอื่นๆ (ยกเว้นแคนาดา)
“ซูม”