ย้อนอดีต “วันอาสาฬหฯ” 1 ในวันสำคัญของชาวพุทธ

วันนี้ (อังคารที่ 1 สิงหาคม 2566) เป็นวันพระใหญ่ ขึ้น 15 คํ่า เดือน 8 (หลัง) เรียกอย่างเป็นทางการว่า “วันอาสาฬหบูชา” รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดแห่งชาติในฐานะวันสำคัญวันหนึ่งของพุทธศาสนามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2501 หรือเมื่อ 65 ปีที่แล้ว

คณะสังฆมนตรี ใน พ.ศ.ดังกล่าวได้มีมติเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีว่า วันอาสาฬหบูชา หรือการบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะอันเป็น เดือนที่ 4 ของปฏิทินอินเดียและตรงกับเดือน 8 ของปฏิทินจันทรคติของไทยเรานั้นได้บังเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญขึ้น ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช

สืบเนื่องจากการที่พระพุทธองค์ซึ่งทรงตรัสรู้ บรรลุแก่นธรรมสูงสุดตั้งแต่วันเพ็ญเดือน 6 ก่อนหน้านั้น 2 เดือน และได้ใช้เวลาทบทวนจนมั่นพระทัยแล้วก็ทรงนึกถึง ปัญจวัคคีย์ หรือโยคีทั้ง 5 ที่เคยบำเพ็ญทุกรกิริยามาด้วยกัน และยังพำนักอยู่ที่ป่าดังกล่าว

จึงเสด็จไปเทศนาโปรดด้วย ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และ 1 ในปัญจวัคคีย์ อันได้แก่ โกณฑัญญะ บังเกิดภาวะดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุองค์แรกของโลก

ด้วยเหตุนี้ ณ เวลานั้นของวันนี้เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราชถือเป็นวันที่พุทธศาสนามีครบทั้ง 3 องค์ประกอบที่เรียกว่า “พระรัตนตรัย” อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกเช่นกัน

เมื่อมองย้อนกลับไปสู่อดีตจะพบว่ามีการเรียกขาน วัน อาสาฬหบูชา เอาไว้หลายๆ แบบ เช่น บ้างก็เรียกว่า “วันพระธรรม” เพราะเป็นวันแสดงพระปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์…บ้างก็เรียกว่า “วันพระสงฆ์” เพราะมีพระสงฆ์องค์แรกบังเกิดขึ้น

และบ้างก็เรียกว่า “วันพระรัตนตรัย” เพราะเป็นวันแรกที่พุทธศาสนาของเรามีแก้วอันประเสริฐสุด 3 ประการครบถ้วนทั้ง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ในวันนี้

ที่สำคัญ ปราชญ์หลายๆ ท่านยังได้ยกให้วันนี้เป็นวันเริ่มต้นแห่งการ “ประกาศพุทธศาสนา” เป็นครั้งแรกแก่ชาวโลก จากการแสดงปฐมเทศนา โปรดปัญจวัคคีย์นั่นเอง

ซึ่งในที่สุดแล้วปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ก็บรรลุโสดาบันเป็นพระอรหันต์ทุกรูป และกลายเป็นกำลังหลักหรือทหารเอกของพระพุทธเจ้าในการช่วยกันเผยแพร่พระธรรมสู่ชาวโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ด้วยความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาที่กล่าวไว้ข้างต้น แม้จะมีมติและข้อเสนอแนะจากสังฆมนตรีให้เป็นวันหยุดแห่งชาติมาเพียง 65 ปีเท่านั้น แต่สาธุชนชาวไทยก็ให้ความเคารพศรัทธา และยึดถือเป็นวันสำคัญที่สุดอีกวันหนึ่งของแต่ละปี

นอกจากจะทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าแล้ว พุทธศาสนิกชนยังมีการบำเพ็ญกุศลอื่นๆ เช่น ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนาที่วัดต่างๆ มักจัดให้มีขึ้นในตอนบ่าย และเข้าร่วมในพิธีเวียนเทียนซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงคํ่าๆ

ไปตามต่างจังหวัดหรือในชนบทจะพบว่า พี่น้องชาวไทยของเราเคร่งครัดมาก โดยเฉพาะผู้แก่แม่เฒ่าทั้งหลาย เกือบจะเรียกได้ว่าอยู่กับวัดตลอดทั้งวัน นับตั้งแต่ใส่บาตรตอนเช้า ฟังเทศน์ตอนบ่าย และเวียนเทียนยามคํ่าคืน ครบถ้วนทุกประการ

แต่สำหรับพวกเราที่อยู่ใน กทม. หรือเมืองใหญ่ต่างๆ อาจไม่สามารถทำได้ครบทุกอย่าง ผมก็ฝากให้เลือกทำสัก 1 อย่าง หรือ 2 อย่าง เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,566+45 ปีก่อนโน้น

หรือหากไม่มีเวลาเลยจริงๆ เพราะติดภารกิจโน่นนี่ทั้งวัน ก็ขอให้ใช้เวลาสัก 2-3 นาที ช่วงไหนก็ได้ทำจิตใจให้สงบนิ่ง รำลึกถึง “พระรัตนตรัย” พร้อมสวดมนต์บทสั้นๆบทใดก็ได้เท่าที่นึกออกสัก 2-3 บท

พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐาน ปวารณาตนว่าจะมุ่งมั่นทำแต่ความดี อยู่ในศีลในธรรม มีสติปัญหา มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนร่วมประเทศ และร่วมโลกไปตลอดชีวิตนี้

สุขสันต์วันอาสาฬหบูชา 2566 แด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน…ขออำนาจ แห่งพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณจงดลบันดาลให้ท่านผู้อ่านอยู่เย็นเป็นสุข ประสบแต่สิ่งดีๆ และเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย อายุ วรรณะ สุขะ พละ โดยทั่วกันนะครับ.

“ซูม”

อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติมได้ที่

ย้อนอดีต “วันอาสาฬหฯ” 1 ในวันสำคัญของชาวพุทธ, วันอาสาฬหบูชา, พุทธศาสนา, พระรัตนตรัย”, พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, ข่าว, ซูมซอกแซก