ปลื้ม! “พาสาน” นครสวรรค์ “อันซีน” (ใหม่) ไทยแลนด์

ซอกแซกสัปดาห์ที่แล้ว ได้นำผลการโหวตของพี่น้องชาวไทยทั่วประเทศรวม 325,967 คน ผ่านเว็บไซต์ www.unseennewchapters.com ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

เลือกสถานที่ท่องเที่ยวรวม 25 แห่ง จาก 5 ภาค ทั่วประเทศไทยให้เป็น “อันซีน” ใหม่ที่ควรแก่การส่งเสริมชักชวนให้ไปเยี่ยมเยียนทั้งนักท่องเที่ยวต่างประเทศและนักท่องเที่ยวไทยของเราเอง

1 ในจำนวน 25 ได้แก่ พาสาน ณ อำเภอเมืองนครสวรรค์ แลนด์มาร์กต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยาที่ก่อสร้างเป็นอาคารทันสมัย ณ บริเวณ ปลายสามเหลี่ยม จุดบรรจบของแม่น้ำ 2 สาย ปิง(+วัง) และ น่าน(+ยม) กลายเป็น แม่น้ำเจ้าพระยา นั่นเอง

ในฐานะเลือดเนื้อเชื้อไขนครสวรรค์คนหนึ่งที่จะแวะไปที่จุดนี้แทบทุกครั้งที่กลับบ้านและเคยเขียนแนะนำผ่านคอลัมน์นี้หลายๆ ครั้งหัวหน้าทีมซอกแซกขอขอบคุณประชาชนที่ลงคะแนนเสียงจากทั่วประเทศที่กรุณาโหวตให้แก่ “พาสาน” จนติดอันดับ “อันซีน” ใหม่ ดังกล่าว

นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวนครสวรรค์ทุกๆคนที่ได้รับเกียรติครั้งนี้ และขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับท่านที่มีแผนการจะเดินทางขึ้นเหนือในวันข้างหน้า หรือที่ตั้งใจจะหยุดพักค้างที่นครสวรรค์ในวันใดวันหนึ่งที่จะมาถึงอย่าลืมแวะไปเยือน “อันซีน” แห่งใหม่นี้ด้วย

ไปได้ตลอดทั้งวันแหละครับ แต่จะประทับใจที่สุดหากไปตอนเย็นหรือใกล้ๆค่ำ ซึ่งท่านจะได้เห็นพระอาทิตย์ตกดินที่ “พาสาน” สวยงาม ประทับใจไม่แพ้หลายๆสถานที่ของประเทศไทย ที่กล่าวกันว่า พระอาทิตย์ตกดินสวยมากอย่างไรอย่างนั้น

เพื่อร่วมแสดงความปลาบปลื้มยินดีกับชาวนครสวรรค์ในวันนี้ทีมงานซอกแซกขอฉายภาพย้อนหลังถึงที่มาที่ไปของ “พาสาน” อย่างสั้นๆ อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อประมาณเกือบ 10-15 ปีที่ผ่านมาชาวนครสวรรค์กลุ่มหนึ่งโดยการสนับสนุนของเทศบาลนครนครสวรรค์ยุคนั้นได้มานั่งระดมสมองกันว่าจะพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้แก่นครสวรรค์ ณ บริเวณใดดี?

เพราะสถานที่ท่องเที่ยวดั้งเดิม เช่น “บึงบอระเพ็ด” หรือ “เขากบ” เริ่มจะลดเสน่ห์ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวลงบ้างแล้ว

งานประเพณี “แห่เจ้าพ่อเจ้าแม่” ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แม้จะยังคงอยู่และนับวันจะยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงขจรไปไกลทั้งทั่วประเทศไทยและระดับอาเซียนโน่นแล้ว แต่ก็มีเพียงปีละหนึ่งครั้งในช่วงเวลาไม่กี่วันของเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น

ควรจะมีสถานที่ถาวรที่ดึงดูดใจผู้คนให้มาเที่ยวนครสวรรค์ ตลอดทั้งปี ขึ้นอีกสักที่หนึ่ง (นอกเหนือจากบึงบอระเพ็ด) หรือไม่?

ในที่สุดที่ประชุมของชาวนครสวรรค์ก็มีมติว่า “ควรอย่างยิ่ง” และสถานที่เหมาะสมอย่างยิ่งก็คือบริเวณ “สามเหลี่ยม” ที่เป็นจุดกำเนิดของ แม่น้ำเจ้าพระยา สายเลือดหล่อเลี้ยงภาคกลาง และเมืองหลวงของประเทศไทยนั่นเอง

คนไทยแม้จะมิได้อยู่ภาคกลางหรือที่เมืองหลวงแต่ก็รู้จัก แม่น้ำเจ้าพระยา กันทั้งประเทศจากวิชาภูมิศาสตร์ที่เรียนมาตั้งแต่เด็กถ้าเราพัฒนาจุดกำเนิดของแม่น้ำอันยิ่งใหญ่สายนี้ให้น่าดู น่าชม น่าเที่ยว น่ามาเรียนรู้…มีหรือพี่น้องประชาชนจังหวัดอื่นๆ จะไม่มา?

จึงริเริ่มโครงการพัฒนา “เกาะยม” ซึ่งเป็นบริเวณ 3 เหลี่ยม ปากแม่น้ำขึ้นประกอบกับโชคดีที่ชาวบ้านหลายๆ รายในบริเวณนั้น พร้อมที่จะขายและบริจาคที่ให้และเหนืออื่นใดต้องขอบคุณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ย้อนหลังกลับไปอีกครั้งหนึ่งที่อนุมัติเงิน 117 ล้านบาทเศษ มาร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

เมื่อมีงบประมาณมาสนับสนุนทุกอย่างก็ง่ายขึ้น…และการออกแบบก่อสร้างรวมทั้งการก่อสร้างก็เริ่มขึ้นจนแล้วเสร็จเปิดตัวโครงการบางส่วนให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสเข้าชมครั้งแรกเมื่อปี 2561 เป็นต้นมา

กลายเป็นข่าวฮือฮาของวงการท่องเที่ยวใน พ.ศ.ดังกล่าว และได้รับการเขียนถึง, รายงานถึง, ลงข่าวถึง, กล่าวขวัญถึงรวมทั้ง “โพสต์” และ “แชร์” ถึงอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดียต่างๆ

รวมทั้งคำว่า “พาสาน” ก็กลายเป็นคำค้นหาที่คนไทยอยากรู้ความหมายว่าหมายถึงอะไร? และคิดคำนี้มาได้อย่างไร?

คำตอบอยู่ที่แผ่นป้ายแผ่นหนึ่งใกล้ๆอาคารพาสานนั่นเอง มีใจความโดยสรุปว่า “พาสาน มีที่มาจากคำว่า ผสาน คือการรวมกันแต่ พาสาน คือการพาคนเข้าไปสานให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างคนสถานที่และสภาพแวดล้อม”

สำหรับตัวอาคารที่มีรูปร่างแปลกตาและมีหลังคายาวที่โค้งไปโค้งมานั้น ก็เป็นสัญลักษณ์ของการมาบรรจบกันของแม่น้ำสำคัญ 4 สาย (ปิง วัง ยม น่าน) สามารถเดินทอดน่องได้ทั้งส่วนที่ออกแบบไว้เป็นทางเดินด้านบนหรือที่เป็นพื้นหญ้าและทางเดินด้านล่าง

โดยเฉพาะจุดปลายสุด ซึ่งอยู่บริเวณสาม เหลี่ยมพอดีนั้น จะสามารถมองเห็นแม่น้ำสองสาย (ปิง+วัง) และ (น่าน+ยม) คนละสีอยู่ทางซ้ายและขวาก่อนจะมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และกลายเป็นแม่น้ำสีเดียวกันเมื่อไหลล่องไประยะหนึ่ง

ณ จุดนั้นจะมองเห็นตัวเมืองปากน้ำโพ หรืออำเภอเมืองนครสวรรค์เมืองที่เคยเป็น “ชุมทาง” การค้าซุงค้าไม้ และการขนส่งสินค้าทางเรือสู่ภาคเหนือที่เคยได้ชื่อว่า “เมืองแมนแดนสวรรค์” ที่ สมยศ ทัศนพันธุ์ นักร้องดังในอดีตร้องบันทึกแผ่นเสียงไว้เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว

แม้บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาทุกวันนี้จะว่างเปล่านานๆ จะมีเรือแล่นผ่านไปผ่านมาสักลำหนึ่ง เพราะประเทศไทยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการขนส่งทางแม่น้ำอีกแล้ว แต่สำหรับหัวหน้าทีมซอกแซกแล้วทุกครั้งที่ไปยืน ณ จุดนี้ จะมองเห็นเรือใหญ่น้อย ทั้งเรือโยง เรือส่ง เรือข้าว เรือกลไฟ เรือเมล์ ฯลฯ นับร้อยๆลำ แล่นขวักไขว่เต็มแม่น้ำเจ้าพระยา

เป็นภาพที่คงไม่มีวันหวนกลับมาได้อีกแล้ว แต่ก็มีการถ่ายภาพเก็บไว้ให้เห็น หลายๆ ภาพภายในอาคารที่เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยเรื่องเล่าของชาวปากน้ำโพ

หวังว่านับแต่นี้ไป “พาสาน” ซึ่งทำหน้าที่ “พา” หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างมาผสมผสานกันดังได้กล่าวไว้แล้ว…จะทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง…

คือช่วย “พา” คนนครสวรรค์กลับไปเยี่ยมบ้าน และช่วย “พา” พี่น้องชาวไทยทั่วประเทศแวะไปเยี่ยมนครสวรรค์พร้อมกับนอนค้าง (สักคืนก็ยังดี)!

ขอฝาก “อันซีน (ใหม่) ไทยแลนด์”ล่าสุด 25 แห่ง รวมทั้ง “พาสาน” ไว้ในอ้อมใจของพี่น้องชาวไทยทุกท่านด้วยนะครับ.

“ซูม”

ปลื้ม! “พาสาน” นครสวรรค์ “อันซีน” (ใหม่) ไทยแลนด์, ท่องเที่ยว, ประเทศไทย, แม่น้ำเจ้าพระยา, ปากน้ำโพ, เทศกาลตรุษจีน, ข่าว, ซูมซอกแซก