บทสรุป “สัมมนา” ไทยรัฐ เดินหน้าวิชา “ประวัติศาสตร์”

ผมกลับจากการไปร่วมประชุมสัมมนาประจำปีของคณะผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศที่สงขลาว่าด้วยการเตรียมตัวที่จะเน้นการเรียนการสอนวิชา “ประวัติศาสตร์” เรียบร้อยแล้วครับ

ขออนุญาตสรุปสาระสำคัญของการประชุมอันจะเป็นผลไปสู่การเตรียมตัวสอนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไทยรัฐวิทยาและโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศดังนี้ครับ

ที่ประชุมได้รับการยืนยันจากท่านรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งกรุณาไปเป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษสรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือ สพฐ.พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เพื่อให้เป็นที่สนใจของเด็กๆ ไทยมากยิ่งขึ้นนับแต่นี้เป็นต้นไป

ท่านรองเลขาธิการฯ ย้ำว่าที่แล้วมากระทรวงศึกษาธิการมิได้ตัดวิชาประวัติศาสตร์ออกไปจากหลักสูตรเพียงแต่นำไปรวมไว้ในหมวดสังคมศึกษา ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าไม่โดดเด่นและยังเข้าใจผิดว่าไม่สอนวิชานี้เลย

เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ โดยรัฐมนตรี ตรีนุช เทียนทอง ได้ออกประกาศให้เพิ่มวิชา พื้นฐานประวัติศาสตร์ ขึ้นอีก 1 รายวิชา พร้อมด้วยเพิ่มชั่วโมงการเรียนอย่างชัดเจน

ทาง สพฐ. จึงได้นำนโยบายมาปฏิบัติพร้อมกับจัดเตรียมกระบวนการเรียนการสอนเสียใหม่ให้เป็นที่น่าสนใจของเด็กนักเรียนมากยิ่งขึ้น

โดยจะเน้นหนักใน 3 กระบวนการ ได้แก่ 1.สอนแบบ Active learning เพื่อให้นักเรียนได้คิดได้ลงมือปฏิบัติควบคู่ไปด้วย 2.ไม่เน้นการท่องจำแต่ให้เน้นความเข้าใจผ่านรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้าช่วย และ 3.การบูรณาการแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ชุมชนร่วมกับเครือข่ายชุมชนต่างๆ ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ปราชญ์ชาวบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น

ท่านเชื่อมั่นว่าด้วยกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว จะทำให้เด็กๆ เรียน อย่างมีความสุข และหันมาสนใจในวิชาประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น

อันจะเป็นผลให้นักเรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพบุรุษทิ้งไว้เป็นมรดกทางปัญญาและถึงพร้อมที่จะรักษาสืบสานต่อยอดตลอดจนนำมาปรับปรุงประยุกต์ใช้ในปัจจุบันได้ในที่สุด

สำหรับการบรรยายของผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆนั้น ผมติดใจคำบรรยายของ ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ บุนนาค ราชบัณฑิตในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ” โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการสอนของประเทศสำคัญต่างๆ

เช่น เยอรมนี สอนประวัติศาสตร์เพื่อให้เยาวชนเกิดความรักชาติ, ฝรั่งเศส สอนเพื่อให้เยาวชนรู้ถึงภาระหน้าที่ของตน เมื่อเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองของชาติ, อังกฤษ สอนเพื่อให้เยาวชนบรรลุถึงความจริงและ สหรัฐฯ เพื่อเตรียมเยาวชนให้พร้อมที่จะเผชิญชีวิตในอนาคต

ผมฟังท่านอาจารย์ ดร.ปิยนาถบรรยายแล้วก็นึกถึงเหตุการณ์ 9/11 หรือเหตุการณ์วันที่ 11 เดือน 9 (กันยายน ค.ศ.2001 หรือ พ.ศ.2544) ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดทั้ง 2 ตึกของมหานครนิวยอร์กจนพังทลายดังที่ผมเขียนถึงไว้บ้างเมื่อวานนี้

ขอขยายความเพิ่มเติมว่า ผมอยู่ที่โน่นพอดี จึงได้สัมผัสกับบรรยากาศความรักชาติ ของคนอเมริกันอย่างใกล้ชิดและยังจำได้จนถึงวันนี้

3 วันเต็มๆ ที่ TV ทุกช่องงดรายการปกติมีแต่เพลงปลุกใจให้รักอเมริกา มีการเปิดเพลงอเมริกา เดอะ บิวติฟูล และอีกหลายๆเพลงที่แสดง ความรักชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนบ้านเราตอนช่วงมีการปฏิวัติรัฐประหาร

คนอเมริกันตั้งแต่ประธานาธิบดีจนถึงคนเดินถนนออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความเจ็บปวดที่ต้องสูญเสียตึกอันสวยงามและเสียชีวิตผู้คน เกือบ 3,000 คน และการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจอย่างประเมินค่ามิได้

ฟังคำบรรยายท่านอาจารย์แล้วผมก็ตีความว่า การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์อเมริกันที่ผ่านมาในอดีตได้ทำให้คนอเมริกันร่วมใจกันเป็นหนึ่งและแสดงออกถึงความรักชาติบ้านเมืองให้เห็นอย่างแจ้งชัด ในเหตุการณ์ “9/11” ปี 2001 นั่นเอง

หวังว่าคณะผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาจะนำไปถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์ลูกหากว่า 2 หมื่นคน ของท่านให้ตระหนักรู้ต่อไป จนสามารถเติบใหญ่เป็นพลเมืองไทยที่ทรงคุณค่าดังที่ สพฐ.ตั้งความหวังไว้

ผมขอจบมินิซีรีส์วิชาประวัติศาสตร์เพียงเท่านี้และขอเอาใจช่วยทั้ง สพฐ. และโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ตลอดจนโรงเรียนทุกๆโรงเรียนทั่วประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จในการรื้อฟื้นการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์นะครับ…สู้ๆ ครับคุณครู!

“ซูม”

อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติมได้ที่

บทสรุป "สัมมนา" ไทยรัฐ เดินหน้าวิชา "ประวัติศาสตร์", โรงเรียน, การศึกษา, ไทย,​ กระทรวงศึกษาธิการ, หลักสูตร, ข่าว, ซูมซอกแซก