วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566…ขออนุญาต “งด” รายการ “เสาร์สารพัน” ชวนเที่ยวงาน ชวนอ่านหนังสือหนึ่งวันนะครับ สัปดาห์นี้
เหตุเพราะคนเขียนแอบหนีไปเที่ยวโตเกียวกับลูกๆ หลานๆ ตามที่เขียนเกริ่นไว้ว่าต้องเขียนต้นฉบับแห้งๆ ล่วงหน้าเสียหลายวันนั่นแหละครับ
ตั้งชื่อหัวเรื่องข้างบนคอลัมน์ว่า โอฮาโย่ “โตเกียว” แปลว่า “สวัสดี (ยามเช้า) โตเกียว” ครับ…เพราะขณะที่เขียนต้นฉบับวันนี้น่าจะประมาณ 8 โมงเช้าของที่โน่น ก็เลยต้องใช้คำทักทายว่า “โอฮาโย่” ที่แปลว่าสวัสดียามเช้ากล่าวทักทายกรุงโตเกียวเสียหน่อยตามธรรมเนียม
ส่วนที่พาดหัวรองว่า “วีลแชร์ทัวร์ 2566” ก็เพราะไปเที่ยวนี้ต้องอาศัย “วีลแชร์” (Wheelchair) หรือรถเข็นแบบนั่งเป็น “ตัวช่วย” หลายๆ ช่วงตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิ ไปจนถึงนาริตะ รวมทั้งบางช่วงบางตอนในกรุงโตเกียวซึ่งผมหอบรถเข็นตัวเล็กพับได้ติดไปด้วย ใช้ทั้งเข็นเอง (เพื่อเป็นเครื่องช่วยในการเดินแบบ วอล์กเกอร์) และให้ลูกๆ ช่วยกันเข็นเวลาเดินไปนานๆ แล้วรู้สึกเมื่อย
ทำไงได้ล่ะครับ แม้อายุจะเลยหลักกิโลเมตรที่ 82 ไปแล้วใกล้หลัก 83 อยู่รอมร่อ แต่ใจยังอยากเที่ยว ก็ต้องพบกันครึ่งทางด้วยการนั่งรถวีลแชร์ครึ่งนึงและเดินครึ่งนึง ด้วยประการฉะนี้
ต้องขอขอบคุณบุคคลท่านใดก็ไม่รู้ที่เป็นต้นคิดของการให้มีบริการ “วีลแชร์” สำหรับผู้สูงอายุตามสนามบินต่างๆทั่วโลก ซึ่งผมเคยใช้บริการมาแล้วหนหนึ่งเมื่อเกือบๆ 10 ปีก่อน
ช่วงนั้นผมเพิ่งผ่าตัดทำบายพาสหัวใจมาได้สักปีเศษๆ แม้จะแข็งแรงดี แต่เพื่อทุ่นแรงเอาไว้ก่อน จึงขอใช้บริการวีลแชร์ตอนไปดู “ซุปเปอร์โบว์ล” ชิงแชมป์อเมริกันฟุตบอลที่สหรัฐอเมริกา
ได้เห็นคุณค่าของ “วีลแชร์” ตั้งแต่ พ.ศ.นั้น เพราะตอนไปถึงแอลเอ ซึ่งจะต้องไปต่อสนามบินภายในประเทศด้วย ถ้าไม่ได้พนักงานรถเข็นจัดการให้โดยเข็นจากตึกนี้ข้ามไปตึกโน้นแถมเข็นขึ้นรถต่อไปอีกตึกหนึ่ง คงบินในประเทศไม่ทันแน่นอน
ปกติแล้วเขาบริการฟรีนะครับ แต่เพื่อสินน้ำใจ ถ้าเราจะทิปบ้าง เขาก็ยินดีรับ อย่างที่แอลเอครั้งนั้น ผมทิปไป 20 เหรียญ เพราะถ้าไม่ได้คุณพี่ผิวสีร่างยักษ์มาช่วยเข็นให้ ผมคงตกเครื่องไปเรียบร้อย
ไปโตเกียวเที่ยวนี้ผมขอให้ การบินไทย ช่วยจัดวีลแชร์ให้ทั้งผมกับแม่บ้าน ซึ่งทางการบินไทยก็ดำเนินการให้ โดยมีเจ้าหน้าที่มาดูแล 2 ตายายตั้งแต่เคาน์เตอร์เช็กอินแล้วก็ส่งให้พนักงานเข็นช่วยเข็นผ่านขบวนการต่างๆ ตั้งแต่ ตม.และการตรวจอาวุธวัตถุระเบิดจนครบถ้วน
จากนั้นก็เข็นไปส่งจนถึงประตูขึ้นเครื่อง ซึ่งอยู่ไกลมาก…ไกลอย่างชนิดหนุ่มๆ สาวๆ ยังบ่นออดแอดว่าเดินเมื่อยเหลือเกิน
ของเราก็เหมือนที่อื่นๆ ทั่วโลก ถือเป็นการให้บริการฟรีแก่ผู้โดยสารสูงอายุ หรือคนพิการ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าหากผู้โดยสารจะทิปให้พนักงานเข็นบ้างก็ถือเป็นเรื่องของการแสดงน้ำใจ ห้ามพนักงานเข็นเรียกร้องอย่างเด็ดขาด
ผมก็เลยให้ “ทิป” ไปคนละ 100 บาท 2 คน 2 ร้อยก็เลยยิ้มแป้นทั้ง 2 คน
เมื่อผมไปถึงสนามบินนาริตะก็มีพนักงานเข็นวีลแชร์ที่การบินไทยประสานงานให้มารอ 2 คนเช่นกัน เป็นผู้อาวุโสแล้วทั้งคู่ ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง…ฝ่ายชายเข็นผม ฝ่ายหญิงเข็นแม่บ้านผม
น่ารักทั้ง 2 คน ชวนผมกับแม่บ้านพูดคุยภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นไปตลอดทาง และดูแลทุกอย่างตั้งแต่ช่วยยกกระเป๋าจากสายพานไปจนถึงส่งขึ้นแท็กซี่ที่หน้าสนามบิน
มีคนบอกผมว่าคนญี่ปุ่นเขาไม่รับทิปนะ อย่าทิปเด็ดขาดเดี๋ยวเขาจะหาว่าดูหมิ่นเอา แต่จากบริการอันยอดเยี่ยมของ 2 ผู้เข็นอาวุโส ทำให้ผมตัดสินใจยอม “ฝืนกฎกติกา” ของญี่ปุ่น ทิปให้คนละ 1,000 เยน ซึ่งก็ประมาณคนละ 250 บาทเท่านั้น
ทั้ง 2 ท่านจะไม่ยอมรับและปฏิเสธอย่างแข็งขันแต่ผมก็คะยั้นคะยอขอให้รับ และในที่สุดเขาก็รับไว้และโค้งขอบคุณผมหลายๆ ครั้ง
ครับ! ทั้งหมดนี้ก็คือที่มาที่ไปของรายงานพิเศษชุด “วีลแชร์ทัวร์ 2566”+“โอฮาโย่โตเกียว” ที่ผมจะใช้เวลาเขียนอีกสัก 2-3 วัน ในส่วนที่เป็นความคิดเห็นและความรู้ต่างๆเกี่ยวกับญี่ปุ่น
ส่วนเรื่องท่องเที่ยวสนุกสนานจะเก็บไว้เขียนในคอลัมน์ “ซอกแซก” วันอาทิตย์ กว่าจะจบคงอีกหลายอาทิตย์ละครับ…ประเดิมด้วย “ไหว้พระวัดอาซากุสะ”+“กินเทมปุระ 180 ปี” ในวันพรุ่งนี้…อย่าลืมติดตามอ่านกันด้วยนะครับ.
“ซูม”