บทสรุป “ซีรีส์” เตรียมฯพัฒน์ ตำนาน “พระเกี้ยว” 21 แฉก

ผมว่าจะจบเรื่องราวของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการไปตั้งแต่เมื่อวันวาน โดยนำรายชื่อของโรงเรียนมัธยมอื่นๆ ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดที่เข้ามาเป็นเครือข่ายของ “เตรียมฯพัฒน์” รวมแล้วถึง 18 โรงเรียน รวมทั้งโรงเรียนดั้งเดิมเป็น 19 โรง ในขณะนี้

เพื่อชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจของผู้บริหาร โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ยุคก่อน ในการที่จะแบ่งปันหรือกระจายความรู้ความสามารถในการเรียนการสอน “อันเป็นเลิศ” ในแบบฉบับของ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ไปยังโรงเรียนที่ยังอ่อนในเชิงวิชาการให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น

แต่พอไปคลิกกูเกิลเข้าดู “วิกิพิเดีย” ว่าด้วยเรื่องของ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ” ผมก็จบไม่ลง เพราะอ่านหัวข้อประวัติของโรงเรียนที่บันทึกไว้ในวิกิแล้วก็เกิดความประทับใจ จนต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านคัดลอกมาเผยแพร่ต่ออีก 1 ตอนในวันนี้…

“โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการได้รับการประกาศจัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 มีชื่อเดิมว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 2” (ตัวย่อ ต.อ.2) เพื่อให้เป็นสาขาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท)

ทั้งนี้เมื่อ คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมฯ ในขณะนั้นได้ขอที่ดินจากท่านเจ้าสัว “นายอื้อ จือเหลียง” ซึ่งต่อมา นายยอดยิ่ง เอื้อวัฒนสกุล ผู้เป็นบุตรชายได้เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 38 ไร่ ให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเพื่อสร้างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 2 ดังกล่าว

เมื่อ คุณหญิงบุญเลื่อน ไปดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสามัญศึกษาและ คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแทนนั้น ท่านได้ดำเนินการจัดตั้งสาขาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาขึ้น รวมทั้งได้วางแผนและขออนุมัติก่อสร้างอาคารต่างๆ

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เริ่มรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 12 ห้องเรียน ในปีการศึกษา 2521 โดยอาศัยเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) ปีต่อมาจึงได้ย้ายมาเรียนในสถานที่ปัจจุบันในวันที่ 9 พฤศจิกายน

ต่อมากรมสามัญศึกษาได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา 2” เป็น “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ” และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ “ตราพระเกี้ยว” เป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเรียน เช่นเดียวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาดั้งเดิม

ขณะเดียวกันก็มีปรัชญาของโรงเรียน คือ “ความเป็นเลิศทางวิชาการและคุณธรรม” และคติพจน์ประจำโรงเรียน คือ “สจฺจญจ ปญญาจ นรานํ วุฑฒิ” (อ่านว่า สัด-จัน-จะ-ปันยา-จะ-นะ-รานัง-วุดทิ) หมายความว่า “ซื่อสัตย์และปัญญาพาให้เจริญ”

ทั้งนี้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการได้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนในเครือ โดยเพิ่มชื่ออำเภอหรือจังหวัดต่อท้ายชื่อ เป็นจำนวนหลายโรงเรียน ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนหรือเปลี่ยนชื่อโรงอื่นที่ไม่ได้อยู่ในเครือเพื่อเป็นสาขาให้ครบตามเป้าหมาย จำนวน 21 โรง

เนื่องจากโรงเรียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 และ พ.ศ.2521 ซึ่งตรงกับจำนวนรัศมีบนสัญลักษณ์องค์พระเกี้ยวของโรงเรียน ซึ่งมี 21 แฉก

ล่าสุดนี้โรงเรียนเครือเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการทั้งหมดทั้งสิ้น 18 โรง และโรงล่าสุดคือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการพัทลุง

ต้องขอขอบคุณ วิกิพิเดีย ที่บันทึกเรื่องราวและที่มาของ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เอาไว้อย่างละเอียด ทำให้เรารู้ว่าผู้ใหญ่ในอดีตท่านใดบ้างที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งโรงเรียนนี้

เช่น คุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู “แม่ครู” ที่พวกเราชาวเตรียมอุดมรุ่นเก๋ายังจดจำและสำนึกในความเมตตาของท่านอยู่เสมอ

ที่ผมชอบใจมากก็คือ “รัศมี” รอบๆ องค์พระเกี้ยวของ เตรียมฯ พัฒน์ รวม 21 แฉก ซึ่งถือเคล็ดมาจากการก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ และปี พ.ศ.2521 นั่นแหละครับ

ไม่เพียงแต่จะใช้รัศมี “21 แฉก” เท่านั้นยังตั้งใจจะสร้างเครือข่ายด้านพัฒนาวิชาความรู้ให้ครบ 21 แห่งอีกด้วย ซึ่งถ้าอ่านจากที่ผมลอกมาวันนี้ก็คือ 18 สาขาอีกไม่นานก็คงครบตามเป้า

ด้วยผลของความดีงามต่างๆ ที่โรงเรียนนี้ได้ดำเนินมาตลอดกว่า 45 ปี หลังก่อตั้งโดยเฉพาะการไปช่วย “พัฒนา” โรงเรียนเครือข่ายต่างจังหวัดนั้นในทัศนะของผมถือเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง

ขอให้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ จงเจริญรุ่งเรืองสืบไป และหวังว่าใครก็ตามที่คิด “อกุศล” ต่อโรงเรียนนี้ทั้งโดยตรง และโดยอ้อมจะแพ้ภัยตัวเองในที่สุด.

“ซูม”

บทสรุป “ซีรีส์” เตรียมฯพัฒน์ ตำนาน “พระเกี้ยว” 21 แฉก, โรงเรียน, เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ, สาขา, ซูมซอกแซก, การศึกษา