ปลากุเลา “ขึ้นโต๊ะ” เอเปก อีก “บทเรียน” ซอฟต์เพาเวอร์

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงบทเรียนของการส่งออก “ซอฟต์เพาเวอร์ไทย” จากกรณีของเครื่องดื่มบำรุงกำลัง Red Bull ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งในตลาดโลก

ด้วยการปรับปรุงรสชาติของกระทิงแดงไทย จากรสหวานให้มีรสซ่าๆ เหมือนผสมโซดา จนเป็นที่ถูกโฉลกของนักดื่มในระดับสากล

ผมก็เลยสรุปว่า การจะ “ส่งออก” วัฒนธรรม หรือ “ซอฟต์เพาเวอร์” อะไรก็ตามของเราออกไปอาจจะต้องศึกษาหาความรู้เสียก่อน โดยเฉพาะพวกผลไม้และอาหารว่าคนเมืองนอกเขาชอบรสชาติแบบไหนไม่ชอบรสชาติแบบไหน

ดีกว่าจะส่งออกไปดุ่ยๆ โดยไม่หาความรู้อะไรไว้เลย

ก็พอดีผมนึกขึ้นมาได้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้มีอาหารไทยของเราอีกอย่างหนึ่งที่เป็นข่าวดังมากในช่วงงานประชุม “เอเปก” ที่ผ่านมา เพราะเป็นอาหารที่ทางฝ่ายไทยเจ้าภาพงานนี้ หวังว่าจะเป็นที่ถูกใจผู้นำประเทศที่มาประชุมและจะได้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการโปรโมตให้เป็นอาหาร “จานโลก” อีกจานหนึ่งในอนาคต

ปลา “กุเลาตากใบ” ปลาเค็มขึ้นชื่อที่สุดของประเทศไทย จากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับฉายาว่า “คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ” เพราะอร่อยมาก ราคาจึงแพงมาก นั่นแหละครับ

ก่อนงานเอเปกสัก 3-4 เดือนเห็นจะได้ ผมไปเที่ยวงาน “โอทอป” ของกระทรวงมหาดไทย ที่เมืองทองธานี เจอของ “ป้าอ้วน” เจ้าดังตากใบเข้าให้พอดี เลยกัดฟันซื้อตัวเล็กมา 1 ตัว เกือบๆ พันบาท

เอามาทอดรับประทานแล้วก็เขียนชื่นชมยาวเหยียดในคอลัมน์ “ซอกแซก” ของไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ต่อมา

จึงรู้สึกตื่นเต้นมากเมื่อมีข่าวว่าปลากุเลาตากใบ จะได้ขึ้นโต๊ะงานเลี้ยงใหญ่ ในคืนเลี้ยงรับรองผู้นำเอเปกกับเขาด้วย

ข่าวตอนแรกออกมาในทำนองว่า “เชฟ” หรือพ่อครัวเอกที่จะมารังสรรค์เมนูนี้ ไปเอาปลาเค็มจากไหนมาก็ไม่รู้ ไม่ใช่ปลาเค็มตากใบ จนโดนทัวร์ลงขนานใหญ่ แต่ “เชฟ” ก็ชี้แจงต่อมาว่าเป็นของตากใบแท้ และเป็น 1 ใน 2-3 แบรนด์ที่จังหวัดนราธิวาสยกย่อง

แต่เชฟผู้รังสรรค์เมนูปลากุเลาดังกล่าว ก็ให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยว่า ท่านไม่ได้นำมาแล่หรือหั่นทอดเป็นชิ้นๆ แต่จะนำมาอบข้าวและอบตะไคร้ เพื่อจะให้ข้าวมีรสชาติและมีกลิ่นหอมเบาๆ ชวนให้ผู้นำต่างๆ อยากชิม

จากนั้นผมก็รอลุ้นว่า ผลการขึ้นโต๊ะเลี้ยงผู้นำเอเปกของปลาเค็มตากใบ จะเป็นอย่างไรบ้าง? เป็นที่ถูกอกถูกใจไหม? จะสามารถนำมาโปรโมตเป็นอาหารอินเตอร์ได้หรือไม่? อย่างไร?

ปรากฏว่าเงียบฉี่ไม่มีข่าวคราวเลยจนกระทั่งงานผ่านไป และได้รับคำชื่นชมจากผู้นำต่างๆ ว่าประเทศไทยจัดได้ยอดเยี่ยม ทั้งในแง่เนื้อหาสาระการประชุมตลอดจนงานเลี้ยงต้อนรับที่อลังการมาก

เพิ่งไม่กี่เดือนนี่เองครับ ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับแหล่งข่าวระดับสูงและอยู่เบื้องหลังการจัดอาหารและความบันเทิงต่างๆ ในคืนเลี้ยงรับรอง…จึงทราบข่าวจากท่านว่า

อาหารไทยๆ ที่เหลือเยอะที่สุดบนโต๊ะเลี้ยงรับรองผู้นำเอเปกคืนนั้นก็คืออาหารที่ปรุงจาก “ปลากุเลาเค็ม” นี่เอง ซึ่งถ้าตีความจากคำให้สัมภาษณ์ของเชฟข้างต้นก็คือข้าวที่อบด้วยปลากุเลากับตะไคร้นั่นแหละ

บางโต๊ะมีริ้วรอยว่ามีการตักชิมบ้าง แต่ก็ไม่มากนักและบางโต๊ะไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการตักรับประทานแม้แต่ช้อนเดียว

แหล่งข่าวระดับสูงของผมแจ้งข่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ว่า ท่านเสียดายมากเพราะคาดหวังไว้สูงกับเมนูนี้…แต่ท่านก็ยังไม่ท้อจะหาทางต่อสู้พัฒนาและส่งเสริมต่อไป ซึ่งผมก็ให้กำลังใจท่านไปแล้ว ขอให้สู้สู้เต็มที่

อะไรบางอย่างที่เราลองแล้ว วิจัยแล้ว เมื่อนำไปเผยแพร่ไม่สำเร็จก็ต้องเปลี่ยนวิธี หรือไม่ก็เปลี่ยนหาตลาดใหม่…ปลาเค็มอาจกลิ่นแรงเกินไปสำหรับตะวันตก เราก็เปลี่ยนเป็นตลาดจีนหรือตลาดเอเชียอื่นๆ เสียอาจประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

เหมือน “ทุเรียน” นั่นแหละ ฝรั่งเหม็นไม่ยอมกินแต่ “คนจีน” รับประทานไม่เหลือและไม่กลัวร้อนในด้วย

สรุปว่าซอฟต์เพาเวอร์เรื่องอาหารนั้น ขอให้สู้ต่อไป แพ้บ้าง ชนะบ้าง ลองไปเรื่อยๆ ตลาดนี้ไม่รับก็ไปตลาดโน้นคงต้องเจอ “แจ็กพอต” จนได้แหละครับ หากไม่ละความพยายาม.

“ซูม”

ปลากุเลา, ขึ้นโต๊ะ, เอเปก, บทเรียน, ซอฟต์เพาเวอร์, อาหาร, ไทย, เมนู, ตากใบ, นราธิวาส, ส่งออก, วัฒนธรรม, ข่าว,​ ซูมซอกแซก