“เศรษฐา” พบ “เศรษฐี” ใช้ “คนรวย” ให้เป็นประโยชน์

ภาพคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รับช่อดอกไม้แสดงความยินดีจากนักธุรกิจระดับยักษ์ใหญ่ของประเทศหลายๆราย หน้าโต๊ะจัดเลี้ยงอาหารค่ำ เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม กลายเป็นภาพและข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับในวันต่อมา

รวมทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลายก็มีการ “แชร์” และส่งข้อความเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางในทำนองประชดประชันว่า นโยบายพรรคบอกจะไม่เอื้อกลุ่มทุน แต่นายกรัฐมนตรีกลับไปกินข้าวกับนายทุนตัวเป้งๆ ซะงั้น

จริงๆ แล้วผู้เผยแพร่ภาพนี้คนแรกก็คือ ท่านนายกฯ เศรษฐานั่นเอง ทวีตภาพลงทวิตเตอร์พร้อมเขียนข้อความว่า “มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ…มีประโยชน์มากครับกับการพัฒนาประเทศ ขอบคุณท่านวิชิต สุรพงษ์ชัย”

ท่านก็คงตั้งใจจะรายงานให้ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะแฟนคลับของท่านได้ทราบว่า ท่านไปทำอะไรมาบ้างในวันดังกล่าว

แต่เผอิญว่าสังคมไทยหรือประชาชนชาวไทยของเรานั้นมีหลายความคิดหลายมุมมอง และต่างก็มอง “ต่างมุม” กันอยู่เสมอๆ

โดยเฉพาะในเรื่อง “คนรวย” กับ “คนจน” จะมี 2 ความคิดที่คู่ขนานกันไป และยากจะมาบรรจบกันได้

คือความเชื่อใน “แนวคิด” ที่ว่าคนรวยมัก “เอาเปรียบ” คนจน เอาเปรียบสังคม สร้างความร่ำรวยให้แก่ตัวเองโดยไม่คำนึงถึงเพื่อนร่วมสังคมร่วมชาติ ในอดีตจึงมีความคิดที่รุนแรงกับคนรวยจนถึงขั้นมีคนไทยบางกลุ่มจะลุกขึ้นมาจะโค่นล้มระบบ “ทุนนิยม” ให้กลายเป็นสังคมนิยมเสียด้วยซ้ำ แต่ทำไม่สำเร็จ

ต่อมาแนวคิดของมนุษย์ก็เริ่มเปลี่ยนเมื่อพบว่าระบบสังคมนิยมสุดโต่งก็มิได้แก้ปัญหา…มิหนำซ้ำกลับพากันยากจนไปหมดทั้งประเทศ

หันกลับสู่ความคิดดั้งเดิมว่า “ทุนนิยม” เป็นระบบที่ดีที่สุด เพราะเป็นระบบที่ใช้ “ความโลภ” เป็นแรงจูงใจทำให้คนที่อยากรวยทั้งหลายหันมาขยันขันแข็งทำงานแข่งกันเพื่อไปสู่ความรวยนั้นๆ

รัฐบาลควรมีหน้าที่ส่งเสริมคนรวยให้ลงทุนมากขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตขึ้น เพื่อให้คนในประเทศอื่นๆ พลอยมีงานทำไปด้วย

เพียงแต่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำควบคู่กันไปก็คือ จัดเก็บภาษีให้ถูกต้องอย่าให้รั่วไหลยิ่งรวยยิ่งดี รัฐบาลจะได้เก็บภาษีมากๆ

ทุกวันนี้แนวความคิดทั้ง 2 ด้านนี้ก็ยังคงอยู่…ทั้งโลกแหละครับ รวมทั้งในประเทศไทยเราด้วยอย่างว่า

เมื่อนายกฯ เศรษฐาไปรับเลี้ยงเศรษฐีเข้าจึงเกิดประเด็นและการตั้งคำถามจากกลุ่มที่ไม่ไว้ใจนายทุน ซึ่งยังมีอยู่มากในบ้านเรา

เป็นผลให้นายกฯ เศรษฐาต้องชี้แจงยืดยาวในวันต่อมา

สำหรับผมค่อนข้างเอนไปทางเห็นด้วยกับกลุ่มหลัง คือเชื่อในระบบ “ทุนนิยม” เชื่อในการลงทุนใหญ่และเชื่อว่าความสำเร็จในการพัฒนาประเทศจะต้องมาจากนักลงทุนใหญ่

หลังจากผ่านประสบการณ์มาพอสมควร และครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสในการแก้ปัญหาความยากจนของคนไทยมายาวนาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเสียที และต่อมาเมื่อได้อ่านเอกสารต่างๆ มากขึ้นก็เริ่มคล้อยตามความคิดใหม่ (ซึ่งเก่าแล้ว) ว่าเราคงต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อให้เพิ่ม GDP หรือความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปโดยตลอดเสียก่อนแล้วค่อยหาทางกระจายออกไปสู่คนจน

สิ่งที่รัฐจะต้องทำให้ได้อย่างจริงจังก็คือ คนรวยต้องเก็บภาษีทุกเม็ดอย่างเต็มที่ ไม่ให้รั่วไหล แล้วนำเงินเหล่านั้นไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ของประเทศโดยรวมเป็นส่วนใหญ่และส่วนหนึ่งก็แบ่งมาจุนเจือคนจนในช่องทางต่างๆ ตามความเหมาะสม

ขณะเดียวกัน “สังคม” ก็จะต้องช่วยกดดัน “นายทุน” ควบคู่ไปด้วยว่า ท่านเสียภาษีถูกต้องก็ดีแล้ว แต่ยังไม่พอนะอยากให้ท่านช่วยเหลือคนจนมากขึ้นอีก…แบ่งเงินมาช่วยการกุศล มาทำ CSR ให้เยอะๆ อีกจะได้ไหม เพื่อให้คนจนเขารู้สึกว่าเขาไม่โดนทอดทิ้ง

ผมจึงมองภาพนายกฯ เศรษฐารับเลี้ยงจากบรรดา “เศรษฐี” ด้วยความรู้สึกที่ดีและขอเอาใจช่วยให้ธุรกิจของอภิมหาเศรษฐีที่มาคุยกับนายกฯ จงเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

ขอเพียงอย่างเดียว ท่านทั้งหลายต้องเสียภาษีให้ถูกต้องและควักเงินมาช่วยสังคมให้มากๆ ต่อไป ซึ่งหลายๆ ท่านก็ทำอยู่แล้ว แต่ถ้ารอด “พายุเศรษฐกิจ” งวดนี้ไปได้อยากให้ท่านทำเพิ่มขึ้นอีก สักเท่าตัว…ขอขอบคุณล่วงหน้าไว้ ณ วันนี้เลยครับ.

“ซูม”

เศรษฐา ทวีสิน, นายกรัฐมนตรี, เศรษฐี, นักธุรกิจ, ประชุม, ทุนนิยม, การเมือง, คนรวย, คนจน, ความเหลื่อมล้ำ, เศรษฐกิจ, ข่าว, ซูมซอกแซก