เหตุใด “ไทย” แพ้ “เกาหลี” ? ทั้งที่ “พัฒนา” มาพร้อมกัน

ผมเรียนท่านผู้อ่านไว้บ้างแล้วในคอลัมน์วันเสาร์สบายๆ สไตล์เสาร์สารพันของผมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า วันจันทร์ที่ 7 สิงหาคมนี้จะมีงานมหกรรมที่สำคัญยิ่งยวดต่อความสำเร็จในการพัฒนาของประเทศไทยเราอยู่งานหนึ่ง จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์

ได้แก่ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” ซึ่งจะเริ่มวันที่ 7 ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม รวมทั้งสิ้น 5 วันทำงานพอดีเป๊ะ

จะมีการนำเสนอผลงานของภาคราชการ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย ถึงกว่า 1,000 ผลงาน รวมทั้งจะมีทั้งการจัดนิทรรศการการออกร้าน การนำเสนอผลงานผ่านการอภิปราย และการประชุมต่างๆ เต็มเอี๊ยด

จำได้ว่าผมจะเขียนแนะนำให้งานนี้ทุกครั้ง ไม่ว่าฝ่ายประชาสัมพันธ์จะส่งข่าวมาให้ผมหรือไม่ก็ตาม

เพราะผมเชื่อว่าความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าประเทศใด หรือชาติไหนในโลกนี้ขึ้นอยู่กับ “งานวิจัย” หรือที่ภาษาอังกฤษมักเรียกคู่กันว่า “R&D”-Research & Development นี่แหละครับ

จากสถิติที่มีการรวบรวมไว้มาหลายสิบปีแล้วว่า ประเทศที่กล้าและยอมลงทุนในการวิจัยอย่างเต็มที่ จะประสบความสำเร็จในการพัฒนา ทั้งในการเพิ่มรายได้ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชาติของเขามากว่าชาติขี้เหนียวในเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด

ยกตัวอย่าง 5 ประเทศที่ใช้งบประมาณในการวิจัยเป็นตัวเงินในปีที่ผ่านมาสูงสุด ได้แก่ 1.สหรัฐฯ ใช้ 660,000 ล้านเหรียญ 2.จีนใช้ 556,000 ล้านเหรียญ 3.ญี่ปุ่น 194,000 ล้านเหรียญ 4.เยอรมนี 148,000 ล้านเหรียญ และ 5.เกาหลีใต้ 105,000 ล้านเหรียญ เรียงตามลำดับ

ไม่ต้องบอกก็ทราบกันดีอยู่แล้ว การพัฒนาของประเทศทั้ง 5 นี้อยู่ในระดับใด

โดยปกติแล้วเวลาที่นักวิชาการเขาวิเคราะห์เรื่องนี้ เขาจะใช้มูลค่าการลงทุนเพื่องานวิจัยพัฒนาต่อจีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเป็นหลัก ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ประเทศที่ใช้เงินเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพีของตนสูงสุดใน 5 ประเทศนี้จะได้แก่ 1.เกาหลีใต้ (5%), 2.ญี่ปุ่น (3.4%) 3.เยอรมนี (3.3%) 4.จีน (3.1%) และ 5.สหรัฐฯ (2.6%)

ผมจึงขอคัดลอกตัวเลขจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ล่าสุด มาลงให้ดูในทั้ง 2 แบบ พร้อมกับชวนมองไปที่เกาหลีใต้เป็นพิเศษ

เกาหลีใต้เป็นศิษย์เก่าธนาคารโลก และทำแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 1 มาพร้อมกับไทย เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว

แต่ที่เขาไปไกลกว่าเป็นเพราะความขยันขันแข็งของประชากรที่ต้องดิ้นรนต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการแข่งขันกันโดยธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุดก็คือเขาลงทุนใช้งบประมาณสำหรับงบวิจัยเพื่อการพัฒนาค่อนข้างสูงในช่วงหลังๆ

อย่างปีล่าสุด งบประมาณวิจัยทั้งภาครัฐภาคเอกชนของเขาขึ้นเป็นอันดับ 5 ของโลกในแง่ตัวเงิน แต่กลายเป็นอันดับ 1 ของโลก เมื่อเทียบกับจีดีพี เพราะประเทศของเขาเล็กกว่าพวกยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย

จากสาเหตุข้างต้นนี่แหละครับ เกาหลีจึงทิ้งห่างไทยแลนด์เพื่อนร่วมรุ่นไปค่อนข้างไกลพอสมควร อย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้

สำหรับของไทยเรานั้นก็คงเป็นเพราะหลายๆ ปัจจัยหลายสาเหตุ โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่ทะเลาะกันไม่สิ้นสุด รวมไปถึงความขยันขันแข็ง ซึ่งต้องยอมรับว่าเราน้อยกว่าเขา เพราะเราไม่มีแรงกดดันอะไรมากนัก ทุกอย่างจึงชิลๆ แบบเรื่อยๆ ไปเรียบๆ

งานวิจัยของเราเตาะแตะมาตลอด แถมยุคก่อนงบทางฝ่ายราชการเอาไปวิจัยอะไรก็ไม่รู้…โดยเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ปรากฏว่าวิจัยไม่จบบ้างบอกเลิกบ้าง จบแต่เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้บ้าง ฯลฯ

ช่วงหลังๆ น่าจะดีขึ้นและทางภาคเอกชนให้ความสนใจมากขึ้น มีงานวิจัยที่ออกมาสู่การผลิตการค้านำไปใช้ประโยชน์มากขึ้น

ล่าสุดปีที่แล้วงบประมาณวิจัยของเราก็ขึ้นมาอยู่ที่ 13,400 ล้านเหรียญ หรือประมาณร้อยละ 1.3 ของจีดีพี

แม้เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้เพื่อนรัก เราคงไม่ติดฝุ่น แต่ได้ยินหลายคนบอกว่า ตัวเลขนี้ดีขึ้นมาเยอะ ใช้เงินสูงขึ้นและเรื่องวิจัยก็เป็นประโยชน์มากขึ้น รวมทั้งตั้งเป้าจะไปให้ถึง 2% ของจีดีพีในที่สุด

ผมจึงใคร่ขอเชิญชวนให้ลองไปเที่ยวงานนี้ เพื่อไปดูซิว่างานวิจัยของเราดีขึ้นแค่ไหน? อย่างไร? พอจะเป็นความหวังและที่พึ่งของประเทศได้หรือไม่อย่างไร?

ทุกวันนี้ประเทศไทยเราเหลือที่พึ่งน้อยลงทุกขณะ กำลังจะดีเสียหน่อยก็ทะเลาะกันวุ่นวายซะอีกแล้ว แม้จนวันนี้ก็ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ เห็นว่าพรุ่งนี้จะมีประชุมรัฐสภาเลือกนายกฯ อีกหน…จะได้หรือไม่ได้ยังไม่รู้เลย โยมเอ๊ย?

“ซูม”

อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติมได้ที่

เหตุใด “ไทย” แพ้ “เกาหลี” ? ทั้งที่ “พัฒนา” มาพร้อมกัน, งบประมาณ, การวิจัย, ธนาคารโลก, แผนพัฒนาประเทศ, ข่าว, จีดีพี, ซูมซอกแซก