กราบ “พระปรางค์” ทองคำ นางกวัก “โกยเงิน” เข้าประเทศ

เมื่อคํ่าคืนวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 13 คํ่า เดือน 12 ผมไปลอยกระทงล่วงหน้าในงาน Bangkok Water Festival 2023 ที่จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและ ฯลฯ ซึ่งมีบริษัท ไทยเบฟฯ เป็นสปอนเซอร์ใหญ่มาแล้วครับ

ที่เขาจัดให้มีงานแสดงศิลปวัฒนธรรมและสินค้าชุมชนต่างๆ ณ บริเวณ 5 วัด และ 5 ท่านํ้าริมฝั่งเจ้าพระยา พร้อมกับมีเรือขนาดใหญ่ไว้บริการฟรีจากท่าถึงท่าในช่วงเทศกาลลอยกระทงนั่นแหละ

เนื่องจากผมไปถึงเกือบคํ่า ทำให้มีเวลาเหลือน้อยได้ขึ้นแค่ 3 ท่า กับ 2 วัดเท่านั้นเอง…แต่ก็รู้สึกประทับใจและดื่มด่ำเป็นที่สุดจนต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านที่จะบันทึกไว้ในคอลัมน์ของผมประจำวันนี้

เพราะหนึ่งใน 2 วัดที่ผมขึ้นร่วมพิธีลอยกระทง ได้แก่ วัดอรุณราชวราราม ที่คนไทย (และชาวโลกด้วย) รู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดียิ่งนั่นเอง

ว่าไปแล้วผมเองก็เคยไปวัดอรุณมาไม่ตํ่ากว่า 10 ครั้งในชีวิตนี้ แต่ก็มักจะไปในช่วงกลางวันหรือไม่ก็เย็นๆ ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน

จึงมักจะ “เห็น” และจดจำภาพองค์พระปรางค์วัดอรุณว่าเป็น “องค์สีขาว” สดใสเสียเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นในบางปีที่มีการ “เข้าเฝือก” ระหว่างบูรณะซ่อมแซม)

แต่ครั้งนี้ผมไปช่วงหัวคํ่าครับ เป็นเวลาเข้าไต้เข้าไฟ และมีการ ฉายแสงไฟสีเหลืองไปยังองค์พระปรางค์จนเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ใหญ่และองค์เล็กที่รายล้อมอยู่รอบๆ

ประดุจ “แท่งทองคำ” ขนาดยักษ์ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาแผ่รัศมีสีทองไปไกลสุดสายตา

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า วัดอรุณเป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมชื่อ “วัดมะกอก”

ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดแจ้ง” สืบเนื่องมาจาก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่นำกำลังทัพหลบหนีจากกรุงศรีอยุธยามาถึงวัดนี้ในช่วงเวลาเช้าตรู่พอดี จึงเรียกกันว่า “วัดแจ้ง”

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระบรมมหาราชวังแห่งใหม่ ณ บริเวณนี้ และได้ทรงผนวก “วัดแจ้ง” ให้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวัง พร้อมทั้งอัญเชิญ พระแก้วมรกต มาประดิษฐานไว้ด้วย

เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายพระบรมมหาราชวังมาอยู่ฝั่งตรงข้าม จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนวัดแจ้งก็ยังอยู่ ณ ที่เดิมเคียงข้างพระราชวังเดิมต่อไป

จนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และทรงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 นับแต่นั้นมา

ในยุคสมัยของรัชกาลที่ 3 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยมีการเพิ่มส่วนสูงของพระปรางค์องค์กลาง ซึ่งแต่เดิมเคยสูงเพียง 8 วา หรือ 16 เมตรเท่านั้น ให้สูงตระหง่านขึ้นไปอีก 5 เท่าเศษๆ เป็น 82 เมตร

การบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งหลายทั้งปวงมาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระราชทานชื่อวัดให้ใหม่และใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า วัดอรุณราชวราราม

เหตุที่ผมเปรียบเทียบพระปรางค์วัดอรุณว่าเสมือนทองคำแท่งขนาดยักษ์ นอกเสียจากการฉายไฟฟ้าสีทองไปยังองค์พระปรางค์จนเหลืองอร่ามไปทั้งหมดดังได้กล่าวไว้แล้ว

ผมยังตระหนักด้วยว่า องค์พระปรางค์ที่ผมเห็นอยู่เบื้องหน้านี้เปรียบประดุจ “โลโก้” ของประเทศไทยที่ชาวโลกรู้จักและจดจำได้อย่างดียิ่งในฐานะ “ตราสัญลักษณ์” ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากทุกๆ ประเทศให้อยากมาเที่ยวเมืองไทย จนประเทศไทยของเราติดอันดับเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลกมาโดยตลอด

ในยามที่ประเทศไทยตกทุกข์ได้ยาก เศรษฐกิจตกตํ่าคราวใดก็จะอาศัยการท่องเที่ยว ซึ่งมีพระปรางค์วัดอรุณเป็นทัพหน้ามาช่วยกอบกู้จนเศรษฐกิจไทยกลับมาโชติช่วงชัชวาลดังเดิมได้ในที่สุด

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบูรพกษัตริย์ไทยที่ทรงมีพระเนตรยาวไกล พระราชทาน “มรดกแห่งชาติ” ที่กินไม่หมด ใช้ไม่พร่องชิ้นนี้ให้แก่พสกนิกรชาวไทย

สามารถนำ “เงินตรา” เข้าประเทศไทยไม่รู้กี่ล้านล้านบาท นับแต่อดีตถึงปัจจุบันและมั่นใจได้เลยว่าจะอีกยาวนานในอนาคต

ขอกราบขอบพระคุณ “นางกวัก” ระดับโลก พระปรางค์วัดอรุณไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งนะครับ.

“ซูม”

ทองคำ