ตามรอย “มวยไทย” 4 ภาค “อะเมซิ่ง” ล่าสุดจาก “ททท.”

ดังที่ทราบกันดีแล้วว่ารัฐบาลไทยโดยกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทยได้ประกาศใช้นโยบาย “Soft Power” เพื่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศจนประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

โดยเฉพาะ “นโยบาย 5 F” หรือซอฟต์เพาเวอร์ ด้านวัฒนธรรม อันได้แก่ Food (อาหาร), Fashion (การออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นไทย), Film (ภาพยนตร์และวิดีโอ), Festival (เทศกาลงานประเพณีต่างๆ) และ Fight หรือการต่อสู้ อันได้แก่ “มวยไทย” นั่นเอง

หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างจับมือกันดำเนินตามนโยบาย 5F มาเป็นระยะๆ แบบเดินหน้าเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อเราประกาศเปิดประเทศ หลังจากจัดการโควิด-19 อยู่หมัดแล้วก็ ปล่อยทีเด็ดออกทีละ F จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก

สำหรับ F ตัวที่ 5 อันได้แก่ Fight หรือ “มวยไทย” นั้นเป็นที่รู้จักของ “ชาวโลก” อย่างดียิ่งจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่า มวยไทยเป็น มวยของคนไทย โดยไม่จำเป็นต้องไปอ้างหรือไป “เคลม” แต่อย่างใด

นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมาเมืองไทยนับตั้งแต่เริ่มมีการตั้ง องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งไทย ในช่วงแผน พัฒนาฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) ล้วนเจาะจงที่จะมาดูมวยไทย ทั้งราชดำเนิน และลุมพินี นอกเหนือไปจากการเข้าชมพระบรมมหาราชวังมาตั้งแต่ยุคโน้น

ต่อมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็หันมาช่วย “โปรโมต” มวยไทยมากยิ่งขึ้นมีการจัดงาน “Amazing Muay Thai Festival” หรือเทศกาลไหว้ครู มวยไทย มาโดยตลอด ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหาวิชามวยไทยชาวต่างชาตินับหมื่นคนแห่กันมาร่วมพิธีไหว้ครูในบ้านเรา ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ยังครับ ยังไม่หมด… ททท.ยังคงเดินหน้าโปรโมต F ตัวที่ 5 ต่อ โดยจะจัดโครงการที่เรียกว่า “Amazing Muay Thai Experience” เชิญชวนคนรักกีฬามวยไทย ตามรอยไปดูตำนานมวยไทยที่ได้ชื่อว่าเป็น “ตำรับมวย” ของประเทศไทยใน 4 แห่งของ 4 ภาค ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

ได้แก่ “มวยไชยา” ของภาคใต้ “มวยโคราช” ของภาคอีสาน “มวยท่าเสา” ของภาคเหนือ และ “มวยลพบุรี” ของภาคกลาง อันเป็นที่รู้จักและร่ำลือในหมู่คนไทยมาตั้งแต่ยุคโบราณกาล

ทั้งนี้จะเริ่มจากตำนาน “มวยไชยา” ตำรับมวยโด่งดังของภาคใต้ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีนักมวยจากอำเภอไชยามาชกถวายหน้าพระที่นั่งหลายคน และที่โด่งดังจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ได้แก่ หมื่นมวยมีชื่อ (หรือนายปล่อง จำนงทอง) นั่นเอง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะจัด ชกมวยไชยา และจัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาตลอดจนการออกร้านจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับกีฬามวยทุกชนิด ณ บริเวณ สะพานนริศ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-2 ก.ค.นี้

ถัดไปจะเป็น “มวยโคราช” ซึ่งจะโยกไปจัดที่ห้าง เซ็นทรัลพลาซ่า อำเภอเมือง จังหวัดนคร ราชสีมา ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม

สำหรับประวัติของมวย โคราช นั้น ย้อนยุคไปถึงสมัยอยุธยา และต้นกรุงรัตนโกสินทร์เลยทีเดียว ในฐานะที่โคราชเป็นเมืองหน้าด่านต้องคอยป้องกันการบุกรุกของอริราชศัตรู บรรดา ทหารและชายฉกรรจ์จึงต้องฝึกปรือฝีมือเพลงมวยเอาไว้ และพัฒนาจนกลายเป็นตำรับโคราชโดยเฉพาะ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 นักชกโคราชที่โด่งดังชื่อ นาย แดง ไทยประเสริฐ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น ขุนหมื่นครูมวย เป็นที่กล่าวขานกันอย่างกว้างขวางในยุคนั้น

มารุ่นหลังๆ มวยโคราชที่โด่งดังมาก ได้แก่ สุข ปราสาทหินพิมาย เจ้าของฉายา “ยักษ์สุข” และ ประยุทธ์ อุดมศักดิ์ (ฉายาม้าสีหมอก) เป็นต้น

จังหวัดที่ 3 ที่จะร่วมจัดชกมวยในโครงการก็คือจังหวัด อุตรดิตถ์ เจ้าตำรับ “มวยท่าเสา” ที่เป็นมวยดังของภาคเหนือ โดยจะจัดงานขึ้นที่บริเวณ วัดใหญ่ท่าเสา ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ ในวันที่ 11-13 สิงหาคม

รูปแบบงานจะคล้ายคลึงกันแต่เน้นไปที่การนำเสนอและสาธิต “มวยท่าเสา” ที่เลื่องชื่อมาตั้งแต่ยุค พระยาพิชัยดาบหัก (ยุคปลายกรุงศรีอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์) โดยมี ครูเมฆ เป็นหัวหน้าคณะ มวยท่าเสา ซึ่งช่ำชองในการเตะถีบและการใช้ศอกที่แคล่วคล่อง จนถึงขนาดนายทองดี ซึ่งต่อมาได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง พระยาพิชัย ชื่นชมขอมาฝากตัวร่ำเรียนเป็นศิษย์สำนักนี้ด้วย

กล่าวกันว่า “มวยท่าเสา” ไม่ใช่มีไว้ป้องกันตัวอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายในการ “เผด็จศึก” อย่างรวดเร็วด้วย ถือเป็นมวยบุกที่มีท่าไม้ตายหลายๆท่า และได้มีการถ่ายทอดกันสืบมาจนถึงยุคปัจจุบัน

จังหวัดสุดท้ายได้แก่ ลพบุรี นั่นเอง ในฐานะเจ้าตำรับมวยลพบุรี ซึ่งน่าจะเป็นตำรับเก่าแก่ที่สุด มีค่ายมวยในเมืองลพบุรีตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยโน่นแล้ว ตามตำนานจึงกล่าวว่า ศิษย์รุ่นแรกๆได้แก่ พ่อขุนรามคำแหง ที่เคยมาร่ำเรียนก่อนจะเสด็จกลับไปครองเมืองสุโขทัย

มาถึงยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทรงโปรดการแข่งขันชกมวย ก็ปรากฏว่านักมวยของอำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ชื่อ นาย กวี โตสะอาด ชกต่อยได้เก่งมาก จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นมือแม่นหมัด เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางอีกท่านหนึ่ง

งานที่ลพบุรีจะจัดขึ้นในวันที่ 18-20 สิงหาคม ณ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ เลยทีเดียว

อย่าลืมไปเที่ยวงานกันด้วยนะครับจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง หรือจะเที่ยวครบทุกจังหวัดเลยก็ได้… พวกเราคนไทยต้องไปดูเองไปเที่ยวกันเองก่อนครับ เปรียบเสมือน “หน้าม้า” ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติแห่ตามไปดูภายหลัง

หัวหน้าทีมซอกแซกที่สนใจมวยไทยมาตั้งแต่เด็ก เคยเข้าค่ายหัดมวยมาวันนี้เหมือนกัน อ่านถ้อยแถลงการจัดงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตามโครงการนี้แล้วก็ตื่นเต้น มาก รีบนำมาเขียนให้ทันที พร้อมกับส่งใจไปช่วยเต็มที่ขอให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศแน่นตลอด 4 งาน 4 ภาคนะครับ.

“ซูม”

ตามรอย "มวยไทย" 4 ภาค "อะเมซิ่ง" ล่าสุดจาก "ททท.", ซอฟต์เพาเวอร์, Soft Power, ททท, เศรษฐกิจ, ไทย, มวยไทย, มวยไชยา, ซูมซอกแซก