วัดใจ “เศรษฐา ทวีสิน” จะ “ยอมหัก” หรือ “ยอมงอ”

เมื่อวานนี้ผมเขียนขอบคุณและปรบมือให้แก่ 99 นักเศรษฐศาสตร์ที่ลงนามคัดค้านนโยบายแจกเงินดิจิทัลรายละ 10,000 บาท ของรัฐบาลนี้ โดยเอ่ยถึงชื่อนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ 3-4 ท่าน ที่เคยมีบทบาทในการพัฒนาชาติบ้านเมืองมาแล้วในอดีต

วันนี้ขอเขียนต่ออีกสัก 2-3 ท่าน โดยเน้นไปที่บุคคลที่ผมรู้จักใกล้ชิดและมีความรักความหลังมาด้วยกัน

เริ่มจากท่านอาจารย์ ดร.สุกัญญา นิธังกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่เป็นนักศึกษาสอบเข้าธรรมศาสตร์รุ่นแรก พ.ศ.2503 รุ่นเดียวกับผม

อาจารย์สุกัญญา จบจาก สตรีวิทยา เรียนเก่งมากเป็นที่ 1 ของรุ่นผมตั้งแต่โค้งแรกคือปีที่ 1 จนถึงปีสุดท้าย

อาจารย์สุกัญญาเลือกที่จะเป็นอาจารย์สอนหนังสือต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์เมื่อเรียนจบ เพราะท่านอาจารย์ป๋วยเข้าไปรับตำแหน่งคณบดีมีแผนปรับปรุงความเข้มแข็งทางด้านวิชาการและการเรียนการสอนให้แก่คณะเศรษฐศาสตร์

จึงเปิดรับสมัครผู้จบปริญญาตรีมาเป็นอาจารย์ช่วยสอน แล้วก็หาทุนให้ไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะในภายหลัง

เพื่อนรุ่นผมได้รับการคัดเลือกไว้หลายคน แต่คนที่ผมแอบภูมิใจที่สุดก็คือ ดร.สุกัญญานี่แหละ

เธอคงไม่รู้ตัวหรอกว่าสมัยเรียนน่ะ เธอเปรียบเสมือน “ติวเตอร์” ของผมคนหนึ่ง เหตุผลเพราะผมไม่ค่อยชอบเข้าฟังเลกเชอร์จนเรียนไม่ทันเพื่อน…ต้องแอบไปชวนเธอคุย และขอให้เธอช่วยติวมาโดยตลอด

อีกรายหนึ่งที่ลงนามไว้เป็นอันดับที่ 77 ได้แก่ ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล อดีตเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย

ดร.ธวัชชัย จบจากอัสสัมฯ ไม่แน่ใจว่าจากบางรักหรือศรีราชา แต่จำได้อย่างเดียวคือภาษาอังกฤษเพื่อนแตกฉานมากตั้งแต่ พ.ศ.โน้น

เพื่อนเป็นครูภาษาอังกฤษของพวกเราและจะแต่งเรียงความเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ไว้นับสิบเรื่องเพื่อให้พวกเราไปท่องจำไว้ หากอาจารย์ภาษาอังกฤษให้เราเขียนเรียงความเรื่องใดเรื่องหนึ่งตรงกับที่ ดร.ธวัชชัย แต่งไว้ให้ เราจะได้ไม่เหนื่อยแรง

ดร.ธวัชชัย จบ “ท็อปเทน” ของรุ่น เป็น 1 ในบัณฑิตใหม่ของเศรษฐศาสตร์ปีดังกล่าวที่ท่าน อาจารย์บุญชนะ อัตถากร อธิบดีกรมวิเทศสหการ เรียกตัวไปทำงานด้วย และได้ทุนไปเรียนต่อจนจบปริญญาเอก กลับมา เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่นิด้าในที่สุด

สำหรับท่านอื่นๆ ที่ผมรู้จักและเคยทำงานด้วย หรือได้เคยเห็นการทำงานและติดตามผลงานของท่านอย่างใกล้ชิด ก็เช่น ท่านอาจารย์ วรากรณ์ สามโกเศศ, พรายพล คุ้มทรัพย์, ปราณี ทินกร, นิพนธ์ พัวพงศกร, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, ประภัสสร เลียวไพโรจน์, มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, ลิลี่ โกศัยยานนท์, สุขุม อัตวาวุฒิชัย ฯลฯ เป็นต้น

รุ่นพี่และเจ้านายเก่าผม ท่าน วิรัตน์ วัฒนศิริธรรม อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์และเพื่อนสนิทที่ไม่เจอกันนานมาก ท่าน เกริกไกร จีระแพทย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็อยู่ในรายชื่อที่ลงนามเช่นกัน

ครับ! อย่างที่เรียนแล้วว่า ท่านเหล่านี้ (ทั้ง 2 วัน ที่เขียนถึง) คือ นักเศรษฐศาสตร์เพียงส่วนหนึ่งจาก 99 ท่าน ที่ผมรู้จักและการันตี ได้ว่าท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้วิชาชีพเศรษฐศาสตร์ทั้งโดยตรงโดยอ้อมมาตลอดชีวิต

ทำงานรับใช้ชาติบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองใดๆ จึงไม่น่าจะมีอคติใดๆต่อพรรคเพื่อไทย

คุณ เศรษฐา ทวีสิน ก็ได้ชื่อว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เพราะเรียนจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย แมสซาชูเสตต์ และปริญญาโทสาขาการเงินจากบัณฑิตวิทยาลัยแคลมอนด์ แห่งแคลิฟอร์เนีย

อย่างว่าแหละ เขาว่าตำราเศรษฐศาสตร์มีหลายตำราหลายทฤษฎีหลายความคิดเห็นมีการถกเถียงกันอยู่ตลอด…แต่จากการที่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นเดอะ ถึง 99 คน มาร่วมกันลงนามคัดค้านโครงการนี้อย่างพร้อมเพรียงและอย่างเปิดเผยเช่นนี้

จะสามารถ “เปลี่ยนใจ” นักเศรษฐศาสตร์ ที่มาเป็นนักธุรกิจ เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยได้หรือไม่…คงต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตากันต่อไป.

“ซูม”

เศรษฐา ทวีสิน, นโยบาย, แจกเงิน, ดิจิตัล, การเมือง, 10000 บาท, พรรค, เพื่อไทย, แบงก์ชาติ, นโยบาย, ข่าว, ซูมซอกแซก, 5 แสนล้าน, คัดค้าน